“สีคิ้วโมเดล” กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (1) ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ชวนไปเยือนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ไปดูกระบวนการจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพเกษตรกรรมแก่เยาวชนโดยน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือความสุขอย่างยั่งยืนบนความพออยู่พอกินช่วงวันที่ 21-22 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ นำขบวนไปเยือนวิทยาลัยเกษตรฯแห่งนี้ ไปถึงพื้นที่แล้วจึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมาแห่งนี้ได้รับความไว้วางใจจากสอศ.ให้ดำเนินโครงการ “สีคิ้วโมเดล”เพราะตั้งอยู่ในอำเภอสีคิ้ว ด้วยว่ากันว่ามีพื้นฐานทำเลโครงสร้างทั้งกายภาพและศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างต้นแบบแห่งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานหลักการอันเป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่า ศาสตร์พระราชา คือการพัฒนานำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้เรียนจนก้าวไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้อย่างลึกซึ้งเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์อันนำไปสู่ด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ ปริมาณการสร้างมูลค่าทำให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้ประหยัดขึ้นและมีรายได้สูงขึ้น ได้ผลผลิตที่เป็นอินทรีย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งรากฐานการเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ลึกซึ้งด้วยเป็นภารกิจหลักของความเป็นสถานศึกษาอาชีวะในอันที่จะต้องอบรมบ่มนิสัยผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความความรู้ความสามารถและเป็นคนดีป้อนตลาดแรงงาน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ดำเนินชีวิตไปบนวิถีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ มีความขยัน อดทน รู้จักอดออม ไม่มุ่งอยู่ในความโลภ มีความรักเมตตาพึ่งพาแบ่งปันเป็นเครื่องมือนำพาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยศาสตร์พระราชา นั่นคือหน้าที่สร้างแรงงานด้านการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ของวิทยาลัยเกษตรฯสังกัดสอศ.อย่างเช่นวิทยาลัยเกษตรฯนครราชสีมาที่ถูกวางตัวให้ทำโครงการ “สีคิ้วโมเดล” วิทยาลัยเกษตรฯแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี2472 น่าสนใจทีเดียวเพราะมาถึงวันนี้เกือบร้อยปีเข้าไปแล้วเอาประวัติมาบอกเล่ากันพอสังเขก่อนเล่าบรรยากาศที่ไปสัมผัสมา พ.ศ. 2472 เจ้าคุณสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา มหาอำมาตย์โทพระยาเพชรดา (นายสะอาด ณ ป้อมเพชร) ได้ปรารถนาตั้งโรงเรียนกสิกรรมขึ้นตามอำเภอต่างๆ ในมณฑลนี้ ตั้งกติกาให้เป็นโรงเรียนกินอยู่ประจำเพื่อรับฝึกเด็กนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ 3 เข้าเรียนและฝึกหัดทำการอาชีพกสิกรรม หลักสูตร 2 ปี คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ประถมบริบูรณ์ชาย) เป็นการฝึกอบรมเด็กไทยให้มีนิสัยรักใคร่อาชีพกสิกรรม เพื่อให้มีความรู้ในวิชา กสิกรรมพอเป็นทางช่วยทำมาหากิน เพื่อจะได้ออกไปทำมาหากินยังภูมิลำเนาเดิมของตนเอง จึงได้ออกสำรวจที่ว่างเปล่า และเมื่อพิจารณาโดยรอบคอบแล้วเห็นว่าที่นาของราษฎรซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านใหม่สำโรง ที่มีผู้บริจาคประมาณ 300 ไร่ สมควรตั้งเป็นโรงเรียนประถมกสิกรรมได้เพราะมีเนื้อที่กว้างขวางพอแก่ความต้องการ ดินดีอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้ลำตะคอง ทดน้ำมาใช้ในโรงเรียนคงสำเร็จ ประกอบกับอาศัยน้ำจากลำคลองเล็กๆ ในฤดูฝน ไหลจากเขาน้อยและเขาสะเดาทางทิศเหนือของโรงเรียน แล้วก็ได้โรงเรียนตั้งชื่อโรงเรียนว่าประถมกสิกรรมอำเภอจันทึกเปิดเรียนเมื่อวันที่10 มิย.2474แล้วเปลี่ยนชื่อมาเรื่อยจนปี2492 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมนครราชสีมา ปี2519 ได้รับยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมนครราชสีมาและวันที่26 กย.2539 เป็นชื่อวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมาสังกัดสอศ. ปัจจุบันมีเนื้อที่ 682 ไร่ตั้งอยู่ 146 หมู่ 3 บ้านสำโรง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว ห่างตัวอำเภอ 9 กม. ห่างจังหวัด 60 กม.และห่างกทม. 200 กม.เศษ (อ่านต่อ...) ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : “สีคิ้วโมเดล” กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (2) ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : “สีคิ้วโมเดล” กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (3) ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : “สีคิ้วโมเดล”กับการเดินตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ (จบ)