เมื่อวันที่ 14 ต.ค.66 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ “ควรเตือนเรื่องราคาพลังงาน” มีข้อความว่า

ควรเตือนเรื่องราคาพลังงาน

ผมมีความเห็นว่า สงครามอิสราเอลมีความเสี่ยงจะขยายตัว ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น

รัฐบาลจึงควรเตือนให้ประชาชนวางแผนประหยัดแต่เนิ่นๆ

ผมขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

ข้อมูลความเสี่ยงสงครามอาจขยายตัว มีดังนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน มีกำหนดจะเดินทางไปซีเรีย ในวันที่ 13 ต.ค.

ในวันที่ 12 ต.ค. อิสราเอลทิ้งระเบิดสนามบินทั้งสองแห่งของซีเรีย เป็นการปิดประตูการเดินทางดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซีเรียยังไม่ได้มีการโจมตีใดๆ ต่ออิสราเอล

ทำให้ปูตินออกมาประณามการโจมตีสนามบิน

เหตุการณ์นี้บ่งชี้ว่า สงครามอาจจะขยายไปถึงซีเรีย ซึ่งเป็นเวทีสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐกับรัสเซียอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. มีวุฒิสมาชิกสหรัฐ นายลินด์ซี เกรแฮม แถลงข่าวว่า วิธีจะทำให้อิสราเอลปลอดภัยเด็ดขาดจากการถูกโจมตีในอนาคต ..

ก็คือกองทัพสหรัฐควรจะทิ้งระเบิด ทำลายบ่อน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันในอิหร่าน

ทั้งนี้ รมว.ตปท.สหรัฐแถลงข่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า อิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาส

แต่มีนักการเมืองในทั้งสองสภา ที่แสดงแนวคิดพาดพิงไปถึงอิหร่าน อย่างเปิดเผย

ในอีกไม่กี่วัน เมื่ออิสราเอลส่งทหารเข้าไปในภาคเหนือของกาซา เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส

จากอาคารไปสู่อาคาร ทีละถนน

พื้นที่นี้มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่หนาแน่น 1.1 ล้านคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะอพยพลงไปทางใต้ได้ทันเวลา

ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีชาวปาเลสไตน์ล้มตายจำนวนมาก

ซึ่งอาจจะกระตุ้นให้ทั้งซีเรีย และกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน เข้ามาเกี่ยวข้องในสงคราม

สหรัฐได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ และเรือพิฆาตอีกหลายลำ เข้าไปในบริเวณตะวันออกกลาง

โดยมีนักการเมืองในทั้งสองสภา ที่ สนับสนุนให้สหรัฐใช้กำลังต่อเลบานนอน ถ้ากลุ่มฮิซบุลลอฮ์โจมตีอิสราเอล

ซึ่งมีแต่จะยกระดับความตึงเครียด ให้สูงขึ้นไปอีก

ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานสภาล่างของสหรัฐ อาจจะเป็นนายจิม จอร์แดน

ถ้าเป็นเช่นนั้น โอกาสที่ไบเดนจะเสนอกฎหมาย ที่แทรกการช่วยเหลือยูเครนรวมเข้าไปกับอิสราเอล จะผ่านได้ยาก

และหากแรงสนับสนุนยูเครนแผ่วลง รัสเซียก็จะสามารถหันมาเน้นกิจกรรมในตะวันออกกลางได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อนหน้ากลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล ราคาพลังงานก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอยู่แล้ว

รูป 1 EIA คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ จะสูงขึ้นตลอดปี 2024

รูป 2 อัตราการขยายกำลังผลิตน้ำมันของโลก ซึ่งพีคในปี 2022 จะแผ่วลงไปจนถึงปี 2024

ถึงแม้ว่า ในปี 2024 กลุ่มโอเปคพลัส อาจจะคลายการบีบซัพพลาย แต่ก็จะไม่ทันดีมานด์

รูป 3 แสดงปริมาณผลิตน้ำมันของอิหร่าน ที่สูงขึ้นมาในช่วงสามปี

ทำให้อิหร่านมีรายได้สูงขึ้น และถูกวิจารณ์ว่า เป็นผู้แจกจ่ายรายได้นี้ เป็นเงินสนับสนุนให้แก่กลุ่มกองกำลังต่างๆ

ดังนั้น อิสราเอลจึงอาจจะมองน้ำมันอิหร่าน เป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่ง

รูป 4 ช่องแคบโฮมุส มีเรือบรรทุกน้ำมันแล่นผ่าน ประมาณ 20 ถึง 30% ของตลาดโลก

ถ้าสงครามขยายไปถึงอิหร่าน และกระทบการขนส่งผ่านช่องแคบนี้ ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอย่างฉับพลัน

และจะก่อความตึงเครียดไปทั่วโลก โดยเฉพาะจีนเป็นผู้ซื้อหลักของน้ำมันอิหร่าน

ไบเดนพยายามวางหมากอย่างระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันในสหรัฐพุ่งขึ้น อันจะกระทบโอกาสเลือกตั้งในปี 2024

จึงได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปหาทางเจรจา เพื่อหวังให้ซาอุดิอาระเบีย ยุติการลดปริมาณผลิต

รูป 5 แต่รายได้ของซาอุดิอาระเบีย ที่พุ่งขึ้นสูงในปี 2022 ได้ลดลงต่ำในปี 2023 และแนวโน้มจะต่ำไปถึงปี 2024

ดังนั้น โอกาสที่จะเพิ่มปริมาณผลิต เพื่อกดราคาน้ำมันให้ต่ำ จึงมีน้อย

รูป 6 รัฐบาลอิสราเอลได้สั่งให้หยุดการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลแหล่งทามาร์

เพื่อป้องกันการถูกวินาศกรรม

อิสราเอลใช้แหล่งก๊าซดังกล่าว สำหรับผลิตไฟฟ้า 70% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

จึงต้องหันมาซื้อก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก

เหตุการณ์นี้ ประกอบกับท่อก๊าซธรรมชาติระหว่างฟินแลนด์กับเอสโตเนีย ที่เกิดการรั่ว โดยสงสัยสาเหตุวินาศกรรม

และต้องหยุดการใช้ไปหลายเดือน

ผมจึงเห็นว่า มีความเสี่ยงสูงที่ราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก จะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

จึงขอแนะนำให้รัฐบาลของท่านนายกเศรษฐา เปลี่ยนโหมดในด้านนโยบายพลังงาน

แทนที่จะเน้นกดราคา ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้มีการใช้มากขึ้น

ควรเปลี่ยนเป็นเตือนให้ประชาชน เริ่มวางแผนลดการใช้พลังงาน เริ่มประหยัดรัดเข็มขัด

ท่านนายกเศรษฐาควรศึกษาวิธีบริหารประเทศยามวิกฤติพลังงาน ตัวอย่างที่ดีในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม

วันที่ 14 ตุลาคม 2566

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