เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com HIV คือ โรคเอดส์ PGC คือ พาราควอต ไกลโกเสต คลอไพรีฟอส สังคมไทยไม่เรียนรู้จากอดีต ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ไม่ว่าปัจเจกหรือรัฐบาลและสังคมโดยรวม ที่ดูเหมือนยังไม่สำนึก ไม่รู้สึกรู้สากับผลร้ายหายนะของสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้ ยังมีผู้ที่ตะบี้ตะบันค้านการแบนสารอันตราย ที่ทำร้ายผู้คน อาหารการกินและสิ่งแวดล้อม มีบทเรียนของโรคเอดส์ที่น่าจะนำมาใช้กับวันนี้ เหตุเกิดเมื่อ 30 ปีก่อน เมื่อเอดส์เริ่มระบาดหนัก หลังจากมีการค้นพบกรณีแรกเมื่อปี 2527 เพียง 5 ปี เริ่มแพร่กระจายไปทั่วสังคม แต่รัฐบาลก็ “เหยียบไว้” ไม่ให้แพร่ข่าว ไม่ให้พูดถึง เพื่อไม่ให้กระทบการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศ การไม่พูดถึงจึงไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขได้ทันกับสถานการณ์ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ จากไม่กี่ราย เอดส์กระจายไปเป็นหลายแสนคน รัฐเอาไม่อยู่ เรียกร้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ชาวบ้านงง เพราะที่ผ่านมา รัฐเล่นบทพระเอกแก้ปัญหาคนเดียว เมื่อดูท่าจะแก้ไม่ได้ ญาติคนไข้ไปโรงพยาบาลยังเชิญให้อยู่ดูหมอตรวจคนไข้ที่เป็นเอดส์ เพื่อจะได้รู้วิธีการดูแลรักษา และรีบเอากลับบ้าน เรื่องสารเคมีอันตรายก็เช่นเดียวกัน เหตุผลทางเศรษฐกิจดูจะอยู่เหนือสุขภาพ ความสุข การอยู่ดีกินดีของประชาชน คราวนี้หนักกว่า พราะเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้า การจำหน่ายสารเคมีนี้ พร้อมกับเงาทะมึนของยักษ์ใหญ่สารเคมีข้ามชาติ ขณะที่ประเทศอย่างภูฏาน ทำการเกษตรไร้สารเคมี เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ เพราะเขามีวิสัยทัศน์พัฒนาบ้านเมืองแบบ “เอาความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมาย เอาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือ” ของเราตรงกันข้าม “เอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย เอาความสุขของประชาชนเป็นผลพลอยได้” (ซึ่ง 60 ปีพิสูจน์ว่าไม่จริงสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งยังลำบากยากจน เจ็บป่วย เป็นหนี้เป็นสิน) เรื่องสารเคมีอันตราย 3 ตัวที่เป็นปัญหาในบ้านเราเป็นเรื่องของ “กระบวนทัศน์” การพัฒนาประเทศ เป็นเรื่องวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง มองจีดีพีเป็นสรณะ เป็นเครื่องมือสูงสุดเพื่อวัดการพัฒนา แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่สั้น คับแคบ และตื้นของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่อ้างผลผลิตการเกษตรจากการใช้สาร 3 ตัวนี้ (ที่มักอ้างว่าหาอย่างอื่นทดแทนไม่ได้ โดยไม่เคยไปดูว่า ที่เขาทำเกษตรอินทรีย์หรือไร้สารเขาทำกันอย่างไรถึงอยู่ได้) รัฐบาลที่ผ่านมาทำงานแบบ “รัฐราชการ” รอแต่ข้อมูลจาก “ราชการ” แล้วยัง “เกรงใจ” นายทุนอีก ด้วยวิธีคิดและทำงานแบบนี้ 5 ปีของคสช. จึงไม่มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 เพราะการมองโลกแบบราชการมองแบบแยกส่วน ไม่ได้สัมพันธ์กันทั้งองคาพยพ ไม่มีคำว่าองค์รวม หรือบูรณาการที่ชอบใช้ จึงไม่เคยคิดว่า คุ้มหรือไม่กับการขายสารเคมี 3 ตัวนี้ถ้าได้เศรษฐกิจดี