แสงไทย เค้าภูไทย น้ำท่วมที พูดถึงย้ายเมืองหลวงที ตั้งแต่ปีท่วมใหญ่ในประวัติศาสตร์ 2485 มาจนถึงวันนี้ แต่ที่หายเงียบไปคือการสร้างเขื่อนกั้นก้นอ่าวไทย ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีมุลค่าทางเศรษฐกิจนับสิบล้านล้านบาท เขื่อนกั้นทะเลนอกจากป้องกันกรุงเทพฯและปริมณฑลจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนที่คาดว่าไม่เกิน 20 ปีจะมีระดับสูงขึ้นอีก 1-2 เมตร ขณะที่กรุงเทพฯ ทรุดจากแรงกดทับของอาคารสูงและสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆกว่า 50 ซ.ม.แล้ว ยังสามารถดึงมวลน้ำจากเหนือและอีสานมาพร่องน้ำที่หลังเขื่อน พายุที่หอบฝนจากทะเลมาทิ้้ง ท่วม แผ่นดินวันนี้ เตือนให้คนไทยทำใจไว้แต่วันนี้ว่า ต่อแต่นี้ไป เราจะต้องอยู่กับสภาพน้ำท่วมสูงแบบนี้ปีละ 3-4 เดือนทุกปี ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วเกินคาดตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว ก่อเกิดจินตนาการจนเกิดภาพยนตร์เเรื่อง Water World ที่สร้างโลกแห่งน้ำเสมือนจริงที่คนทั้งโลกกลายเป็นมนุษย์น้ำ โดยทฤษฎีน้ำท่วมโลกตั้งสมมุติฐานไว้ว่า ราว 400 ปีข้างหน้า น้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มระดับจนล้นขึ้นมาบนแผ่นดิน เหลือแต่ภูเขาสูงๆเท่านั้นที่เป็นที่แห้ง พวกเขาต้องอยู่กับน้ำ และอยู่กันได้อย่างไร ? นี่คือคำถามที่เราจะต้องถามตัวเราว่า เราจะอยู่กับน้ำได้อย่างไร? ในยามที่น้ำท่วมหลังคาบ้าน จะปรับตัวเป็นมนุษย์น้ำอยู่ Water World “ชลพิภพ” อย่างไรแม้เพียงแค่ 3-4 เดือนฤดูน้ำหลาก สำหรับเรื่องย้ายเมืองหลวง มีการพูดกันทุกครั้งที่น้ำท่วม พูดกันมากๆตอนท่วมปี 2554 น้ำเลิกท่วมแล้วก็เลิกพูด นักวิชาการอุตุนิยมวิทยาและน้ำ โดยเฉพาะ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช เคยเสนอแนะโครงการสร้างเขื่อนปิดกั้นปากแม่น้ำ 4 สายหลักที่ลงอ่าวไทย โดยสันเขื่อนเป็นถนนไฮย์เวย์ตัดจากแหลมผักเบี้ย เพชรบุรีมาถึงปากแม่น้ำบางปะกง ไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ชื่อโครงการ “เขื่อน สามสมุทร หนึ่งมหานัครา สี่มหานที” สามสมุทรคือสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สี่มหานทีคือ บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง หนึ่งมานัคราคือกรุงเทพฯ เขื่อนนี้ นอกจากป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯแล้ว ยังป้องกันสึนามิหรือสตอร์มเสิร์ชด้วย และหากน้ำท่วมหนักทางตอนบน ทางเหนือ อิสาน ก็ระบายน้ำผ่าน 4 แควและคลองขุดใหม่มาลงเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง แล้วสูบออกอ่าวไทยด้วยท่อยักษ์จากหลังเขื่อน พวกจะย้ายเมืองหลวงก็ย้ายกันไป เพราะกรุงเทพฯแออัดเกินไปแล้ว ส่วนอีสานที่ถูกท่วมหนักที่สุดยามนี้นั้น คงจะย้ายไปไหนไม่ได้ มีแต่จะทำอย่างไรจึงจะลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ มีแต่จะต้องปรับภูมิทัศน์ รัฐจะต้องช่วยชาวบ้านสร้างหรือเปลี่ยนบ้านเป็นบ้านมีใต้ถุน แบบดั้งเดิม ใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บเครื่องมือเกษตร เก็บเรือไว้ใช้ยามน้ำท่วม เป็นคอกสัตว์เลี้ยง มีที่ “ดอน” สาธารณะไว้อพยพสัตว์ไปอยู่ยามน้ำหลาก ต้องทำฟลัดเวย์ลอดสะพานยกระดับทางหลวง โดยใช้จุดที่ถนนขาดในช่วงน้ำหลากนี้เป็นจุดสร้าง ทำอ่างเก็บน้ำ หัวไร่ ปลายนา รัฐต้องขุดให้ฟรี ไม่ใช่เรียกเก็บบ่อละ 2,500 บาทอย่างทุกวันนี้ และจะต้องบังคับให้ทำบนพื้นที่เสี่ยง ขุดคลองเพิ่มหรือฟื้นฟูคลองเก่า เพื่อผันน้ำพื้นที่น้ำท่วม และส่งน้ำไปสู่พื้นที่แล้ง เพราะนับแต่มีถนนเข้าถึงทุกหมู่บ้าน คลองที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมหลักก็ถูกละเลย จนตื้นเขินหรือหมดสภาพคลอง ส่วนการย้ายเมืองหลวงก็ทำไป เพราะใช้เวลานานมาก อาจจะใช้เวลาถึง 50 ปีอย่างเมียนมาร์ การที่จะย้ายเมืองหลวงนั้น ย้ายไปแต่ความเป็นเมืองหลวง(capital)เช่นกระทรวง และหน่วยงานราชการทั้งหมด ไม่ได้ย้ายความเป็นมหานคร(metropolitan) ไปจากกรุงเทพฯ เพราะความหนาแน่นของประชากรที่มีจำนวนตามทะเบียนราษฎร์กว่า 8.3 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานและแรงงานต่างด้าวอีกราว 6 ล้านคนมีแต่จะเพิ่ม เหตุกรุงเทพฯเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ ธุรกิจ เป็นเมืองท่า เป็นศูนย์กลางการผลิต เป็นศูนย์ธุรกิจ ศูนย์วัฒนธรรม สถานที่ประทับของพระราชวงศ์ ฯลฯ เมืองหลวงใหม่ ก็เอานิยามความเป็นเมืองหลวงไปตั้งกันไว้ ทิ้งความเป็นกรุงเทพฯไว้ที่เดิม ที่จำจะต้องปกป้องจากการจมน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้า