ทวี สุรฤทธิกุล “ระวังการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีการปรับรื้อทั้งฉบับ” คำพูดข้างต้นออกมาจากปากของอดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะ “หวง” รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหลือเกิน และอาจจะตีความต่อไปได้ว่าการปรับแก้รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ “อันตราย” จากถ้อยคำที่ใช้คำว่า “ระวัง...” ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็พยายามผลักดันให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเร็ว ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ซึ่งได้มีมติไว้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า จะเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาเรื่องนี้ในทันที่ทีมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในปลายเดือนตุลาคม (ขณะที่เขียนบทความนี้ก็เป็นวันที่ 31 ตุลาคม แต่ก็ยังไม่เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด) โดยมี ส.ส.จำนวนหนึ่งจะเสนอให้มีการพิจารณาปรับแก้ในมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเสียก่อน เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ขึ้นเสียก่อน จากนั้นในกระบวนการและเนื้อหาของการแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ สสร.ได้ดำเนินการจนจบสิ้นต่อไป ประเทศไทยมีปัญหาในการ “เขียนและใช้” รัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก ประการแรก ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญมักจะจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มคนที่มีอำนาจ อย่างที่มีคำกล่าวว่า “ใครร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็ร่างเพื่อรักษาอำนาจของพวกเขาเหล่านั้น” (เว้นแต่ในครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาดำเนินการด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเข้มข้น จนได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”) แม้บางฉบับจะร่างโดยนักวิชาการที่มีแนวคิดทันสมัย ก็จะถูกวิจารณ์ว่า “ร้อนวิชา” มากเกินไป (เช่น ฉบับ 2517) รวมทั้งที่ร่างโดย “นิติบริกร” ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญขาดความน่าเชื่อถือ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจบ้าง รัฐธรรมนูญกึ่งประชาธิปไตยบ้าง ทำให้รัฐธรรมนูญขาดความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนไม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะพวกที่ทำรัฐประหาร ก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่เสียทุกครั้ง ซึ่งก็เป็นไปเพื่อไม่ให้มีใครมาเอาผิดพวกเขาได้จากการฉีกรัฐธรรมนูญนั้น ประการต่อมา การร่างรัฐธรรมนูญของไทย “ขาดวิสัยทัศน์ร่วม” หรือการมองไปข้างหน้าร่วมกันของคนในชาติ ส่วนมากก็จะเป็น “วิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจ” ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 2 พวก คือ พวกแรกที่ได้อำนาจมาจากรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฎรใน พ.ศ. 2475 หรือคณะทหารชุดต่างๆ ในการยึดอำนาจหลายๆ ครั้ง พวกนี้เป็นพวกที่เรียกว่า “ไม่ไว้วางใจระบอบประชาธิปไตย” และต้องการคุมอำนาจไว้ในมือให้มั่นคง หรือบางครั้งก็ “ผูกมัด” ประชาธิปไตยนั้นไว้ด้วยการอำพรางกำลังกองทัพเข้าไปในรัฐบาล (รัฐธรรมนูญ 2511 ที่ให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้) หรือควบคุมอยู่ในสภา (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 และ 2560) ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ค่อนข้างจะเป็น “ประชาธิปไตยจ๋า” เช่น รัฐธรรมนูญ 2517 ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และกีดกันไม่ให้ข้าราชการประจำมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หรือฉบับ 2540 ที่ให้อำนาจกับพรรคการเมืองอย่างมากมาย จนเป็นที่ “ขวางหูขวางตา” ของผู้มีอำนาจในระบบเก่า ซึ่งทั้งหมดนั้นก็แสดงถึงการมองไปเพียงด้านเดียวของคณะผู้ร่างในแต่ละฉบับนั้นนั่นเอง อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับไม่ได้มีความผูกพันกับประชาชน นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ดูเหมือนว่าจะไม่มีความผูกพันกับประชาชนเท่าใดนัก แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ทั้งฉบับ พ.ศ. 2550 และ 2560 จะมีการนำไปรับฟังความคิดเห็นและออกเสียงประชามติรับรองจากประชาชน แต่ก็เป็นไปในแบบ “พิธีกรรม” คือเน้นเฉพาะการให้ประชาชนรับทราบว่ากำลังจะมีรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง จนเพียงพอที่จะทำให้มีวิจารณญานที่ถูกต้อง คือรับรองไปเพื่อทำหน้าที่ของตน(เท่าที่อยากทำ)เท่านั้น อย่างไรก็ตามการสร้างความผูกพันที่จะทำให้ประชาชนรู้สึก “เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ” ไม่ได้มีเพียงแค่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญนี้คือ “ชีวิตของระบบการเมือง” ควรที่ประชาชนจะต้องรักและหวงแหน ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนทุกคนนั้นด้วย เช่น การทำให้ประชาชนรู้สึกว่า การทำลายรัฐธรรมนูญก็คือ “การทำลายชาติ” แน่นอนว่าถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจริงภายใต้รัฐสภาและรัฐบาลชุดนี้ หลายๆ คนที่สนใจเรื่องการบ้านการเมืองก็คงอยากเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งรูปแบบของการมีส่วนร่วมที่ดีเท่าที่เคยมีมาก็คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ก็คงจะต้องมาออกแบบให้ละเอียดกว้างขวางมากกว่าในปี 2540 อีกสักหน่อย โดยเฉพาะการเมืองยุคนี้กำลังก้าวไปในยุคสมัยของการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ไม่สามารถจะปิดกั้นไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีนั้นได้ และที่น่ากลัวมากๆ ก็คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันในโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ที่อาจจะทำให้แต่ละฝ่ายเกิดการสู้รบกันทางความคิดเห็นระหว่างกันอย่างดุเดือดรุนแรง ในขณะที่ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐก็มองอีกฝ่ายหยึ่งเป็นศัตรู รวมทั้งที่มองว่าการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียทั้งหลายนี้เป็น “ไซเบอร์วอร์” คือคิดแต่จะปราบปรามฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะมองว่าทั้งหมดนั้นคือ “เสียงจากประชาชนเจ้าของประเทศ” ที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน ท้ายนี้อยากจะแนะนำท่านที่เคยร่างรัฐธรรมนูญบางฉบับหรือหลายๆ ฉบับ ควรจะเปิดใจให้กว้าง ไม่ควรหวงแหนว่าเป็นรัฐธรรมนูญของตัวเองที่ร่างมาอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ต้องเปิดใจว่าไม่มีอะไรที่ดีที่สุด มีก็แต่สิ่งดีกว่า หรือการทำให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นก็คือควรให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นนั่นเอง รัฐธรรมนูญควรเป็นเรื่องของประชาชน ที่ประชาชนทุกคนแตะต้องได้เสมอ