พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ถามกันมากว่า ต่อแต่นี้รัฐบาลทรัมป์จะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจหรือกระทั่งนโยบายวามมั่นคงอย่างไรต่อประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยและบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหลาย เพราะเป็นที่รู้กันว่าความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนในยุคทรัมป์ เท่าที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ไม่ค่อยสดชื่นมากนัก จากปฏิกิริยาการแสดงออกของนายทรัมป์เองที่แสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย (ทวิตเตอร์) ส่วนตัวของเขา ทรัมป์แสดงความเห็นเรื่องจีนทีไรก็กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในสื่อทุกที ทำนองว่าต่อแต่นี้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนในหลายๆ ด้านคงแย่ลงแน่นอน สื่อไทยบางสำนักทั้งที่เมืองไทยและในอเมริกาถึงขนาดนำทรัมป์ไปค่อนแคะว่า ทรัมป์เป็นผู้นำอเมริกาที่งี่เง่า หยาบคาย ก้าวร้าว ซื่อบื้อ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ พูดง่ายๆ ก็คือ มองว่าทรัมป์แทบไม่มีอะไรดีอยู่ในตัว อเมริกาในยุคผู้นี้จึงน่าจะอยู่ในอาการ “หมดสภาพ” ยิ่งท่าทีของทรัมป์ที่ไม่สนใจเข้าร่วมงานขอบคุณสื่อ(มวลชน)อเมริกันตามประเพณี หลังเลือกตั้งแล้ว โอ๊ย !!! ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนนี้ จะไปรอดเร้อ? อเมริกาจบแน่ คราวนี้ รับกับสัญญาณของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมชาวต่างด้าวในอเมริกาของรัฐบาลอเมริกันมาหลายสมัยที่มักมีคำพูดเสียดแทงต่อคนเชื้อสายต่างด้าวที่อยู่ที่นี่ว่า “ไม่ชอบอเมริกาก็กลับบ้านของคุณไปซะ” และเพราะนโยบายโปรโมทต่างด้าวนั่นเองที่ว่ากันว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำความล้มละลายทางเศรษฐกิจมาสู่แคลิฟอร์เนีย รัฐที่มีคนเชื้อสายไทยและเชื้อสายเอเชีย (เอเซียน) อาศัยอยู่มากที่สุด รวมถึงเป็นฐานการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของคนแทบทุกเชื้อสายทั่วโลก นโยบายรัฐสวัสดิการของแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะในสองด้าน คือ ด้านการศึกษากับด้านสาธารณสุข แม้จะเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของสิทธิมนุษยชน แต่ก็มักถูกยกเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงภาพของความล้มเหลวของนโยบายโปรโมทชาวต่างด้าวในอเมริกา ในยามที่สวัสดิการดังกล่าวถูกแจกจ่ายไปให้ต่างด้าวจำนวนมากโดยมีผลตอบแทน เช่น ผ่านทางระบบภาษี กลับมาน้อยมาก มิหนำซ้ำ กลุ่มคนเชื้อสายต่างด้าวเหล่านี้ อาศัยความเป็นผู้ขอ รอกินเงินสวัสดิการโดยมิพักต้องทำงาน เป็นเวลาหลายปี ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนพบมากแถวๆ เฟรสโนและอีกหลายเมืองในแคลิฟอร์เนีย มันทำให้เมือง (cities) เหล่านี้ เฉียดล้มละลายหรือไม่ก็พากันล้มละลายถ้วนหน้า ที่ไหนๆ ในโลกก็เรียกว่า “คนขี้เกี้ยจ”ในอเมริกาก็เฉกเช่นเดียวกัน ทรัมป์และคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เห็นตรงกันว่า ปัญหาต่างด้าวกำลังเป็นปัญหาคุกคามเอาเปรียบสุจริตชนอเมริกันประการหนึ่ง เป็นพวกหน่วงการพัฒนาประเทศ นั่นหลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี โดยคนอเมริกันส่วนใหญ่เป็นผู้ลงมติเลือกเขา ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า อเมริกันชนจำนวนมากเพียงใดที่คล้อยตามความเห็นของทรัมป์ในเรื่องต่างด้าว มองต่างด้าวแบบติดลบ กลับมาที่เรื่องความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่รัฐบาลทรัมป์ได้ทำแผนที่หรือวางเอาไว้ ตามที่สงสัยกันว่า อเมริกายุคทรัมป์มีไทยอยู่แผนที่เศรษฐกิจและความมั่นคงของอเมริกันในยุคนี้ด้วยหรือไม่ แน่นอนว่า ในสายตาของสื่อมวลชนอเมริกันและสื่อทั่วโลกส่วนใหญ่ ย่อมจับไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนมากกว่าประเทศอื่น ในฐานะที่จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของอเมริกา พร้อมกันนี้สื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็วิเคราะห์อย่างสอดคล้องต้องกันว่าอย่างไรเสีย ทั้งสองประเทศก็ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกันทางด้านเศรษฐกิจต่อไป ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้หักเหออกจากกัน การปรากฏกายของชายร่างเล็ก หัวโต “แจ๊ค หม่า” ประธาน “อาลีบาบา” คู่กับทรัมป์หลังจากที่เขาชนะเลือกตั้งไม่นาน เป็นสัญญาณว่า การค้าระหว่างจีนกับอเมริกาจะเดินหน้าต่อ แถมจะมากกว่าเดิมอีกด้วย แม้ทรัมป์จะวิจารณ์จีนผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขามากเพียงใดก็ตาม หากเขาซ่อนเจตนาอื่นไว้เบื้องหลังการวิจารณ์ดังกล่าว ขณะที่กูรูด้านอเมริกาและต่างประเทศของไทยต่างไม่กล้าฟันธงว่าทรัมป์จะเอายังไงกันแน่ ในแง่ความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน ที่มีไทยเป็นหนึ่งอยู่ในกลุ่มนี้ ข้อเท็จจริงในแง่ยุทธศาสตร์หรือความมั่นคง อเมริกายุคทรัมป์ได้ผนวกไทยและชาติเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องคงหรือต้องสานความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา ไม่ต่างจากยุคโอบามา เนื่องจากมีคู่แข่งอย่างจีนยืนค้ำหัวอยู่ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ จีนเป็นประเทศที่มีพรมแดนอยู่ชิดติดกับประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล เพียงแต่ว่า ในแง่ของความเป็นจริงทางการเมืองของอเมริกันนั้น ทรัมป์ต้องการให้นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอเมริกาต่อจีน ต่ออาเซียน ตอบสนองต่อจุดยืนบนเวทีหาเสียงครั้งที่ผ่านมาของเขาไปในตัวด้วย นโยบายความสัมพันธ์กับจีน หรือกับบรรดาชาติอาเซียน ทั้งในด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจจึงถูกนำไปบูรณาการร่วมกับนโยบายชุดใหญ่ของทรัมป์เมื่อตอนที่เขาหาเสียง ซึ่งจะเป็นการได้ชื่อว่า สนองตอบต่อปฎิญญาหรือคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้กับประชาชนอเมริกันที่เลือกเขาเข้ามาในการเลือกตั้งปลายปีที่แล้ว แคบลงมา ในส่วนของยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับประเทศไทย ในแง่ของความมั่นคง การฝึกร่วมค้อบบร้าโกลด์ระหว่างกองกำลังอเมริกันกับกองกำลังของไทยเมื่อไม่นานมานี้ เป็นคำตอบว่า ไทยจะยังคงเป็นพาร์ทเนอร์ของอเมริกันในแง่ของความมั่นคงในภูมิภาค โดยที่ปากที่อยู่ไม่สุขของประธานาธิบดีดูเตอเต้แห่งฟิลิปปินส์เป็นแรงบีบประการหนึ่งให้อเมริกาต้องวางลำดับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับไทยไว้เหมือนเดิม ยังเหลือแต่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าหน้าที่อเมริกันและบุคคลที่เกี่ยวข้องกำลังวางความสัมพันธ์เพื่อบูรณาการให้เข้ากับนโยบายหรือยุทธศาสตร์เฉพาะของทรัมป์ โดยไม่สนใจว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจของไทยจะคิดเช่นไร อเมริกันไม่สนใจว่าจะต้องทำให้เข้ากับไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่? ขณะที่ผลของความสัมพันธ์ทางด้านการค้าหรือด้านเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าต่ออเมริกันมาตลอด ฝ่ายอเมริกันเสียดุลการค้าให้แก่ไทย ฉะนั้น นโยบายอะไรที่สามารถลดการขาดดุลต่อไทยได้ฝ่ายเมริกันก็จำเป็นต้องทำ (เพื่อบูรณาการกับนโยบายทรัมป์) จึงน่าเชื่อว่า สินค้าจากไทยอีกหลายรายการจะโดนบล็อกจากทางการอเมริกันนับต่อแต่นี้ ส่วนยุทธศาสตร์การลงทุนและการมีหุ้นส่วนร่วมของนักลงทุนอเมริกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีชื่อประเทศไทยในรายงานของกรรมาธิการต่างประเทศสหรัฐฯที่เสนอต่อทำเนียบขาว หากปรากฏ ชื่อ“เวียดนาม” แทน ผู้นำเสนอคือ สส.Dana Rohrabacher กรรมาธิการต่างประเทศ พรรครีพับลิกัน วิเคราะห์เอาจากปูมหลังของสส.อเมริกันเขตออเร้นจ์ เค้าน์ตี้ คนเดียวกันนี้ อาจเนื่องจาก Rohrabacher มีความรู้เชิงลึกที่หลากหลายเกี่ยวกับไทยและอาเซียนอีกหลายชาติ นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเป็นพิเศษกับนักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายเวียดนามในอเมริกาในเขตเลือกตั้งของเขา.