หากกล่าวถึง “อังกฤษ” ประเทศที่ถูกยกย่องให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับท็อปเทน หรือ 1 ใน 10 รวมถึงถูดจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือจี 7 ของโลกเรา

แต่ทว่า ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่า “อังกฤษ” เจ้าของฉายาว่า “ผู้ดี” แห่งนี้ กลับติดอันดับอยู่ท้ายตารางของกลุ่มประเทศที่มีความสุข หรือแฮปปี (Happy) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นประเทศที่มีความทุกข์ยาก น่าเวทนา (Miserable) ในระดับต้นๆ ของโลกอย่างเหลือเชื่อ

โดยอันดับที่ว่า ก็เป็นการสำรวจโดย “เซเปียน แล็บส์” องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐฯ ที่ดำเนินการสำรวจติดตามสุขภาพจิตของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี

สำหรับ การสำรวจติดตามสุขภาพจิตของผู้คนในปีล่าสุด คือ 2023 (พ.ศ. 2566) นั้น ก็ได้ดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ 71 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 419,175 คน

ผลการสำรวจปรากฏว่า “สาธารณรัฐโดมินิกัน” ในรอบปี 2023 ที่เพิ่งผ่านพ้นมานั้น ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่พลเมืองมีความสุข หรือมีสุขภาพจิตดีที่สุด ด้วยคะแนนที่ได้มากถึง 91 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน จากการที่ “เซเปียน แล็บส์” สำรวจติดตามพลเมืองชาวสาธารณรัฐโดมินิกันในมิติต่างๆ ได้แก่ อารมณ์ ทัศนคติ มุมมอง แรงจูงใจ แรงผลักดัน ความรู้ ความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คน การจัดความสมดุลย์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ และการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ

 

ตามมาติดๆ คือ ประเทศศรีลังกา ที่คว้าอันดับ 2 ได้อย่างไม่น่าเชื่อไปครอง ทั้งๆ ที่ประเทศก็ประสบปัญหาสารพัดทั้งทางด้านวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง แต่ดูเหมือนประชาชนจะทำใจได้กับปัญหาที่พวกเขาเผชิญ จนสามารถทำคะแนนได้ถึง 89 คะแนน ห่างจากสาธารณรัฐโดมินิกัน อันดับ 1 เพียง 2 คะแนนเท่านั้น

ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ “แทนซาเนีย” ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ด้วยความมีเสถียรภาพทางการเมือง และศักยภาพทางเศรษฐกิจที่โตวันโตคืน กอปรกับมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งแร่ธาตุ อัญมณี และก๊าซธรรมชาติ ก็ทำให้ประเทศแห่งนี้ ได้คะแนนมีความสุข และสุขภาพจิตดีไปได้มากถึง 88 คะแนน ตามหลังศรีลังกามาอย่างเฉียดฉิว

อันดับ 4 ตกเป็นของ “ปานามา” ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง ได้คะแนนความสุข และสุขภาพจิตดีไปถึง 85 คะแนน โดยประเทศที่ได้คะแนนเท่ากันกับ “ปานามา” จากการสำรวจในครั้งนี้ ได้แก่ “มาเลเซีย” ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งเดียวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของกลุ่มประเทศที่ประชากรมีความสุข และมีสุขภาพจิตดี ทิ้งห่างหลายประเทศเพื่อนบ้านไปพอสมควร แม้กระทั่ง “สิงคโปร์” ที่มักจะติดอันดับต้นๆ ในการจัดลำดับตำแหน่งต่างๆ ที่ในครั้งนี้หลุดแม้กระทั่ง 20 อันดับแรกไป

ขณะที่ “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ได้ชื่อมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ปรากฏว่า จากการสำรวจในเรื่องความสุข และความมีสุขภาพจิตดีนั้น อยู่ในอันดับที่ 29 โดยได้คะแนนไป 72 คะแนน ซึ่งทั้งคะแนนและอันดับที่ได้ก็ต่ำกว่า “เอกวาดอร์” ประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแก๊งอาชญากรรม แก๊งอันธพาลครองเมือง จนระส่ำระสายไปทั่วทั้งประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ โดยประเทศเอกวาดอร์ อยู่ในอันดับที่ 25 พร้อมกับคะแนนที่ได้ไป 74 คะแนน

