แสงไทย เค้าภูไทย สารเคมีปราบศัตรูพืช แม้มีพิษแต่มองมุมกลับ การเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ก็มีผลต่อนิเวศวิทยาเช่นกัน โดยเฉพาะในแปลงนาที่มีการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน เกิดขึ้นมากในนาข้าวที่ปลูกแบบนาดำ โดยจุลินทรีย์ในน้ำจะย่อยสลายซากพืชน้ำ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ลอยขึ้นไปในอากาศ มีงานวิจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรการผลิตฯ พบว่าในกลุ่มที่ทำข้าวอินทรีย์ ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 5.58 กิโลกรัมคาร์บอนฯ เมื่อผ่านกระบวนการมาเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์บรรจุภัณฑ์แล้ว ข้าว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 5.75 กิโลกรัมคาร์บอนฯ ส่วนกลุ่มที่ใช้สารเคมีในการทำนา ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 2.27 กิโลกรัมคาร์บอนฯ และเมื่อผ่านการแปรรูป ข้าวสาร 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 2.72 กิโลกรัมคาร์บอนฯ แสดงว่า การทำนาโดยใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า มีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่าการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์กว่าเท่าตัว ทั้งนี้คงเป็นด้วยสารเคมีไปฆ่าจุลินทรีย์ ทำให้ลดกิจกรรมย่อยสลายซากอินทรีย์ลดลง ประเทศไทยมีการปลูกข้าวกว่า 79 ล้านไร่ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาที่กังวลกันพอสมควร แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต จีนซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในโลก จึงได้พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนประสบความสำเร็จ ประเทศไทยสามารถนำพันธุ์ข้าวของจีนพันธุ์นี้มาปลูกในบ้านเราได้ แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นศึกษา เพราะพันธุ์พืชที่เกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมนั้น อาจจะก่อเกิดผลเสียมากกว่าดี การที่เราจะหันมาปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจบบเกษตรอินทรีย์ จึงต้องแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกทางอื่น หากมองย้อนไปในอดีต ปัญหาเช่นนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะสมัยก่อนคนไทยปลูกข้าวตามฤดู เช่น ฤดูฝน หรือในเขตฝนชุก มีน้ำเพียงพอ ก็ปลูกแบบนาดำหรือนาหว่าน ในเขตฝนน้อย เป็นข้าวนอกฤดู ก็ปลูกข้าวนาปรัง แต่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดขึ้นในยุโรป และอเมริกาในคริสตศตวรรษที่ 18-19 มีการนำเครื่องจักรเครืองยนต์มาใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังผลให้มีการผลิตขนานใหญ่ ( Mass Production) ส่งผลมาถึงภาคเกษตร เพราะผลผลิตเกษตร ส่วนหนึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร โดยข้าวเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นข้าวจ้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวเหนียว ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารหลักของทุกชนชาติ การปลูกข้าว ไม่ว่าจะในโลกตะวันตกหรือตะวันออก จึงพัฒนาจากการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผสมผสาน กลายเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่เพื่อการค้า มีการทำลายพื้นที่ป่า นำมาเป็นแปลงเกษตร มีการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แทนการกำจัดเชิงกล มีการใช้ปุ๋ยเคมีแทนการพักดินให้ฟื้นความสมบูรณ์สำหรับฤดูเพาะปลูกใหม่ การปลูกพืช ก็เพิ่มเป็นปีละ 2-3 ครั้ง เเพื่อเพิ่มผลผลิต ผลที่ตามมาก็คือ ระบบนิเวศเสีย เพราะยิ่งเพิ่มความถี่ในการผลิตก็ยิ่งต้องเพิ่มการใช้สารเคมี การทำลายป่ามาเป็นแปลงนา ไร่ สวน ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เกิดไฟป่า อย่างขณะนี้ที่แคลิฟอร์เนีย เรียกว่า Fire Stick ลามเป็นพื้นที่กว้างขวาง เช่นเดียวกันกับที่เกิดบริเวณพื้นที่ป่าอะมเซอนในบราซิลอันเป็นป่าร้อนชื้นผืนใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเดือนก่อน ผลเสียจากการปลูกข้าวปีละหลายครั้ง ทำใหักระทรวงเกษตรฯต้องขอให้เกษตรกรลดเหลือไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะบ้านเรา เวียดนามก็เกิดปัญหาเช่นกัน โดยย่านสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง( Mekong Delta)เคยทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่จากการสร้างเขื่อนกั้นขวางแม่น้ำ ในจีนในลาว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ระบบนิวเวศเปลี่ยนไป วันนี้ สามเหลี่ยมแม่น้ำโขงทำนาได้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เฉพาะปีนี้ อาจจะแค่ครั้งเดียว เพราะขณะนี้น้ำในแม่น้ำโขงระดับต่ำสุดในรอบ 57 ปี เวีดนามเรียกร้องให้ชาติร่วมเส้นทางแม่น้ำโขงตั้งแต่จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชาแก้ไขปัญหาเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอันเป็นตัวการทำให้ระดับน้ำแม่โขงลดลงทุกปี คณะกรรมการแม่น้ำโขง(Mekong River Commission :MRC) ที่ 5 ชาติร่วมได้แก่ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาวและเเมียนมาร์รายงานว่า ระดับน้ำโขงต่ำถึงขั้นวิกฤตแล้ว ตั้งแต่ฝั่งเชียงแสน เชียงราย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ หนองคาย นาคหลวง(กัมพูชา)ระดับน้ำต่ำจากระดับปานกลางถึง 3.02 เมตร สาเหตุเกิดจากเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าของจีนคือเขื่อนจิ้งหงลดการปล่อยน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำฝนตกเหนือเขื่อนมีน้อย เขื่อนไซยะบุรีของไทยในลาวเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อได้รับน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจิ้งหงลดลงครึ่งหนึ่ง ก็จำต้องลดปริมาณน้ำที่ปล่อยลงท้ายเขื่อน เป็นทอดลงมา ยังผลให้ดินแดนใต้เขื่อนขาดแคลนน้ำเพาะปลูก เกิดภัยแล้ง ส่งผลถึงประชากรกว่า 60 ล้านคนตามแนวแม่น้ำโขงเดือดร้อนไปทั่ว ปีนี้แล้งขนาดนี้ ปีหน้าจะยิ่งแล้งรุนแรงขึ้น และแรงขึ้นเรื่อยๆถ้าเรายังไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเขื่อนกั้นขวางแม่น้ำโขง แผ่นดินอาจจะแล้งจนถึงขั้นร้อนเป็นขนาดไฟแผดเผาได้