เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ผู้นำชาวบ้านจากเครือข่ายฮักเมืองน่านครั้งหนึ่งเคยเปรียบเปรยในที่ประชุมว่า “หมู่เฮาชาวนาเหมือนหมาบนทางด่วน” ไม่ลงก็ถูกรถทับตาย แต่จะหาทางลงได้อย่างไร วันนี้สถานการณ์ของชาวนายิ่งชัดเมื่อมีการแบนสารเคมี 3 ชนิดอย่างเป็นทางการ ชาวนาจำนวนมากรู้สึกเหมือนถูกกระทำจากทั้งรัฐและนายทุน เหมือนถูกปล่อยให้เคว้งคว้างรับชะตากรรมแต่เพียงลำพัง แม้ฝ่ายรัฐจะประกาศว่า เตรียมทางอกไว้ให้แล้วก็ตาม อีก 2 ปีก็จะครบ 60 ปี ตั้งแต่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมเมื่อปี 2504 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (มาเติมคำว่า “สังคม” ในแผนต่อๆ มา) นี่ก็อยู่ในแผนที่ 12 กำลังเตรียมแผนที่ 13 กันแล้ว ชาวนาก็ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งรัฐพึ่งนายทุน เป็นหนี้เป็นสิน ขายไร่ขายนาแล้วเช่าที่นายทุนหรือคนอื่นทำนา แทนที่ชาวนาจะลืมตาอ้าปากได้ กลับถูกผลักเข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สินและความทุกข์ทรมาน ดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ซื้ออยู่ซื้อกินและดูแลสุขภาพที่ทรุดโทรม หนี้สินก็พอกพูน กู้พ่อค้าไปคืนธกส. กู้ธกส.ไปคืนพ่อค้า ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือไปกู้เงินนอกระบบ พัวพันเป็นดินพอกหางหมูจนเดินไม่ได้ เป็นทาสยุคใหม่ ในสถานการณ์เช่นนี้ ชาวนาเหมือนถูกบังคับให้ใช้สารเคมีที่คุ้นเคยมานานหลายสิบปี ที่เห็นว่าราคาถูกกว่า กำจัดหญ้าและศัตรูพืชได้ดีกว่า แม้เสี่ยงตายมากกว่าก็ต้องยอม เพราะยังไงชีวิตก็เสี่ยงมาตลอดแบบไม่มีอะไรจะเสียหรือเสี่ยงมากกว่านี้อยู่แล้ว ยังต้องหาเงินไปใช้หนี้ ออกจากวงจรนี้ไม่ได้ ชาวนาไทยไม่มีความพร้อมที่จะ “ขึ้นทางด่วน” แต่ถูกผลักให้ขึ้นด้วยการโฆษณาว่าจะรวย เมื่อขึ้นไปแล้วก็หาทางลงไม่เจอ ทั้งพ่อค้านายทุนที่ทำธุรกิจกับผลผลิตการเกษตร ทำโรงสี ส่งออกข้าว ขายสารเคมี ผูกพันเป็นพันธมิตรกับข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ไปส่งเสริมชาวบ้านให้ “ขึ้นทางด่วน” มาเกือบ 60 ปี แล้วจะให้พวกเขาลงจาก “ทางด่วน” เองได้อย่างไร อำนาจและผลประโยชน์ทำให้ชาวนาไม่ได้รับการช่วยเหลือให้เตรียมพร้อมเพื่อจะ “ลงจากทางด่วน” คนที่ลงไปแล้วจึงเป็นกลุ่มที่กล้าหาญ ได้เรียนรู้ ปรับตัวได้ ฟื้นฟูชีวิต แก้ปัญหาหนี้สิน อยู่ได้แบบพอเพียง แต่หลายสิบปีรัฐไม่ได้ส่งเสริม “ทางเลือก” ให้ชาวนา (ไม่ต้องพูดถึงหลังมติการจำกัดการใช้สารเคมีเมื่อปี 2560 ว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ทำอะไรเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านให้ชาวนา) ใครอยากลงจากทางด่วนจึงต้องดิ้นรนเอาเอง ทั้งๆ ที่มีวิธีการมากมายที่จะทำให้การเกษตรไทยเป็นวิถีทางแห่งความพอเพียงและทำให้ชาวนามีความสุขได้ ไม่ใช่มีแต่หนี้สินและเป็นทุกข์อย่างทุกวันนี้ มีการพักหนี้เกษตรกรมาไม่รู้กี่หน แต่ก็เหมือนหมอเลี้ยงไข้ ธกส.