ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] จนป่านนี้โปรเจกต์หลักที่สำคัญของการพัฒนาพื้นที่ EEC ยังไม่สรุปการลงนามในสัญญา เช่น โครงการรถไฟฟ้า 3 สถานีระหว่าง ซีพี ก็ยังเกี่ยงงอนการมอบพื้นที่และค่ารื้อถอนบางส่วนกันอยู่ อีกโครงการคือ สนามบินอู่ตะเภา ยังไม่ได้คู่สัญญา แต่การลงทุนด้านการวิจัยและเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้ดำเนินการต่อเพราะมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น เขตส่งเสริมพิเศษด้านจีโนมิกส์ 1.25 พันล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาร่วมกันจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้เสร็จแล้วโดยใข้พื้นที่อาคารของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 2.4 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ ที่จำเป็นให้แก่ประเทศ นำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในระบบหลักประกันสุขภาพ คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งโครงการนี้จะก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการเกษตรและสาธารณสุข จะทำให้การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาลได้แม่นยำขึ้น 2. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการในศูนย์กลางทางการแพทย์ 3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลได้ปีละกว่า 70,000 ล้านบาท โดยประเมินจากการลดอัตราการเกิด 5 โรคหลัก ได้แก่ 1. โรคหัวใจขาดเลือด 2. โรคเบาหวาน 3. โรคมะเร็ง 4.การติดเชื้อจาก HIV 5.โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น นับเป็นก้าวใหม่ของวงการแพทย์ไทย ที่จะช่วยขยับอันดับของการสาธารณสุขของประเทศขึ้นไปอีก ควรแก่การสนับสนุนเป็นอย่างมาก โครงการแห่ง S-Curve ในอนาคตเริ่มทะยอยเกิดขึ้นในโครงการ EEC ที่มุ่งหวังไว้ จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประเทศ นอกจากนี้กระทรวง อว. ได้รับงบประมาณวิจัยสูงถึง 1% ของ จีดีพี เพื่อวิจัยใน 27 โครงการที่สำคัญ สามารถตอบโจทย์ของประเทศ แบ่งออกเป็น 4 แพลตฟอร์ม 1.ด้านการพัฒนากำลังตคนและสถาบันความรู้ งบประมาณ 2,473.61 ล้านบาท เช่น โครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับทุกคน ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในโครงการสนับสนุนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ของประเทศ 2. ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมด้วยงบประมาณ 1,530 ล้านบาท เช่น โครงการประเทศไทยไร้ขยะ โครงการเกษตรอัจฉริยะ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการสังคมผู้สูงอายุ 3. ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันงบประมาณ 4,953 ล้านบาท เช่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 4. ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำ งบประมาณ 1,685 ล้านบาท เช่น โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน โดยจะให้นักศึกษามหาวิยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ออกไปขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็นต้น งบวิจัยปี 2563 จำนวน 24,646 ล้านบาท ถูกแบ่งเป็น 2 ก้อน เป็นงบวิทยาศาสตร์ 4,850 ล้านบาท ให้กระทรวงทำวิจัยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และงบวิจัยและนวัตกรรมอีก 20,295 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ นับเป็นการผลักดันของกระทรวง อว. ให้ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ จีดีพี มั่นใจว่าจะสามารถยกระดับการวิจัยของประเทศได้อันดับดีขึ้น