เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ตัวเลขคนว่างงานที่หน่วยงานราชการหรือเอกชนให้มา ดูไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก ไม่ว่าจะ 4-5 แสนหรือเท่าไรที่สื่อพาดหัวข่าวแบบตกใจ เพราะไปเอาเกณฑ์และเครื่องมือของประเทศพัฒนาแล้วมาวัด ของเขาชัดเจนว่าแรงงานในแต่ละภาคมีเท่าไร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคเกษตร ที่บ้านเราก็วัดกันที่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงภาคเกษตร เพราะไม่รู้ว่าจะวัดกันอย่างไร เกษตรกรบ้านเราทำนา ทำไร่ ไปตัดอ้อย ไปรับจ้างในเมืองสารพัดอาชีพแบบข้าม "ภาค" แต่ถึงกระนั้น ตัวเลขทางการบอกว่า แรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าภาคเกษตรแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่สืบทอดการเกษตรจากพ่อแม่ ไปเรียนมหาวิทยาลัย หรืออย่างน้อยปวช. ปวส. แล้วทำงานในเมือง ดูเหมือนว่า รัฐบาลและหน่วยงานราชการก็มักจะดูกันแต่ตัวเลขแบบนี้ ไม่มีแผนอะไรชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับเกษตรกรรมไทย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่เปิดกว้างเพื่อรองรับปัญหาการว่างงานที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเพราะเทคโนโลยีที่มาแทนที่แรงงาน หรือปัญหาการค้าการเมืองโลกที่มีผลกระทบทั้งระยะสั้นระยะยาว นักพยากรณ์อนาคตหลายคนยืนยันว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า แรงงานจะหายไปไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ขณะที่สถาบัน McKensey Global Institute ของสหรัฐอเมริกาได้วิจัยใน 50 ประเทศ 800 อาชีพพบว่า ภายในปี 2030 คือ 11 ปีข้างหน้า งานจะหายไปร้อยละ 20 เนื่องเพราะปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ต่างๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการไทยตระหนักเรื่องนี้และเตรียมรับมือ ภาคเกษตรกรรมไทยดูเหมือนยังไม่มีอะไรชัดเจนว่าจะไปทางไหน และไม่รู้ว่าจะสัมพันธ์กับสถานการณ์แรงงานในอนาคต หรือรองรับการหายไปของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างไร จำได้ว่า ขณะที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง 20 กว่าปีก่อน บางบริษัทไม่ได้ลดพนักงานลง ให้พนักงานทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงไก่เลี้ยงปลา เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ประคับประคองให้ผ่านวิกฤติไปได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องระยะสั้น และดู "โรแมนติก" ไม่น้อย แต่ความเป็นจริงวันนี้โหดร้ายกว่า "ต้มยำกุ้ง" มากนัก แม้วันนี้สถานการณ์จะดูร้ายแรง แต่คงเป็นเพียง "เผาหลอก" ถ้าไม่ทำอะไร ไม่ปรับตัวรับสถานการณ์อย่างเหมาะสม "เผาจริง" ตามมาแน่นอน เมืองไทยวันนี้ด้านหนึ่งก็ตามประเทศพัฒนาล้วไม่ทัน อีกด้านหนึ่งก็แข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นไม่ได้เพราะแรงงานเราแพงกว่าเขา แต่เมืองไทยยังไม่สิ้นหวัง ถ้าปรับวิสัยทัศน์ให้มองว่า การเกษตรไทย คือ อนาคตของชาติ มาตรการต่างๆ ที่ตามมาก็จะประกอบกันเป็นจิ๊กซอรองรับปัญหาต่างๆ ในอนาคตได้ แต่ต้องคิดแบบ "บูรณาการ" ไม่ใช่แยกส่วนกันอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนทั้งโลกนี้ต้องกินอาหาร ซึ่งเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่ง ปลูกอะไรก็ขึ้น เลี้ยงอะไรก็โต ถ้าคิดเป็นทำเป็น บริหารจัดการเป็น เมืองไทยจะเป็น "ครัวของโลก" ที่เกษตรกรไทยจะได้ประโยชน์ มีงานทำ มีรายได้อย่างพอเพียงแน่นอน เมืองไทยไม่จำเป็นต้องทำนากัน 60 ล้านไร่ ถ้าใช้ความรู้วิชาการ ทำเพียง 30 ล้านไร่ก็ได้ข้าวอาจจะมากกว่าที่ปลูก 60 ล้านไร่ ต่อไปก็ลดลงอีกได้เมื่อสามารถทำผลผลิตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีที่ดินเหลือเพื่อทำการเกษตรอื่นๆ ได้อีกมากมาย ทำให้พอกินพอใช้ในครอบครัว ในชุมชน มีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นฐานรากที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เป็นแค่แรงงานปลูกข้าวเปลือกขายพ่อค้า ต่อไปเกษตรกรรมจะต้องอยู่ในมือของ "เกษตรกร" ไม่ว่าการผลิต การแปรรูป ทำนา ทำไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยาง ปาล์ม และอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้ระบบสังคมนิยมก็ทำได้ เพราะในประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยทั้งหลาย เกษตรกรล้วนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นเจ้าของการประกอบการต่างๆ ในรูปของสหกรณ์ ไม่ใช่ไปอยู่ในมือของพ่อค้านายทุนอย่างบ้านเรา ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ เชื่อในภาพฝันนี้ ก็จะหาวิธีการไปให้ถึงจุดนั้น ทำให้เกิดด้วยวิธีหลากหลายแบบผนึกพลัง (synergy) เริ่มจากทำอย่างไรให้ลูกหลานชาวบ้านที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้วหรือทำงานในเมือง ให้สามารถกลับบ้านเกิดได้ โดยมหาวิทยาลัยเองก็ปฏิรูปการเรียนรู้ ให้นักศึกษาเรียนจากสถานการณ์จริง เรียนด้วยการลงมือทำ เรียนอย่างไรให้สามารรถส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ได้อย่างมีพลัง มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ท่องหนังสือไปสอบ เรียนอย่างไรให้ส่งเสริมการเกษตรที่ใช้วิชาการ ใช้ความรู้ ใช้เทคโนโลยีช่วยให้ได้ทั้งปริมาณคุณภาพ ได้ผลผลิตดีต่อสุขภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่น ตลาดโลก ส่งเสริมทุนตั้งต้นให้คนเริ่มงานได้ เรียนการบริหารจัดการอย่างไร จึงไปช่วยพัฒนาระบบการจัดการการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ การตลาด การสร้างเครือข่าย อย่างที่มีคนกลับไปบ้านเกิดทำเป็นตัวอย่างแล้วมากมายหลายคน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มหาวิทยาลัยราชมงคล สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรทั่วประเทศรวมกันได้เกือบร้อย นักศึกษาหลายแสนคน ส่วนใหญ่ก็ลูกหลานชาวบ้าน ถ้าปฏิรูปการศึกษาได้จริง การเกษตรไทยก็มีอนาคต คนไทยไม่ตกงาน เศรษฐกิจไทยไปไกล เพราะไทยเป็นครัวโลก ถ้ารัฐบาลมองเห็นความสำคัญตรงนี้ลองกำหนดนโยบาย ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยอย่างน้อยสามประเภทนี้ทำแผนดังกล่าวอย่างจรงิจัง จะไม่มีคนตกงาน สถาบันเหล่านี้มีอนาคต ประเทศไทยมีอนาคต