เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com นั่งดูการเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล 4 ช.ม. เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2559 แล้วเกิดความรู้สึกนึกคิดหลายอย่าง ประการแรก รู้สึกว่า กีฬาสามารถทำให้ผู้คนที่แตกต่างกันทางเชื่อชาติ ศาสนา สีผิว สถานภาพ และอื่นๆ สามารถเดินทางมาร่วมเล่นกีฬา เชื่อมสามัคคี ก้าวข้ามเขตแดน ข้อจำกัด ความแตกแยก ความขัดแย้ง ที่รุนแรงทั่วโลก เหมือน 5 ห่วงสัญลักษณ์ของโอลิมปิกที่คล้องสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว มีประเทศเข้าร่วม 206 ประเทศ ซึ่งมากกว่าจำนวนประเทศสมาชิกสหประชาชาติด้วยซ้ำ เพราะแม้แต่ประเทศเล็กๆ ที่ยังเป็นอาณานิคมของประเทศใหญ่ก็ยังมาแข่งขันในนามตนเอง และที่น่าประทับใจที่สุด คือ แม้แต่คนที่ไม่มีประเทศอยู่อย่างผู้ลี้ภัยยังให้รวมตัวกันคัดตัวแทนมาแข่งขันกับเขาด้วย ประการที่สอง ประทับใจการจัดงานเปิดที่เรียบง่าย ไม่อลังการเหมือนครั้งก่อนๆ ไม่ว่าที่ลอนดอนหรือปักกิ่ง โดยครั้งนี้เน้นการแสดงออกที่เป็นสัญลักษณ์เรื่องคุณค่า แม้บราซิลมีอะไรหลายอย่างที่อาจนำมาแสดงแบบเน้นให้เห็นความยิ่งใหญ่อย่างขบวนคาร์นิวัล การเต้นและดนตรีแซมบ้า และกีฬาอย่างฟุตบอล แต่เราก็ได้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงส่วนประกอบของงานที่เน้นประเด็น “การอนุรักษ์เพื่อการพัฒนายั่งยืน” ได้เห็นความหมายของ “สีเขียว” ที่เด็กๆ ถือกล้าไม้เดินคู่ไปกับคนถือธงของแต่ละประเทศที่เดินเข้าสู่สนาม การที่นักกีฬานำเมล็ดพันธุ์ไปใส่ลงไปในถาดที่จะนำไปปลูกในเมือง และขบวนนำกล่อง “ต้นไม้” มาเป็นส่วนหนึ่งของไฮไลท์พิธีเปิด นับเป็นการให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังร่วมกันรณรงค์การลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะประเทศที่มีป่าอเมซอนอันยิ่งใหญ่เป็นปอดของโลกอย่างบราซิล เสียดายที่พิธีกรไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลเรื่องนี้กลับไปยังการประชุมผู้นำโลกที่เมืองริโอ เด จาเนโรนี้เองเมื่อปี 1992 เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (UNCED) หรือที่เรียกกันอีกว่า Rio de Janeiro Earth Summit การประชุมครั้งนั้นเป็นการเริ่มต้นการระดมพลังของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจให้เข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาโลกที่ผ่านมาอาจเป็นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นโศกนาฎกรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ในที่ประชุมนั้นได้ให้กำเนิดคำว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility ความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัท งานเปิดโอลิมปิกครั้งนี้ไม่ได้เห็นแสงสีเสียงอลังการ ไม่มีพลุไฟหลากสีที่ราคาแพง แต่ได้เห็นความเรียบง่าย