ทวี สุรฤทธิกุล รัฐศาสตร์ในอนาคตจะเป็น “รัฐศาสตร์เฉพาะทาง” เช่นเดียวกันกับวิทยาการทางด้านอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือพวกแพทย์ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ อย่างกรณีของแพทย์ที่แยกออกเป็น “แพทย์เฉพาะทาง” ในอวัยวะต่างๆ เช่น หูคอจมูก หัวใจ ช่องท้อง ลำไส้ สมอง ฟัน กระดูก กล้ามเนื้อ ลงไปถึงเนื้อเยื่อและดีเอ็นเอ ว่ากันว่าต่อไปอาจจะแยกย่อยลงไปถึงขนาดแบ่งเป็นหมอเฉพาะจุด เช่น หมอหูซ้าย หมอหูขวา และหมอตาซ้าย หมอตาขวา เป็นต้น (ฮา) ผู้เขียนขอท้าวความเพื่อปูฐานความรู้ให้กับท่านที่สนใจในวิชาการด้านรัฐศาสตร์นี้สักเล็กน้อยว่า วิชารัฐศาสตร์ถือกำเนิดมาพร้อมๆ กันกับที่โลกเรามีการปกครอง บ้างก็ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนา บ้างก็ปรากฏอยู่ในตำรับตำราที่ใช้สอนผู้ปกครอง จึงเป็นวิชาการที่เก่าแก่มีอายุนับพันๆ ปี โดยร่ำเรียนกันอยู่แต่ในหมู่ผู้ปกครองเท่านั้น จนเมื่อประมาณ 400 กว่าปีมานี้จึงได้มีการเปิดสอนวิชารัฐศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยที่ประเทศฝรั่งเศสและแพร่หลายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากกระแสสังคมในยุโรปยุคนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อความคิดต่างๆ โดยเฉพาะความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากการที่เคยคุ้นแต่การปกครองโดยกษัตริย์หรือผู้ปกครองแบบเก่า รวมทั้งปลดแอกจากความเชื่อทางศาสนานั้นด้วย วิชารัฐศาสตร์มาเปลี่ยนแปลงอย่างมากอีกครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ภายหลังจากที่ยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม สภาพสังคมและชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดลัทธิและทฤษฎีทางการเมืองมากมาย เช่น ประชาธิปไตย สังคมนิยม และสวัสดิการนิยม เป็นต้น จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้แบ่งเป็น 2 ขั้วคือ ฝ่ายประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกา กับฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพรัสเซีย เรียกว่า “สงครามเย็น” ซึ่งต่างก็แข่งขันกันในทุกๆ เรื่อง ไม่เว้นแต่วิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามขายความเชื่อความคิดผ่านระบบการศึกษาในเครือข่ายประเทศที่เป็นสมาชิกและบริวารของตนว่า ระบอบการเมืองการปกครองของตนนั้นดีกว่าหรือเหนือกว่า จนกระทั่งถึงทศวรรษปี 1990 ที่สหภาพรัสเซียล่มสลาย ที่ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์แตกกระจายและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปบ้าง ในขณะเดียวกันประเทศที่นำเข้าระบอบประชาธิปไตยจากค่ายยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ประสบปัญหาวุ่นวาย จึงเกิดความเชื่อความคิดในหมู่ผู้ปกครองในชาติเหล่านั้นว่าจะต้องสร้าง “ระบอบการปกครองของตนเอง” ขึ้นมาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ในประเทศต่างๆ ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญสิ่งหนึ่งก็คือ “การตื่นตัวขึ้นมาทวงสิทธิทางการปกครอง” ของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่เรียกว่า “ประชาสังคม” ซึ่งก็คือกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อเสนอข้อเรียกร้องทางการเมือง เช่น การเรียกร้องสิทธิพลเมือของประเทศในภูมิภาคคาบสมุทรอาระเบีย ที่เรียกว่า “อาหรับสปริง” รวมถึงชนกลุ่มน้อยในหลายๆ ประเทศ ตลอดจนกลุ่มคนที่ห่วงใยในปัญหาเฉพาะเรื่อง เป็นต้นว่า คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเพศสภาพ ฯลฯ ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้ปกครองสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาด้วย จึงเกิดเป็น “การเมืองเฉพาะเรื่อง” ซึ่งวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ก็ต้องมีการปรับตัวตาม อย่างที่ผู้เขียนเรียกว่า “รัฐศาสตร์เฉพาะทาง” นี้ แต่เดิมผู้นำในชาติต่างๆ ทั้งที่เป็นประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ต่างก็ใช้วิธีแก้ไขปัญหาทางการเมืองการปกครองต่างๆ แบบ “เหมารวม” คือ “การทำเพื่อคนหมู่มาก” หรือแก้ไขปัญหา “ระดับประเทศ” เป็นหลัก แต่เมื่อกระแสสังคมเปลี่ยนไป ผู้นำทั้งหลายจึงต้องมีการปรับตัว ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี กล่าวคือในด้านยุทธศาสตร์ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายของการต่อสู้กับปัญหา เช่นแต่เดิมรัฐมุ่งเน้นแต่จะแก้ปัญหาใหญ่ๆ เช่น ปัญหาความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ หรืออาชญากรรม ก็เพิ่มเติมเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม อย่างเรื่อง คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน เหล่านี้เข้าไปด้วย พร้อมกับใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายแยกย่อย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่นในปัจจุบันนี้การสื่อสารทางสังคมผ่านสื่ออีเล็คโทรนิคมีการใช้อย่างแพร่หลาย รัฐก็ต้องนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ให้ทันยุค ในขณะเดียวกันรัฐที่คุ้นเคยกับ “การเมืองบนพื้นโลก” ที่ปรากฏให้เห็นเป็นกิจกรรมต่างๆ อย่างชัดเจน ก็ต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับ “การเมืองใต้และเหนือพื้นโลก” คือการเมืองบนโลกไซเบอร์ที่ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จับต้องและมองเห็นได้แบบปกติ ที่จะเป็น “การสื่อสารหลักทางการเมือง” ของโลกในยุคต่อไป การประชุมประจำปีของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน หรือ APSA ที่ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในปีนี้ก็ได้จัดขึ้นด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของ “โลกการเมืองยุคใหม่” ดังที่ว่ามานี้ อย่างที่การประชุมปีนี้ได้ตั้งหัวข้อไว้ถึงความเป็น “ประชานิยม” ก็ไม่ได้หมายถึง “การเอาใจประชาชนทั้งหมด” อย่างทีเคยเข้าใจต่อๆ กันมา แต่มุ่งเน้นที่จะอธิบายให้เห็นว่าปัจจุบันนี้สังคมการเมืองได้ย่อยแยกแตกกลุ่มกันออกไปมากมาย ประชานิยมยุคใหม่จึงเป็นเรื่องของ “การเอาประชาชนแต่ละกลุ่ม(ทุกกลุ่ม)” คือต้องมุ่งลงตรงไปถึงความต้องการ “อันละเอียดยิบย่อย” ในกลุ่มประชาชนต่างๆ ที่แตกตัวขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งอาจจะต้องจัดหาให้ด้วยวิธีการที่เป็น “พิเศษ” หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม อันเป็นที่มาของคำประกอบหัวข้อการประชุมปีนี้ที่ว่า “สิทธิพิเศษ” นั้นเอง แต่ก่อนการสอนวิชารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมักจะแบ่งเป็น 2 แขนงวิชาใหญ่ๆ คือ แขนงวิชาการเมืองการปกครองที่จะเรียนเรื่องทฤษฎีการเมืองการปกครองและหลักรัฐศาสตร์ทั่วๆ ไป กับแขนงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จะศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองของนานาประเทศในภูมิภาคต่างๆ แต่ว่าในระยะยี่สิบกว่าปีมานี้นักรัฐศาสตร์ได้สนใจปัญหาเล็กย่อยลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในแขนงการเมืองการปกครอง ก็จะมีนักรัฐศาสตร์ในแนวปรัชญาการเมือง นักรัฐศาสตร์ในแนวนักวางแผนและนักยุทธศ่าสตร์ หรือในแขนงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็จะมีนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ และนักบริหารความขัดแย้ง รวมถึง “นักรบไซเบอร์” ที่จะต้องศึกษาวิจัยในเรื่องสงครามการเมืองสมัยใหม่นี้ เป็นต้น วิชารัฐศาสตร์จึงไม่ล้าสมัย และยังจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นต่อไป