เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com น้ำท่วมที่อุบลฯ ได้เห็น 2 ภาพที่ขัดแย้งกันชัดเจน พลังอำนาจของประชาชน กับความไร้พลังของอำนาจรัฐ ใครได้หน้าใครเสียหน้าก็รู้กันหมดแล้ว คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจของประชาชน ซึ่งมีชีวิตชีวาเพราะเป็นขบวนการ (movement) ที่ขับเคลื่อนด้วย “จิตวิญญาณ” (spirit) ขณะที่รัฐ-ราชการเป็น “สถาบัน” (institution) ที่อยู่ได้ด้วยกฎระเบียบ แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวยาก เปลี่ยนยาก ยึดมั่นในความเป็นองค์กร เป็นสถาบัน รัฐ-ราชการเป็นรัฏฐาทิปัตย์ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีอำนาจสั่งการ แต่เพราะความแข็งตัวของระบบระเบียบ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขสถานการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงเฉพาะหน้าทำได้ยาก ช้า ไม่ทันเหตุการณ์ ขณะที่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ได้รับความไว้วางใจ (trust) จากประชาชน ที่บริจาคเงินหลายร้อยล้านบาทให้เขาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้บริจาคเชื่อว่า เงินจะถึงผู้ทุกข์ยากลำบากโดยเร็วและไม่มีการตกหล่น ยอดบริจาคของบิณฑ์ จึงสูงกว่าของรัฐบาล ราชการ ที่ถ่ายทอดสดทางช่อง ๙ ทั้งเย็นก็ได้ไม่เท่าของบิณฑ์ที่ยังมาไม่ขาดสาย คล้ายกรณีตูน บอดี้สแลมเมื่อปีก่อน พลังของขบวนการประชาชนอยู่ที่ “จิตวิญญาณ” (spirit) จิตอาสา การเสียสละเพื่อผู้อื่น การมีตัวเชื่อม ตัวเร่งปฎิกิริยา (catalyst) อย่างบิณฑ์ และคณะ รวมทั้งผู้ให้การสนับสนุนจากทุกวงการ-ประชาสังคม ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานราชการจริงใจและใจกว้าง เหตุการณ์น้ำท่วมที่อุบลฯ น่าจะให้บทเรียนหลายอย่างที่ควรพิจารณา นำไปปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะระเบียบราชการที่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ เพราะระเบียบมีไว้สำหรับคน ไม่ใช่คนสำหรับระเบียบ เมื่อคนสร้างกฎระเบียบได้ก็สามารถแก้ไข ยกเลิก ปรับปรุง ทำใหม่ได้ ยิ่งกว่านั้น “ที่ใดมีกฎระเบียบ ที่นั้นมีข้อยกเว้น” ปัญหาใหญ่ของเรื่องอยู่ที่ “กระบวนทัศน์โบราณ” ของรัฐ-ราชการที่ถือว่าตัวเองมีอำนาจ ทำตัวเป็นผู้ควบคุม กำกับ เป็นผู้รู้ดี ผู้มีงบประมาณอยู่ในมือ ที่สามารถตัดสินใจและเนรมิตอะไรก็ได้ กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา อ้างว่าเพื่อไม่ให้มีการใช้ในทางที่ผิด แต่กฎระเบียบทั้งหลายก็ไม่ได้ประกันว่าไม่มีการโกงกิน เพราะการคอร์รัปชั่นที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่ทุกวันมักจะเป็นการโกงในระบบราชการ โกงงบประมาณแผ่นดิน เงินภาษีอากรของประชาชน โกงได้แม้กระทั่งคนยากคนจน คนพิการ อาหารกลางวันเด็ก หน่วยงานราชการมักอ้างระเบียบราชการเสมอเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพในการทำงาน อ้างกฎระเบียบเพื่อปกป้องตนเอง