“สีคิ้วโมเดล”กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (3) “...การพัฒนาบ้านเมืองหรือพัฒนางานทุกอย่างให้เจริญยิ่งขึ้นไปนั้นไม่ควรมีลักษณะเป็นการก้าวหน้าจนลืมหลัง หากจำเป็นต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วค่อยๆสร้างเสริมให้ก้าวหน้ามั่นคงขึ้นเป็นลำดับสำหรับเป็นรากฐานที่สามารถจะรองรับความเจริญและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดตามมาจากผลของการพัฒนา มิใช่มุ่งแต่จะพัฒนาให้รุดหน้า ด้วยการทุ่มเทกำลังทรัพย์ กำลังคน ตลอดจนอุปกรณ์ทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลเร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งจะทำให้รากฐานทานไม่อยู่ การพัฒนาซึ่งอุตส่าห์ลงทุนลงแรงไปมากมายก็จะล้มเหลวลงอย่างน่าเสียดาย ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆต่อตามมา ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน....” พระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 12 สิงหาคม 2540 ก่อนไปฟังความเห็นความรู้สึกของผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมานางจิตโสมนัส ชัยวงษ์ เห็นชื่อน่าสนใจที่ไม่ค่อยได้ผ่านหูผ่านตามาก่อนคือ “นครชัยบุรินทร์”ใครที่พอเชี่ยวชาญทางภาษาไทยภาษาบาลีสันสกฤติคงจะพอแยกศัพท์หาความหมายได้ แต่ส่วนที่จะรู้ที่มาที่ไปของชื่อเข้าจริงๆน่าจะต้องเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์หรือไม่ สำหรับผู้เขี่ยนยอมรับตรงๆว่าไม่รู้ที่มาที่ไปเอาจริงๆ เพิ่งมาสะดุดเอาคราวนี้ที่มาเจอในเอกสารที่ทางวิทยาลัยสรุปเอาไว้นี่แหละ เห็นว่าเป็นชื่อบอกเล่าถึงเอกลักษณ์ด้านใดด้านหนึ่งที่น่าจะโดดเด่นคล้ายคลึงกันของ 4 จังหวัดคือนครโคราช จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชัยภูมิแล้วก็จังหวัดสุรินทร์ที่น่าจะมีวัฒนธรรมประเพณีอัตลักษณ์คล้ายคลึงกัน ที่ลองเช็คข้อมูลเบื้องต้นความโดดเด่นที่ละม้ายคล้ายกันเห็นจะเป็นเรื่องผ้าไหม ท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจะเผื่อแผ่ความรู้มาบ้างก็จะขอบคุณอย่างที่สุด ย้ำกันอีกทีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ให้นโยบายผู้บริหารสถานศึกษาเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานว่า ให้ทบทวนเรื่องการจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพเกษตรโดยยึดนโยบายรัฐบาลคือน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาอันได้แก่หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในการพัฒนาครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษาหล่อหลอมปลูกฝังให้เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกันทั่วประเทศ เพื่อสถานศึกษาอาชีวะเกษตรฯมีมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยที่แตกต่างนั้นขึ้นอยู่กับภูมิสังคมที่จะน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาไปปรับประยุกต์ใช้ เดินตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ 20 ปี ผอ.จิตโสมนัสกล่าวว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ลงพื้นที่คราวนี้นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ท่านย้ำเรื่องการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนให้รู้และชำนาญการ คือรู้วิชาการแล้วก็ชำนาญภาคปฏิบัติทั้งด้านสืบสานภูมิปัญญาไทยและนำเทคโนโลยีที่ได้ศึกษาเรียนรู้เข้ามาพัฒนาต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนเป็นเบื้องต้น เพื่อพัฒนานักเรียนนักศึกษาเป็นเกษตรกรยุคใหม่คือนิวสมาร์ทฟาร์มเมอร์รองรับไทยแลนด์4.0 “ที่สำคัญคือวิทยาลัยเกษตรฯนครราชสีมาที่ได้รับมอบหมายให้สร้างต้นแบบเป็นสีคิ้วโมเดลในด้านการจัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรมน้อมนำเอาหลักเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นความตั้งใจแต่เดิมที่มาเป็นผู้บริหารที่นี่ เพราะด้วยสำนึกว่าจะน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงฯมาปลูกฝังเน้นย้ำเยาวชนที่มาเรียนวิทยาลัยแห่งนี้แล้วขยายผลไปยังชุมชนรอบๆวิทยาลัยและในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นการสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่9ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขแบบพออยู่พอกิน ทำได้ อยู่ได้ ขายได้ และตัวเยาวชนลูกหลานเกษตรกรเองเมื่อเข้ามาเรียนในสถานศึกษาสายเกษตรแล้วก็ต้องพึ่งพาตนเองได้ด้วยเช่นกัน เป็นที่พึ่งของผู้ปกครอง ของชาวบ้านได้ด้วยเช่นกัน ต้องมีพัฒนาการในการพัฒนาด้านการเกษตรต่อยอดภูมิปัญญา มุ่งมั่นผลิตพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อประโยชน์ผู้บริโภค มีความรู้ด้านการทำการตตลาด ได้ เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่ปราณีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยน้อมนำองค์กระบวนการความรู้ตามหลักศาสตร์พระราชามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตประกอบอาชีพ”นางจิตโสมนัส ชัยวงษ์ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมากล่าว ผู้อำนวยการบอกถึงรายละเอียดที่จะเป็นต้นแบบโดยได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินโครงการสีคิ้วโมเดลเน้นให้แต่ละแผนกวิชาสร้างจุดเด่นจากที่ได้ศึกษาเรียนรู้เกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญและนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดคุณค่า มูลค่าเช่นโครงการไข่ไก่อารมณ์ดีของแผนกวิชาสัตวศาสตร์ นักศึกษาจะต้องถูกฝึกฝนเรียนรู้ธรรมชาติของไก่ เรียนรู้สภาพแวดล้อมทั้งการสร้างโรงเรือน อาหารที่หาได้ในท้องถิ่นและมีคุณค่าที่จะทำให้ไก่มีความสุขภาพดีอารมณ์ดี มีความสมบูรณ์ และตัวนักศึกษาหรือผู้เลี้ยงก็จะต้องมีเมตตา อารมณ์ดีมีความสุขต่อการดำเนินชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ จะทำให้ไก่ให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ สม่ำเสมอ “การทำนาที่มีการแบ่งพื้นที่ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ฯก็ยึดเดินตามภูมิปัญญาโดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการซึ่งหัวใจสำคัญคือแหล่งน้ำ เพื่อนำสู่เป้าหมายคือผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดสารพิษเพื่อให้เพียงพอต่อการไว้บริโภคตลอดทั้งปีเมื่อเหลือแล้วจึงค่อยขายและได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสร้างผลผลิตที่ได้ประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยแผนกช่างกลเกษตรร่วมมือการจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีกับบริษัทสยามคูโบต้า เพื่อพัฒนากำลังคนเป็นรากฐานสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชาติในฐานะแรงงานคุณภาพทั้งด้านความชำนาญทางวิชาชีพและเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตของสังคมด้วยโครงการ My Smart Futureทางวิทยาลัยแบ่งพื้นที่ทำเกษตรด้านอื่นนอกเหนือจากทำนาคือการปลูกดาวเรืองเหลืองราชนย์ เป้าหมายแรกคือเพื่อเตรียมไว้สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 อนาคตก็เพื่อนำความรู้ความชำนาญไปประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยแผนกวิชาพืชศาสตร์”นางจิตโสมนัสกล่าว อ่านต่อ... ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : “สีคิ้วโมเดล”กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (จบ) ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : “สีคิ้วโมเดล”กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (2) ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : “สีคิ้วโมเดล” กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (1)