แปลกใหม่ แต่ยิ่งใหญ่ในความหมาย คือ การนำคบไฟจุดในกระถางไฟไฮบริดแล้ว ดึงขึ้นไป “จุด” หรือสาดแสงให้กงล้อ นวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดว่าด้วยพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด พลังงานจากธรรมชาติ นับเป็นภาพที่สวยงามที่เชื่อว่าคงมีใครอยากได้ไปไว้ในงานต่างๆ เป็นแน่ ประการที่สาม พิธีการเปิดโอลิมปิกครั้งยาวนานเกินไป นานถึง 4 ชั่วโมง ทั้งนักกีฬาและคนดูคงเหนื่อยหมดแรงไปตามๆ กัน ที่ยาวนานเพราะคงเป็นเหมือนประเทศกำลังพัฒนาที่มักทำอะไรยืดเยื้อ ใครมีโอกาสขึ้นเวทีเป็นยึดไมค์ไว้แบบไม่ไล่ไม่ลง โดยเฉพาะประธานจัดงานชาวบราซิลที่พูดนานกว่า 10 นาที ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาปอร์ตุเกส เนื้อใหญ่ใจความพยายามปลุกใจให้เห็นความหมายและความสำคัญของกีฬาแห่งมนุษยชาติ แต่ที่เขาพูด 10 กว่านาทีนั้น พูดไม่เกิน 3 นาทีก็อาจทำให้คนประทับใจได้มากกว่าด้วยซ้ำ รวมทั้งประธานโอลิมปิกสากลชาวเยอรมันที่น่าจะพูดสั้นก็กลายเป็นพูดยาวกับเขาไปด้วย ถึงไม่แปลกใจว่า ที่วางแผนให้พิธียาวไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงเกินไปถึง 1 ชั่วโมง เพราะการแสดง การพูดและกิจกรรมต่างๆ ไม่กระชับฉับไวอย่างที่ควรเป็น และที่น่าเสียดายมากกว่านั้น คือ พิธีกรคนไทยที่พากษ์งานนี้ไม่มีการเตรียมตัว ไม่มีการหาข้อมูล เวลา 4 ชั่วโมง ถ้าหากเตรียมข้อมูลมาดี จะทำให้รายการน่าดูยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเดินเข้าสนามของกองทัพนักกีฬา 206 ชาติ กินเวลากว่า 2 ชั่วโมงนั้น คุณน่าจะให้ข้อมูลอะไรดีๆ ได้มากกว่าที่คิดอะไรก็พูดไป เช่น น่าจะบอกว่า ประเทศที่เข้าร่วมมีกี่ประเทศ ประเทศในโลกทีกี่ประเทศ ทำไมจำนวนมากกว่าสมาชิกยูเอ็น ประเทศที่เดินเข้ามาส่วนใหญ่ผู้ชมคงไม่รู้รายละเอียด หลายประเทศไม่เคยได้ยินชื่อ จึงน่าให้ข้อมูลพื้นฐานทุกประเทศว่า อยู่ที่ไหน ทวีปอะไร มีพื้นที่ใหญ่แค่ไหน ประชากรเท่าไร มีชื่อเสียงในด้านไหนบ้าง มีประเพณีวัฒนธรรมอะไรที่เราควรรู้ อย่างน้อยก็ให้คนดูได้เรียนรู้ภูมิศาสตร์สังคมโลกนี้บ้าง โอกาสแบบนี้สี่ปีมีครั้งเดียว แค่หาเองหรือให้ทีมงานช่วยเตรียมข้อมูลให้จากกูเกิ้ล คงไม่ใช่งานหนักหนาอะไรเลย อยู่ที่ว่าตนเองให้ความสำคัญกับเรื่อง “ข้อมูล” มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องกีฬาและนักกีฬาที่โด่งดัง แต่ไม่มีภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรม แม้แต่ข้อมูลทางกีฬาก็กระท่อนกระแท่นแบบไม่ได้มีการเตรียมตัว การถ่ายทอดสดยังมีอีกหลายวัน ช่องต่างๆ ควรหาคนมาบรรยายที่ทำการบ้าน งานนี้ไม่ใช่กีฬา อบต. หรือกีฬาสี โอกาสดีๆ ที่จะให้คนได้เรียนรู้จักชนชาติอื่น เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติมีไม่มากนัก กีฬาน่าจะให้อะไรมากกว่าความสนุกสนาน แต่ให้ความรู้และความรู้สึกดีๆ ที่เราควรมีต่อมนุษยชาติ