เมื่อกล่าวถึงสหรัฐฯ แล้วก็อดพูดถึงประเทศคู่หูของสหรัฐฯ ไม่ได้ นั่นคือ “อังกฤษ” หนึ่งในประเทศมหาอำนาจพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ปรากฏว่า ได้คะแนนความสุข และสุขภาพจิตดีไปเพียง 49 เท่านั้น พร้อมกับได้อันดับเกือบท้ายสุด คือ อันดับที่ 70 ยืนอยู่เหนือเพียงประเทศอุซเบกิสถานเท่านั้น ที่ได้อันดับสุดท้าย คือ อันดับที่ 71 จากการสำรวจของ “เซเปียน แล็บส์” ในปีล่าสุดนี้

โดย “เซเปียน แล็บส์” ระบุด้วยว่า ทั้งคะแนนและอันดับที่อังกฤษในครั้งนี้ ต่ำกว่าหลายประเทศที่ใครๆ ก็คิดว่า ประชาชนพลเมืองน่าจะทุกข์ใจมากกว่า เช่น “ยูเครน” ประเทศที่ยังคงประสบกับวิกฤติสงครามการสู้รบกับรัสเซีย และ “เยเมน” ประเทศที่ยังคงผจญกับกลุ่มกบฎครองเมืองกันเสียอีก

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศยูเครนนั้น จากการสำรวจของ “เซเปียน แล็บส์” พบว่า ได้คะแนนความสุข สุขภาพจิตดี 60 คะแนน รั้งอันดับที่ 58

ส่วน “เยเมน” ประเทศที่ถูกกลุ่มกบฎฮูตีเขย่าเมือง อยู่ในอันดับที่ 62 ด้วยจำนวนคะแนนที่ได้ 59 คะแนน

ในการสำรวจ “เซเปียน แล็บส์” ได้สอบถามความคิดเห็นของชาวอังกฤษกลุ่มตัวอย่างแล้วปรากฏว่า ร้อยละ 35 ตอบว่า พวกเขาทั้งมีความกดดัน และพยายามต่อสู้ดิ้นรน กับปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ

โดยปัญหาต่างๆ ที่มาสุมกลุ้มรุมชาวอังกฤษนั้น ก็เริ่มหนักหนาสาหัสตั้งแต่การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 แล้ว จนส่งผลกระทบต่อทางการเมืองและเศรษฐกิจของอังกฤษ

ปัญหาในทางการเมืองนั้น ก็ทำให้อังกฤษ ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ คือ นายกรัฐมนตรี ถึง 3 คน ในช่วงไม่กี่เพลา ตั้งแต่นายบอริส จอห์นสัน มาเป็นนางลิซ ทรัสส์ และนายริชี สุนัก นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจ ชาวอังกฤษ ก็ผจญกับภาวะเงินเฟ้อ สินค้าต่างๆ ราคาแพง จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา ซึ่งสถานการณ์ของปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็ดำเนินต่อเนื่องมาถึง ณ ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการตกงาน ที่ในอังกฤษมีอัตราการว่างงานของประชากรค่อนข้างสูง 

คนตกงานเข้าแถวที่บริเวณด้านหน้าศูนย์จัดหางานแห่งหนึ่งในอังกฤษ เพื่อหางานทำ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ประชาชนพลเมืองชาวอังกฤษ ต้องหน้าดำคร่ำเครียดด้วยความกดดันยิ่งจากปัญหาข้างต้นที่รุมเร้ามาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด – 19 จนถึง ณ ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีสัญญาณว่า จะฟื้นคืนไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่ประการใด

ะชาชน (Photo :  นายริชี สุนัก นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน กับความพยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตให้กับประชาชน (Photo : AFP)

ถูกรุมเร้ากดดันอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อความสุข และสุขภาพจิต ของชาวอังกฤษ มาอย่างต่อเนื่อง โดยชาวเมืองผู้ดีหลายรายต้องกลายเป็นผู้ป่วยทางจิต ซึ่งมีรายงานจากทางการแพทย์ ระบุว่า ผู้ป่วยทางจิตชาวอังกฤษที่กำลังรอคอยการบำบัดรักษามีจำนวนมากถึง 1.8 ล้านคนเลยทีเดียว