พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ทันทีที่ข่าวการบุกยึดพื้นที่วัดพระธรรมกายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนาจรัฐของไทยกระเด็นมาถึงอเมริกา ก็เกิดปฏิกิริยาขึ้นใน 2 ส่วน ส่วนแรก สื่ออเมริกันส่วนหนึ่งนำเสนอข่าวนี้และพากันวิเคราะห์ และมองว่าประเทศไทยเป็น “รัฐศาสนา”ที่ชัดเจนและเข้มข้น จากฐานของรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่ยอมให้ลัทธิศาสนามีอิทธิพลเหนือการควบคุมของรัฐที่เน้นนโยบาย “ศาสนาแบบรัฐ”หรือพระพุทธศาสนาในรูปแบบ (ความหมาย) ของรัฐเท่านั้น นโยบายดังกล่าวส่งผ่านหน่วยงานราชการสำคัญๆ ที่เป็นกลไกแขนขาของรัฐไทย เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปจนถึงการปฏิบัติการควบคุมความเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างดีเอสไอและตำรวจ ที่ถูกฝ่ายตรงข้าม (กับรัฐบาล) มองว่า กระทำเกินเหตุ เพราะมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นในขณะดีเอสไอและตำรวจปฏิบัติภารกิจนี้ นอกเหนือไปจากการจับตามองเหตุการณ์ทางด้านศาสนาของไทยของสถานทูตอเมริกันในกรุงเทพอย่างเงียบๆ ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรง สถานทูตอเมริกันคงเลี่ยงไม่พ้นที่จะออกประกาศเตือนประชาชนอเมริกันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ และประชาชนอเมริกันในกรุงเทพ รวมถึงประชาชนอเมริกันที่กำลังจะเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ในแง่มุมของสื่ออเมริกันนั้น กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย ทำให้ความเป็นรัฐศาสนาของประเทศไทยชัดเจนมากขึ้น มันหมายถึงการพยายามเข้าไปควบคุมหรือกำกับความเชื่อทางศาสนาของรัฐไทยต่อประชาชนไทยอย่างเข็งกร้าว ไม่ว่าฝ่ายศาสนิกที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างเหล่านั้นจะใช้วิธีการอหิงสาเพียงใดก็ตาม (ดูจากภาพความรุนแรงของการเข้าไปควบคุมที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆทั่วโลก) โดยที่สื่อตะวันตกส่วนใหญ่เองมิได้เน้นการนำเสนอประเด็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัดพระธรรมกายกับ “รัฐไทย”หากแต่ส่วนใหญ่นำเสนอ “ผลจากความขัดแย้งที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรงและละเมิดโดยฝ่ายรัฐ”ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากกว่าอย่างอื่น ประเด็นเนื้อหาของความเชื่อทางด้านศาสนาของคนไทยถูกสื่อตะวันตกให้ความสนใจเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าความรุนแรงเชิงอาชญาที่ฝ่ายรัฐไทยก่อขึ้น อาจเพราะอเมริกาหรือสังคมตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ถือตนว่าเป็นรัฐศาสนา พวกเขาไม่เพียงแต่ไม่ต้องใช้ข้ออ้างในการปกป้องศาสนา แต่ยังได้ปลดพันธนาการความเชื่อทางด้านศาสนาออกไปจากการควบคุมโดยกลไก (อำนาจ) ฝ่ายรัฐ ที่เรียกว่า Secular State เนื่องจากได้ข้อสรุปจากประวัติศาสตร์สมัยกลางของยุโรป (Middle Age) แล้วว่า การต่อสู้กันในด้านความเชื่อทางศาสนาไม่มีวันนำสันติภาพมาสู่โลกได้ และการต่อสู้กันในประเด็นดังกล่าว มีแต่ทุกฝ่ายที่แพ้โดยไร้ผู้ชนะ คู่ต่อสู้มีแต่หายนะยับเยินเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือศาสนิกที่เป็นประชาชนของประเทศ จากประสบการณ์ในอดีตทำให้ประเทศตะวันตก เช่น อเมริกา เกิดปัญญารู้เท่าทันวาทกรรม “อ้างศีลธรรม(ของรัฐ) เพื่อการเข่นฆ่าปราบปราม” หรือ “การปราบปรามในนามของศีลธรรม”จนทำให้รัฐอเมริกัน เป็น Secular State ที่เป็นแบบอย่างของหลายประเทศทั่วโลก ไม่มีการเรียนการสอนศาสนาใดศาสนาหนึ่งในโรงเรียนระดับต่างๆ ที่นี่ถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย ยกเว้นในกรณีการศึกษา (รวมถึงวิจัย)ในรูปแบบวิชาการ เพื่อความรู้และประโยชน์เชิงสังคมวิทยาของนักศึกษา สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับเครือข่ายวัดพระธรรมกายครั้งนี้มิตรสหายชาวอเมริกันของผมตั้งคำถามกับผมในการสนทนาของเราว่า “หรือว่านี่ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดียวกับการล้อมปราบชาวลัทธิฝ่าหลุนกง” ในประเทศจีนในอดีต พร้อมกับคำถามที่ตามมาของเครือข่ายชาวพุทธและเครือข่ายในศาสนาอื่นๆ ทั่วโลก ที่เน้นไปที่ประเด็นความรุนแรงจากการใช้กำลังแก้ไขปัญหา โดยที่สถาบันหรือหน่วยงานหรือเครือข่ายด้านสันติวิธี เครือข่ายด้านสันติศึกษาในประเทศไทยพากันปิดปากเงียบ ไม่หือไม่อือใดๆ เอาเลย ไม่รู้ว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐไทยต่อธรรมกายอย่างไร? ต่างจากวาระปกติที่องค์กรภาคีเครือข่ายเหล่านี้จะขยันออกโรงส่งเสียงขันเจื้อยแจ้ว “เอาหน้า” ให้ได้ยินอยู่เสมอ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ในประเทศไทยครั้งนี้จึงถือว่าแตกต่างจากที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายด้านสันติภาพและสันติศึกษา ไม่เพียงแต่ไม่แสดงทัศนะให้ชัดเจนในแง่ของการใช้ความรุนแรงต่อศาสนิกมือเปล่า หากแต่มิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเอาเลยว่า พวกเขามีจุดยืนต่อเรื่องนี้เช่นไร แม้แต่นักวิชาการในฝ่ายพระพุทธศาสนาด้วยกันเอง ดูเหมือนแทบทุกคนหายเข้ากลีบเมฆกันหมด ทำเอาสื่อมวลชนตะวันตกเอง ไม่ทราบจะไปตั้งหลักสัมภาษณ์ใครจากไหน เพราะนักวิชาการฝ่ายพระพุทธศาสนาของไทยต่างหายหัวกันหมด อย่างพร้อมเพรียงกัน ควานหาตัวแทบไม่เจอ นี่คือสิ่งที่เพื่อนสื่อมวลชนอเมริกันเขาสะท้อนมาครับ ส่วนที่สอง ผมคิดว่ามีคนไทยในอเมริกาจำนวนไม่น้อยที่เป็นศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายที่เมืองไทย โดยเฉพาะแถบแคลิฟอร์เนียที่ถึงกับมีสาขาวัดพระธรรมกายอยู่ด้วย ทั้งที่ยามสถานการณ์ปกติศิษยานุศิษย์เหล่านี้จำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนกิจกรรมของรัฐบาลไทยตลอดช่วงของการยึดอำนาจที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางศาสนาในเมืองไทยครั้งจึงทำให้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจต้องเสียแนวร่วมไปจำนวนหนึ่ง ดังแนวร่วมคนไทยบางคนแถบออเร้นจ์ เคาน์ตี้ที่ปกติแล้วมักสนับสนุนกิจกรรมแทบทุกกิจกรรมที่จัดโดยรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นที่แอล.เอ. (ผ่านสถานกงสุลไทย) หรือที่เมืองไทย การสูญเสียแนวร่วมแบบนี้ มองดูแล้ว อาจมิใช่สิ่งที่รัฐบาลไทยที่มาจากการยึดอำนาจใส่ใจหรือแคร์มากนัก แต่น่าคิดว่า การเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ด้วยเหตุจากกรณีวัดพระธรรมกายในเมืองไทย ทำให้เกิดการถอดบทเรียนเชิงการเมืองกันขึ้นในบรรดากลุ่มคนไทยเหล่านี้ที่มีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนล่าง (Southern California) นอกเหนือไปจากความเหนียวแน่นต่อวัดพระธรรมกายจะมีมากยิ่งขึ้นแล้ว ผลเชิงบวกในทางด้านเศรษฐกิจต่อเมืองไทย ต่อสังคมไทยทั้งที่นี่และที่เมืองไทยที่คนกลุ่มนี้เคยให้ เช่น การใช้จ่าย การลงทุน ในประเทศไทยก็พลอยลดน้อยหรือหายไปด้วย