ทวี สุรฤทธิกุล ศักดินาของไทยคือชนชั้นสูงและข้าราชการผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า “อำมาตย์” ในช่วงของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างปี 2552 – 2556 คำว่า “อำมาตย์” ได้ถูกชูขึ้นมาเป็นประเด็นหนึ่งของการต่อสู้ในช่วงนั้น โดยกลุ่มแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ได้ระบุว่าอำมาตย์คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโค่นล้มรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ที่ทำให้เกิดการก่อม็อบพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (พมธ.) หรือ “คนเสื้อเหลือง” ขึ้นในปี 2548 จนกระทั่งได้ชักนำทหารให้ออกมาทำการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 และรัฐบาลภายใต้การคุ้มครองของทหารก็ได้พยายามสกัดกั้นและกำจัดอิทธิพลของระบอบทักษิณ ที่บางคนเรียกว่า “ระบอบทุนนิยมสามานย์” แต่เมื่อมีเลือกตั้งในปลายปี 2550 ก็ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนระบอบทักษิณนั้นก็ยังคงมี ส.ส.เข้ามาในสภาได้จำนวนมาก แม้ว่าพรรคการเมืองในฝ่ายที่ทหารสนับสนุนจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ความขัดแย้งก็ยังคงมีความรุนแรง ที่สุดคนเสื้อแดงก็ได้จัดม็อบเข้าประทะกับรัฐบาลในปี 2552 ถึงขั้นมีการใช้กำลังรุนแรง “เผาบ้านเผาเมือง” และยืดเยื้ออยู่แรมปี จนอ่อนแรงและยอมมอบตัวในปีต่อมา แต่ความขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่มีท่าทีว่าจะหมดสิ้น ในการเลือกตั้งปี 2554 ระบอบทักษิณก็ได้กลับฟื้นขึ้นมาอีก ด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้ทำให้น้องสาวของอดีตนายกฯหนีคดีได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่ก็ต้องมาเจอวิบากกรรมด้วยการก่อม็อบต่อต้านของกลุ่มประชาชน จากกรณีที่เริ่มจากรัฐบาลจะให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้มีคดีทางการเมือง ในชื่อว่า “กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ที่สุดกลุ่มต่อต้านก็รวมตัวกันมากขึ้นเรียกว่า “ม็อบ กกปส.” ที่มีผู้ชุมนุมนับล้านคน กระทั่งนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อปี 2557 นั้น ซึ่งกลุ่มคนในระบอบทักษิณก็กล่าวหาว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหมดนั้นก็คือ “อำมาตย์” ดังที่ได้มีอำมาตย์บางคนถูกล้อมบ้านพัก และพวกคนเสื้อแดงที่ไปล้อมก็ยังมีคดีที่อยู่ในศาล (ซึ่งถึงแม้ว่าศาลชั่นต้นจะยกฟ้องในคดีก่อการร้าย แต่คดีการทำลายทรัพย์สินและอันตรายแก่ชีวิตก็มีการแยกออกไปพิจารณา ซึ่งก็ยังไม่ไม่สิ้นสุด) “วาทกรรมว่าด้วยอำมาตย์” น่าจะดำเนินไปบนความขัดแย้งของการเมืองไทยนี้ไปอีกนาน ดังที่เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองบางพรรคในคราวที่มีการรับสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา และที่เป็น “ประเด็นคาใจ” ของสังคมไทยที่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นพรรคใหญ่เข้ามาอย่างผิดคาด ที่พรรคการเมืองพรรคนี้ได้ชูประเด็นในเรื่องที่กระทบถึง “อำมาตย์” นี้เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ดูจะจางหายไป เพราะถูกต่อต้านจากผู้คนในอีกฟากหนึ่งค่อนข้างมาก แต่หลายคนเชื่อว่าแนวคิดในการต่อต้านอำมาตย์จะยังไม่หมดไป รอเพียงแต่จังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็จะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นของการต่อสู้ในทางการเมืองได้อีกอย่างแน่นอน สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะนำเสนอในบทความชุดนี้ก็คือ “ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมไทยเกิดการยอมรับในกติการ่วมกัน” อย่างที่ได้นำเสนอมาเป็นหัวข้อของบทความชุดนี้คือ “แก้รัฐธรรมนูญให้ศักดินาสิ้นไป” เพราะอยากจะให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปที่(อาจจะ)มีการปรับปรุงแก้ไข (หรือแม้กระทั่งอาจจะเขียนขึ้นใหม่) มี “จุดร่วม” บางอย่างที่ทุกๆ ฝ่ายยอมรับ นั่นก็คือพยายามเขียนขึ้นบนพื้นฐานของ “ความไร้ศักดินา” โดยพิจารณาจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่นี้ แล้วปรับเข้าสู่ความไร้ศักดินาดังกล่าว รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 นี้เชื่อกันว่าถูกเขียนขึ้นมาโดยกลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่ม (ที่ฝ่ายต่อต้านเรียกว่าอำมาตย์นั่นแหละ) ที่ได้มอบหมายให้กลุ่ม “นิติบริกร” ไปจัดทำมา ทั้งยังเขียนขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มคนเหล่านั้นอีกด้วย ดังที่มีการสร้างกลไกต่างไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ส.ว.ที่สรรหาโดย คสช. จำนวน 250 ที่มีอำนาจมากมาย รวมถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และควบคุมดูแลการบริหารงานของรัฐบาลได้ด้วย การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และการทำให้การเลือกตั้งเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เป็นต้น มีผู้เสนอว่าการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ น่าจะใช้รูปแบบและกระบวนการเดียวกันกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศษ. 2540 คือให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมกับให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดต่างเพื่อนำไปเขียนรัฐธรรมนูญ จนถึงที่สุดที่ให้มีการลงประชามติรับรอง ก็จะแก้ข้อครหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ได้ถูกอำมาตย์หรือ “ศักดินา” ครอบงำ อย่างไรก็ตามก็มีผู้เสนอว่า อาจจะมีการใช้กระบวนการอีกอย่างหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ นั่นก็คือ “การประกวด” หรือเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนร่วมกันเสนอขึ้นแล้วให้ประชาชนร่วมคัดสรร เช่น ผ่านพรรคการเมืองแต่ละพรรคหรือหลายพรรค คล้ายๆ กับที่พรรคการเมืองจัดทำนโยบายให้ประชาชนเลือกตอนที่หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. หรือรัฐบาลอาจจะเป็นเจ้าภาพเชิญชวนให้มีการนำเสนอแนวคิดต่างๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่รัฐบาลกำลังจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ในขณะนี้ (ซึ่งหลายๆ คนก็ยังไม่เชื่อใจรัฐบาล และมองว่าเป็น “ลูกเล่น” ของรัฐบาล ที่จะซื้อเวลาและถอดขนวนความขัดแย้งไว้สักระยะ) รัฐธรรมนูญไร้ศักดินาอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลยอมลดตัวเองลงมาพูดคุยกับชาวบ้านบ้าง