แต่ราษฎรเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งและอื่นๆ ความสูญเสียต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อสังคม เสียงบประมาณ เสียบุคลากร แรงงาน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ข้อมูลของผลร้ายของการใช้สาร 3 ตัวนี้มักถูกปฏิเสธจากบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อ้างว่าไม่มีผลการวิจัยจริงๆ เป็นแค่กรณีของคนที่ใช้สารเคมีไม่เป็น ไม่ทำตามแนวปฏิบัติที่เขาบอกไว้ หลับหูหลับตาไม่รับรู้ว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่แบนและให้ใช้แบบจำกัดมากนั้น เขาออกฏหมายบนฐานของข้อมูลการวิจัยทั้งนั้น เขาไม่เอาสีข้างเข้าถูง่ายๆ แบบบ้านเรา ขบวนการต้านการแบนสารเคมีพวกนี้ ไม่เคยกินผักที่ตนเองปลูกขาย ที่กินเองนั้นปลูกไว้อีกแปลงหนึ่งที่ไม่ใช้สารพวกนี้ อาจารย์เคมีที่บอกว่าไม่เป็นอันตรายควรลงไปดูในพื้นที่ และกินผักพวกนี้ดูก็จะดี ขณะที่ประเทศทั่วโลกกว่า 50 ประเทศแบนสารเคมีเหล่านี้ หรือจำกัดการใช้ กำลังมีการฟ้องร้องบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ อย่างที่สหรัฐอเมริกา ในกรณีของไกลโกเสต ที่ศาลสั่งให้ชดใช้ผู้ได้รับผลกระทบสองสามีภรรยาเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท และยังมีคนที่เข้าคิวฟ้องเรื่องเดียวกันนี้อีกหลายหมื่นคน อย่างพาราควอต มีประเทศที่แบนสารตัวนี้แล้ว 58 ประเทศ ไม่ได้มีแต่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่รวมถึงประเทศในเอเชียอย่าง จีน เกาหลี มาเลเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ศรีลังกาไต้หวัน ซีเรีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรต ซาอุดีอาเรเบีย โอมาน ปาเลสไตน์ ในแอฟริกามี 12 ประเทศ ยุโรป 31 ประเทศ เรื่องสารเคมี 3 ตัวนี้ ปัญหาไม่ใช่เรื่องเทคนิกวิธีการว่าทำอย่างไรจึงจะใช้อย่างถูกวิธี ไม่ใช่ปัญหาการหาสารเคมีอื่นมาทดแทน แต่เป็นปัญหาวิธีคิด ไปจนถึง “สำนึก” ของคนที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี ข้าราชการไปจนถึงประชาชน เกษตรกร มีรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองบางคนที่แสดงให้เห็นถึง “สำนึก” และ “วิสัยทัศน์” มองแบบเชื่อมโยงได้ เห็นสุขภาพโดยรวมของประชาชน ความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ทั้งสิ่งแวดล้อมเป็นอะไรที่รายได้จากการใช้สารเคมีนี้ไม่มีทางทดแทนหรือชดเชยได้ อิจฉาประเทศเอธิโอเปีย ที่มีนายกรัฐมนตรีคนหนุ่ม อายุเพียง 43 ปีที่ชื่อ Abiy Ahmed ที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงปีเศษเท่านั้น แต่มีผลงานจนได้รับรางวัลมากมาย ล่าสุด คือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะเขานำสันติสุขมาสู่ประเทศของเขาและเอริเตรีย ที่มีปัญหาขัดแย้งกันมากว่า 20 ปี คงไม่ใช่เพียงเพราะเขาเรียนจบปริญญาโทมาทางการเป็นผู้นำ แต่เขาศึกษาถึงปริญญาเอกที่สถาบันสันติภาพและความมั่นคงที่บ้านเกิด ด้วยวิทยานิพนธ์ว่าด้วย “ทุนทางสังคมกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง” คนๆ นี้รู้จริง ทำจริง ใช้ปัญญานำหน้าการพัฒนาบ้านเมือง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ให้ความเป็นธรรมกับคนที่คิดต่าง สร้างความปรองดองในชาติ ถ้าบ้านเมืองเราได้คนแบบนี้สักคน ฝันว่า อะไรๆ น่าจะดีกว่านี้