“หมอพรหมมินทร์” ย้ำไทยเป็นกลางสร้างสันติภาพ ระหว่างชายแดนเมียนมา ยืนหยัดช่วยตามหลักมนุษยธรรม เผยความมั่นคงฯ เข้มป้องกันกำลังอาวุธรุกล้ำชายแดน / พรุ่งนี้ (23 เม.ย.) “ปานปรีย์ - อนุทิน“ บินแม่สอดติดตามสถานการณ์

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 นพ. พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การสู้รบเมียนมาว่า ในฐานะของรัฐบาลเรามีจุดยืนชัดเจน ไม่ให้การปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และทหารเมียนมา ปะทะกันรุกล้ำเข้ามาในประเทศไทย /ขณะที่รัฐบาลให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามหลักของสหประชาชาติ / และ สถานการณ์นี้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ตอนแรกนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเอง ล่าสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงต่างประเทศ มอบหมาย ให้นายปานปรีย์ เดินทางไปแทน ในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.)

นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า ได้พูดคุยกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเดินทางลงไปช่วยด้วย ซึ่งการช่วยเหลือระหว่าง ชายแดน ล่าสุดมีผู้หนีภัยเข้ามากว่า 3 พันคน และออกไปกว่า 1 พันคน ดังนั้น การบริหารในส่วนชายแดนหน่วยราชการก็ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกัน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงไปบริหารและสนับสนุนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากภัยสงคราม ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และการมีรายละเอียดหลายประการต้องดูแล โดยเฉพาะเรื่องการต่างประเทศและความมั่นคงของประชาชน

ส่วนผู้หนีภัยเข้ามาไทยนั้น มีการดูแลในส่วนของประชาชนเป็นหลัก เขาจึงเข้ามาหลบภัย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เขาก็ออกไป ดังนั้น จำนวนผู้หนีภัยจึงเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน และเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ย้ำก่อนหน้านี้ว่า ไม่ให้มีการรุกล้ำ มายังเขตแดนไทย ทางการทหารจึงให้ความเข้มงวดเรื่องนี้ ยืนยันไม่มีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาประเทศไทย

นพ. พรหมมินทร์ ยังกล่าวอีกว่า การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น มี UNHCR อยู่ด้วย รวมถึงองค์กรต่างประเทศอยากสนับสนุน และเรามีการเตรียมพร้อมและพูดคุยกันก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย มีการให้การดูแล โดยหลักมี standard oporation อยู่แล้ว ที่จะมีมาตรฐานในการเตรียมการปฏิบัติ ล่าสุด จะมีการปรับแผนให้รัดกุมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่าจะมีโอกาสที่นายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวกลางในการเจรจาแต่ละฝ่าย หรือไม่ นพ.พรหมมินทร์ ระบุว่า จุดยืนสำคัญของเรา คือ เป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้ทุกวิถีทางมีความยุติความขัดแย้ง ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในทางสากล เพราะเรามีชายแดนติดต่อกันกว่า 2 พันกิโลเมตร ในเวทีต่างประเทศก็คาดหวังประเทศไทย และเราเองน่าจะมีบทบาทตรงนี้ได้ เพื่อให้ความขัดแย้งคลี่คลายอย่างสันติวิธี

ส่วนสัญญาณจากทหารเมียนมา และกองกำลังชาติพันธ์ุต่างๆ นั้น นพ. พรหมมินทร์ ระบุว่า ทางการทูต เรายังดำเนินการตามปกติ แต่ยังไม่มีข้อเรียกร้องโดยตรงในเรื่องนี้ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศ จะดูแลเรื่องนี้

เมื่อถามว่าผู้หนีภัยมีหลายชาติพันธุ์เกิดความขัดแย้งกันหรือไม่ นพ.พรหมมินทร์ ระบุว่า เราอยู่ในสถานะนี้มานานแล้ว และการเคลื่อนย้ายออกของชาวเมียนมา เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศ ย้ำเราไม่มีอะไรยุ่งเกี่ยว

ทั้งนี้ นพ. พรหมมินทร์ ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจการค้าชายแดน ด้วยว่า เมื่อมีการปะทะกันด่านชายแดนก็ต้องปิด ทำให้มีเจ้าของกิจการบางส่วนค้างอีกฝั่ง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์พยายามจะคลี่คลาย และยังมีการติดต่อมาจากหอการค้า เราให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลอย่างใกล้ชิด และทำให้สถานการณ์คลี่คลาย