รวมทั้งผลประโยชน์ของตนเอง เหมือนที่เคยเจอมาด้วยตนเองเมื่อครั้งทำโครงการ “ต้นกล้าอาชีพ” ในรัฐบาล “ประชาธิปัตย์” เมื่อหลายปีก่อน ได้ทำโครงการนี้กับ 1,000 กลุ่มๆ ละ 50 คน รวม 50,000 คนทั่วประเทศ แต่เพราะเป็นองค์กรเอกชน จึงต้องทำผ่านหน่วยงานราชการ แรกๆ ก็ดูไม่มีปัญหาอะไร ไปๆ มาๆ หน่วยงานราชการนั้นก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้ อ้างว่าไม่มีระเบียบ และโน่นนี่นั่น ในที่ประชุมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผู้ใหญ่หลายคนยัง “เห็นใจ” หน่วยงานราชการ บอกว่าเป็นระเบียบราชการที่ทำไม่ได้ แต่เมื่อไปร้องเรียนถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก็ปรากฎว่าเบิกงบประมาณได้ โอนให้เราได้ โดยไม่มีการอธิบายว่า ถูกหรือผิดระเบียบอย่างไร หรือว่าระบบราชการต้องใช้ไม่พระเดชก็พระคุณถึงจะขยับ ทำโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเมื่อหลายปีก่อน ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน สถาบันที่หนึ่งไม่จ่ายส่วนแบ่งที่ตกลงกันไว้ บอกว่าไม่มีระเบียบ เจรจากันนานมากและถูกต่อรองเหมือนซื้อขายของ จนต้องยอมและได้เงินมาเพียงส่วนหนึ่ง ตอนจะเริ่มทำบอกไม่มีปัญหา พอมีเงินกลับมีปัญหา อีกแห่งหนึ่ง ตอนแรกก็จ่ายเงิน แต่ต่อมาก็ไม่จ่าย ค้างอยู่ถึง 25 ล้านบาท ผมไปชี้แจงในสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้น อธิการบดีบอกที่ประชุมว่า ไม่มีระเบียบเพื่อเบิกจ่ายได้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงบประมาณยกมือแสดงความเห็นว่า “งบประมาณแผ่นดินมีระเบียบอยู่แล้ว งบพิเศษที่มหาวิทยาลัยหาเองก็มีระเบียบ ถ้าโครงการนี้ไม่เข้ากับระเบียบใดก็ร่างขึ้นมาใหม่ คนร่างก็คือสภามหาวิทยาลัยนี่เองครับ” แต่จนถึงวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งนั้นก็ไม่คืนเงิน และบอกว่าอยากได้ให้ไปฟ้องเอา ประเทศไทยล้าหลังด้อยพัฒนาเพราะปัญหา “อำนาจ” ที่รัฐใช้กฎหมายเพื่อควบคุมและรักษาผลประโยชน์ที่ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง มีกฎหมายหลายพันที่รัฐบาลคสช.เคยประกาศว่าจะยกเลิก ปรับปรุงแก้ไข แต่อยู่มา 5 ปี ก็มีแต่ออกกฎหมายใหม่เพิ่มอำนาจ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยบอกเองว่า กฎหมายกว่าร้อยละ 90 ออกโดยหน่วยงานราชการ มีน้อยมากที่ออกมาจากภาคประชาชน มาจากชุมชน คงไม่มีใครเถียงความคิดที่หลายคนบอกว่า เมืองไทยหลายสิบปีที่ผ่านมาขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน แม้ว่าจะมีระเบียบราชการเป็นปัญหาอุปสรรคมาตลอด จนนักธุรกิจคนหนึ่งที่ถูกถามว่า “อยากให้ราชการช่วยอะไร” เขาตอบว่า “อยู่เฉยๆ จะช่วยได้มากที่สุด” ปราชญ์บอกว่า คนมีอำนาจมากที่สุดจะใช้อำนาจน้อยที่สุด และไม่ได้อยู่ได้ด้วยอำนาจ แต่อยู่ได้ด้วย ”บารมี” ขณะที่คนมีอำนาจมาก ใช้อำนาจมาก “บ้าอำนาจ” มักจะถูกอำนาจนั้นเองล่นงาน เหมือนบรรดาเผด็จการทั้งหลาย ไม่ว่าในสังคมแบบไหน