เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com รัฐบาลกำลังผลักดันธนาคารชุมชน ต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน “ดีๆ” สองหมื่นแห่งจากเจ็ดหมื่นกว่าแห่ง ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ก์มี “สถาบันการเงินชุมชน” ที่ ธ.ก.ส.ผลักดันและต้นปี 2562 มีพรบ.สถาบันการเงินประชาชน รัฐบาลตั้งใจสร้างเศษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง วางแผนให้มีสถาบันการเงินชุมชนในทุกตำบล เพราะมีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์กว่า 20,000 แห่ง และสถาบันการเงินชุมชนอยู่แล้ว 1,700 แห่ง ความตั้งใจดี เป้าหมายดี วิธีการควรดีด้วย แต่ดีจริงหรือ อยากให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน กรมการพัฒนาชุมชนผลักดัน “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์” ทั่วประเทศ ต่อมากลุ่มเหล่านั้นล้มหายตายจากไปเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือก็ปรับตัว ตั้งกฎระเบียบกันเอง เช่น แทนที่จะออมเงินแล้วเอาไปฝากธนาคาร แล้วกู้จากธนาคารอย่างที่กรมการพัฒนาชุมชนสอน ก็ออมเองกู้กันเอง กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันเอง จนบางแห่งมีเงินเป็นล้าน สิบล้าน ร้อยล้านในปัจจุบัน ทั้งที่ยังไม่ได้จดทะเบียนอะไร ที่เกิดก่อนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ คือ “เครดิตยูเนียน” ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 และเกิดเครดิตยูเนียนกลุ่มแรกที่ “ศูนย์กลางเทวา” (ประชาสงเคราะห์ซอย 24 กรุงเทพฯ) เมื่อปี 2508 เครดิตยูเนียนจดทะเบียนเป็นสหกรณ์มีจำนวน (สิงหาคม 2562) 1,187 แห่ง สินทรัพย์รวม 75,894 ล้านบาท เครดิตยูเนียนกำเนิดที่ประเทศเยอรมนีเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน แพร่หลายไปทั่วยุโรป อเมริกา และทั่วโลก เป็น “ธนาคารชาวบ้าน” กรรมกร เกษตรกร ที่รวมตัวกันเพื่อออมและช่วยเหลือกัน นับเป็น “ธนาคาร” ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ปัญหาเครดิตยูเนียนคลองจั่นไม่ควรเหมารวม สถาบันการเงินในโลกก็ไม่ใช่ไม่เคยมีปัญหา เป็นได้ทั้งที่ระบบและบุคลากร ซึ่งก็ต้องแก้ไขกันไป แต่อย่างไร เครดิตยูเนียนก็เป็นทางเลือกที่ดีของประชาชน ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาสมาชิก 101 ล้านคน ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกก็มีเกือบททุกประเทศ ไทยมีสมาชิก 4.1 ล้านคน (ตามข้อมูลวิกิพีเดีย) การส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน หรือ “ธนาคารชุมชน” น่าจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็มีบทเรียนที่รัฐบาลนี้ควรเรียนรู้ว่า การที่มีพรบ.สถาบันการเงินประชาชนจะทำให้การเงินชุมชนอยู่ในอาณํติของรัฐ เหมือนไม้ในกระถาง หรือว่ารัฐจะส่งเสริมให้สถาบันการเงินของประชาชนเติบโตจนพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่เป็นแค่โบรเก้อร์ นายหน้ากู้เงิน ธ.ก.ส. ออมสินมาให้สมาชิกกู้ หรือรับเงินอัดฉีดจากประชานิยม ทำอย่างไรธนาคารชุมชนจะไม่ทำแบบเดียวกับกองทุนหมู่บ้าน ที่กรรมการและญาติพี่น้องพรรคพวกหมุนเวียนกันกู้ยืมกันเอง เพิ่มให้เท่าไรก็วนเวียนอยู่ในเครือข่าย ขยายออกไปในระบบอุปถัมภ์ เห็นดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูลขยันลงไปพบปะกลุ่มองค์กรชุมชน ไม่ทราบว่าได้ข้อมูลกลุ่มออมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งจดทะเบียนไม่จดทะเบียนมาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งรอบด้านหรือยัง กลุ่มออมทรัพย์คลองเปียะ ที่จะนะ สงขลา อาจมีปัญหา แต่กลุ่มออมทรัพย์อื่นๆ ที่มีเงินเป็นหลายสิบล้าน ร้อยล้าน ก็ใช่ว่าจะมีปัญหา เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ของพระสงฆ์อย่างธนาคารชีวิตของพระครูพิพัฒนโชติ หรือพระอาจารย์ทองที่สงขลา เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต ของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่มีกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนชุมชนจังหวัดตราด พระอาจารย์มนัส ที่จันทบุรี และที่อื่นๆ ทั่วประเทศ กลุ่มออมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ เติบโตมา 30-40 ปี เป็นตัวของตัวเอง อยู่ได้ยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะ “กฎหมาย” หรือ “เงิน” แต่เพราะ “ทุนทางสังคม” (trust) ความไว้วางใจกันของสมาชิก และความคิดสร้างสรรค์ในการปรับระบบโครงสร้างให้ตอบสนองความต้องการของชุมชน รัฐบาลน่าจะสรุปบทเรียนสหกรณ์ที่ก่อตั้งในประเทศไทยกว่า 100 ปีแล้ว รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร ซึ่งไม่ได้เป็นกลไกที่พัฒนาเข้มแข็งจนสามารถเป็นรากฐานของเศรษฐกิจท้องถิ่นและของชาติได้ ทั้งๆ ที่แรกเริ่มการก่อตั้งสหกรณ์นั้นก็เอาแนวคิดของ “Reiffeisen” ชาวเยอรมันผู้ก่อตั้ง “เครดิตยูเนียน” มาใช้ เพื่อให้ประชาชนนำเงินมาออมและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่สหกรณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตรอยู่ในการควบคุม-กำกับของกระทรวงเกษตรฯ ที่ทำได้ตลอดมา คือ กู้เงิน ธ.ก.ส.มาปล่อยสมาชิก จนเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่ปรับมาออมเงิน โดยแนวคิดปฏิรูปของคนอย่างนายลัภท์ หนูประดิษฐ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ ที่เอารถเปิดท้ายไปรับเงินฝากจากชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ทุกเดือน เพราะไม่มีใครอยากเดินทางไปหาดใหญ่เพื่อไปออมเงินเดือนละ 50 บาท 100 บาท วันนี้สหกรณ์การเกษตรหลายแห่งมีเงินออมหลายพันล้าน การปั้มเงินลงชุมชนผ่านกลไกต่างๆ ผ่านธนาคารชุมชน หวังให้จีดีพีโต ชาวบ้านจะได้ใช้เงิน หมุนเงิน โดยละเลยการส่งเสริมให้เกิด “ระบบเศรษฐกิจชุมชน” สุดท้าย ธนาคารชุมชนก็จะอยู่ได้ด้วยเงินจากรัฐ ขึ้นต่อรัฐ บอนไซเป็นไม้ในกระถางต่อไป เพราะไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีระบบเศรษฐกิจชุมชน เงินอย่างเดียวแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ต้องใช้ทุนอื่นๆ ของชุมชนด้วย ให้ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา เป็นพลังนำทาง ให้แต่ “เงิน” แต่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ แล้วชุมชนจะพ้นจากวงจรอุบาทว์ของหนี้สินและความยากจนได้อย่างไร