เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ชาวนาฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งจากแคว้นเบรอตาญมาประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรไทย ก่อนหน้านั้น ผู้นำเกษตรไทยกลุ่มหนึ่งได้ไปฝรั่งเศสเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้นำชาวนาฝรั่งเศส ที่อยู่ในกลุ่มคนไทยมีชื่อวิบูลย์ เข็มเฉลิม บำรุง บุญปัญญา บำรุง คะโยธา ด้วย ชาวนาฝรั่งเศสมาเมืองไทยด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ อยากขอร้องให้เกษตรกรไทยลดการปลูกมันสำปะหลัง เพราะฝรั่งเศสนำเข้ามันจากเมืองไทยราคาถูก ทำให้อาหารสัตว์ของที่นั่นขายไม่ออก ชาวนาฝรั่งเศสมีเพียงร้อยละ 3 ของประชากร แต่มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในด้านธุรกิจต่างๆ กับเครือข่ายผู้บริโภค รวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 จึงมีอิทธิพลต่อการเมืองของประเทศนี้ พรรคการเมืองไหนไม่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายเกษตกรไม่มีทางชนะการเลือกตั้ง การปลูกมันสำปะหลังของไทยจึงไม่ได้กระทบแต่เพียงเกษตรกร แต่รวมไปถึงเครือข่ายของพวกเขาเป็นลูกโซ่ ชาวนาจากเบรอตาญจึงมาเมืองไทยเพื่อเจรจาลดการปลูก แต่มาคุยกันเพียงวันสองวัน พวกเขาได้พบว่า เกษตรกรไทย เกษตรกรบราซิลที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมไปถึงเกษตรกรฝรั่งเศสล้วนประสบชะตากรรมเดียวกันในโลกทุนนิยม ที่มีเครือข่ายและอำนาจทางการค้า เศรษฐกิจและการเมือง ชาวนาจากเบรอตาญจึงเลิกล้มความคิดที่จะมาเจรจาลดการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศสหภาพยุโรปนำเข้าจากไทยถึงร้อยละ 80 กลับมาพูดคุยกันถึงแนวทางการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคม เพื่อจะได้มีพลังในการต่อรองและการตัดสินใจทางการเมือง กำหนดนโยบายที่เอื้อต่อเกษตรกร ปีต่อๆ มา ได้มีการจัดกลุ่มผู้นำเกษตรกร ผู้นำชุมชน คนทำงานพัฒนาจากเมืองไทยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายเกษตรกรที่ยุโรป ที่ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และบางกลุ่มไปถึงแอฟริกา หลายท่านได้นำความรู้ประสบการณ์กลับมาพัฒนาชุมขนและองค์กรในท้องถิ่นของตน อย่างครูชบ ยอดแก้ว น้าลัภท์ หนูประดิษฐ์ กำนันอัมพร ด้วงปาน ลุงประยงค์ รณรงค์ ผู้ใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง นายเล็ก กุดวงแก้ว เป็นต้น รวมทั้งอาจารย์และเอ็นจีโอบางคนก็ร่วมเดินทางไปด้วย แม้ว่าผู้นำเกษตรกรไทยเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย แต่ขบวนการภาคประชาชนของเมืองไทยก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองหรือคานอำนาจรัฐ อำนาจทุนได้อย่างจริงจัง แต่ก็มีความหวังว่า ขบวนการภาคประชาชนจะเติบโตและเข้มแข็ง โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ๑. ต้องมีหลักคิด อุดมการณ์ที่แน่วแน่และมั่นคง ซึ่งเรามีอยู่แล้ว คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับ การยอมรับจากทั่วโลก แต่เมืองไทยเอง รัฐบาลไทย ข้าราชการไทย ไม่ได้ยอมรับอย่างจริงจัง พูดแต่ปาก เขียนแต่ในกระดาษมากกว่า มีของดีที่บ้านเมืองตนแต่มองไม่เห็น แบบ “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ” ๒. ต้องสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่ม องค์กรทั้งในสาขาอาชีพเดียวกันหรือต่างกัน ทั้งในพื้นที่เดียวกันและ ต่างกัน เหมือนอย่างเครือข่ายเกษตรกรในยุโรป ที่สัมพันธ์กันตั้งแต่ท้องถิ่นไปถึงภาค ประเทศ และประชาคมยุโรปทั้งหมด จึงมีพลังอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรทุกระดับ นักการเมืองต้องฟังพวกเขา ๓. มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากทุน โดยเฉพาะทุนสามานย์ที่แอบแฝงและหาทางทำลายสลาย ขบวนการ อันเป็นอุปสรรคต่อการขยายอำนาจทุนของพวกเขา ดูแค่เรื่องสารเคมีพิษร้ายแรงวันนี้เป็นตัวอย่าง รวมทั้งการครอบงำของรัฐ ของหน่วยงานราชการ ข้อที่ 3 นี้สำคัญ สภาองค์กรชุมชนที่ตั้งขึ้นมาไม่กี่ปีนี้ โดยเห็นตัวอย่างสภาผู้นำตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีลุงประยงค์ รณรงค์เป็นผู้นำ เป็นต้นแบบเขาอิสระ แต่สภาองค์กรชุมชนถูกผลักเข้าไปสู่ระบบราชการ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ แล้วจะไปต่อรองอะไรกับอำนาจรัฐได้ เครือข่ายประชาสังคมที่เป็นอิสระต้องมีทุนดำเนินการเอง ต้องพึ่งตนเองทั้งในแนวคิด วิธีการทำงานและทุนการดำเนินการต่างๆ ซึ่งมีวิธีการระดมทุนได้หลายวิธี เครือข่ายเกษตรกรในยุโรปมีกองทุนของตนเอง ที่ได้จากการหักจากผลผลิตของสมาชิก อย่างสหกรณ์น้ำตาลหัวผักกาดหวานที่เยอรมัน หักกิโลละ 2-3 บาทเข้ากองทุน ไม่นานก็ได้เงินล้าน ขยายสมาชิก เครือข่ายจนกลายเป็นสหกรณ์น้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป วันนี้พลังของภาคประชาชนได้ก้าวข้ามพรมแดนภูมิศาสตร์ไปนานแล้ว พลังประชาชนไทยควรได้จากการผนึกพลัง (synergy) กับเครือข่ายข้ามชาติ ทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ไม่ได้มีแต่สิทธิมนุษยชน ภาวะโลกร้อน หรือการค้ามนุษย์ แต่รวมไปถึงสารเคมีพิษร้ายแรงและอื่นๆ ที่หากเครือข่ายระหว่างประเทศเกิดขึ้นจริง การต่อสู้จะเข้มข้นกว่านี้มาก จะเป็นหนังชีวิตขนาดยาว การฟ้องร้องบริษัทยักษ์ใหญ่จะไม่มีแต่คนอเมริกันนับหมื่นที่กำลังเข้าคิวฟ้อง แต่จะมีคนจากประเทศไทยและหลายประเทศเป็นแสนเป็นล้านคน คลื่นเล็กๆ เอาไม่อยู่ คงต้องเป็นสึนามิภาคประชาชน