เลี้ยงหนี้ เพราะอะไรๆ ก็ไม่เห็นดีขึ้น รัฐบาลหาวิธีง่ายๆ เพื่อให้จีดีพีโต คือ ส่งเสริมการผลิตแบบเดิมๆ ต่อไป เพื่อจะได้มีผลผลิตส่งออก ไม่สนใจว่ากระบวนการผลิตจะเป็นภัยต่อชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อมเพียงใด หรือไม่ก็แจกเงินอย่างที่ทำกันอยู่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวไว้ในปาฐกถาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า "การที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเพราะการพัฒนาที่ผ่านมาจะเน้นแต่ให้โต หรือมี GDP สูงๆ ซึ่งนับว่าหยาบมาก เพราะไม่ได้ดูลึกไปถึงชีวิตคนไทยแต่ละคนว่าจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนามากน้อยเพียงใด ผลการพัฒนาที่ผ่านมาจึงมีลักษณะ “เศรษฐกิจยิ่งโต ผู้ที่มีทุนมากกว่ายิ่งได้เปรียบ” “ผมคิดว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอสำคัญของความขัดแย้งในโลก รวมถึงประเทศไทย ประวัติศาสตร์หลายช่วงก็เตือนเราอยู่เสมอว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการปะทะแย่งชิงทรัพยากร และยากที่สังคมโดยรวมจะอยู่รวมกันอย่างผาสุก" รัฐบาลใช้คำว่า “บูรณาการ” จนเฝือ โดยไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติแปลว่าอะไร คณะกรรมการแต่ละชุด รวมทั้งเรื่องสารเคมีก็มาจากกระทรวงต่างๆ ถ้าร่วมมือกัน ผนึกพลังกันจริง ไม่สร้างกำแพงแต่สร้างสะพาน ทางออกสำหรับเกษตรกรน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาใหญ่ของชาวนา คือ หนี้สิน ทางอกจากหนี้สินคงไม่ใช่เพียงแต่พักหนี้ หรือให้เงิน แต่ให้ความรู้ ให้กลไกลเครื่องมือช่วยเหลือทุกกระบวนการที่จะลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต การแปรรูป การตลาด การขาย ซึ่งล้วนสัมพันธ์กันหมด ไม่ปล่อยให้ชาวนาเป็นแค่แรงงานปลูกข้าว และขาดทุนทุกปีอย่างที่เป็นอยู่ มีทางออกที่ “วิน-วิน” หลายทาง ที่อาจจะไม่ง่ายเหมือนที่รัฐบาลชวนคนใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว โดยการลดราคา สร้างแรงจูงใจและรณรงค์หลายวิธี หรือเชื้อเชิญคนมาลงทุนด้วยการลดภาษีและมาตรการอีกมากมาย แล้วทำไมไม่ทำเช่นเดียวกับ “เกษตรอินทรีย์” ที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังเรียกหา ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลควรมีมาตรการชัดเจนชดเชยรายได้และการขาดทุน หรือรัฐจะปล่อยให้ใช้ของต้องห้ามแบบใต้ดินต่อไป แม้การต่อสู้ของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัยกับทุนสามานย์ที่อยู่เบื้องหลังสารเคมีอันตรายและนโยบายของรัฐจะรุนแรง วันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน (disruptive) ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะประเทศผู้ผลิตยังไม่ใช้ แล้วจะมาให้ประเทศอื่นใช้แบบตายผ่อนส่งได้อย่างไร