ทวี สุรฤทธิกุล เชื่อกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจจะไม่สำเร็จ ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่า “ไม่สำเร็จ” แม้ว่ารัฐสภาอาจจะสามารถตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อการนี้ได้ แต่ก็จะเป็นแค่กรรมาธิการ “เพื่อทำการศึกษา” เพื่อซื้อเวลาให้แก่รัฐบาลและรัฐสภานี้ทำงานไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยที่ผลของการศึกษา เช่น การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่แก้ไข หรือจะแก้ไขมาตราอะไรเรื่องอะไรบ้างนั้น จะเป็นเหมือน “ความฝันในขวดแก้ว” ที่ถูกวางไว้บนหิ้งโดยไม่มีการนำไปทำให้เป็นจริง ผู้เขียนจึงอยากจะเสนอ “ความฝันในขวดแก้ว” ไว้ร่วมโชว์บนหิ้งอีกสีกขวดหนึ่ง โดยเรียกความฝันนี้ว่า “รัฐธรรมนูญนอกสภา” ที่ถึงแม้ที่สุดจะถูกโยนทิ้งไว้ในกองขยะ แต่ก็น่าจะฝากขยะชิ้นนี้ไว้ข้างๆ ทาง เผื่อว่าจะมีใครมาคุ้ยเขี่ยพบเจอ ก็อาจจะมีเสียงร้องว่า “อ๋อ ก็มีคนที่ฝันเหมือนกันกับเราอยู่บ้าง” คนที่สนใจด้านรัฐศาสตร์หรือการปกครองบ้านเมือง อาจจะมีความรู้มาบ้างแล้วว่า อะไรคือเหตุผลที่ชาติต่างๆ จำเป็นจะต้องมีรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ “รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเพื่อควบคุมและป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ” ในสมัยโบราณชาติต่างๆ ล้วนแต่ปกครองโดยบุคคลหรือคณะบุคคล ถ้าเป็นบุคคลก็คือกษัตริย์ พระราชา ฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิ เหล่านี้เป็นต้น ส่วนคณะบุคคลก็ได้แก่ชนชั้นนำที่มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน บ้างก็เรียกว่า “สภา” อย่างเช่นสภาซีเนท(แปลว่าสภาผู้อาวุโส)ของกรีก หรือราชสภาในอินเดียตอนเหนือในสมัยพระพุทธเจ้า ที่พระราชาของแว่นแคว้นต่างๆ มาร่วมประชุมกัน ทำให้การปกครองในอดีตขึ้นอยู่กับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลนั้นเป็นหลัก ซึ่งก็ประสบปัญหาว่าถ้าบุคคลหรือคณะบุคคลนั้นเป็นคนดี การปกครองก็จะดี ประชาชนก็จะอยู่ดีมีสุข และชาตินั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง ตรงกันข้ามกับชาติที่มีผู้ปกครองไม่ดี บ้านเมืองก็จะวิกฤติ ประชาชนก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะสร้าง “กติการ่วมกัน” ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา เพื่อควบคุมมิให้มีการใช้อำนาจโดยบุคคลใดๆ จนเกินควร รัฐธรรมนูญจึงเป็นกลไกทางการปกครองในระบบการเมืองสมัยใหม่ และเป็นที่ยอมรับกันในทุกๆ ชาติไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบใดๆ ว่า ทุกชาตินั้นจะต้องมีและใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ เป็นที่ยอมรับกันว่าแต่ละชาติในโลกนี้มีปัญหาทางการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันไป ดังนั้นแต่ละชาติจึงมีรัฐธรรมนูญที่อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยเนื้อหาหลักๆ หรือ “หลักการ” ที่จะต้องมีก็คือ อุดมการณ์แห่งชาติ ลักษณะรัฐ โครงสร้างอำนาจ และรูปแบบความสัมพันธ์ในระหว่างอำนาจทั้งหลาย “อุดมการณ์แห่งชาติ” หมายถึงความมุ่งหวังของคนในชาติ ที่อยากจะเห็นชาติของตนก้าวเดินไปในทิศทางต่างๆ สำหรับกรณีของประเทศไทยในอดีต ผู้ปกครองคือคนที่นำเสนออุดมการณ์แห่งชาตินี้ให้ผู้คนได้ยึดถือเชื่อมั่น ตัวอย่างเช่น ในสมัยโบราณที่ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะทรงเป็น “ผู้นำทางความคิด” โดยที่ในยุคนั้นประเทศไทยต้องทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงทรงนำให้คนไทยมุ่งมองไปถึงการสร้างชาติให้เข้มแข็ง “ความมั่นคง” จึงเป็นอุดมการณ์แห่งชาติในยุคนั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรซึ่งเป็นผู้ปกครองได้เป็นผู้นำทางความคิด ได้สร้างอุดมการณ์แห่งชาติให้คนไทยมุ่งหวังไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่โชคร้ายที่คณะราษฎรนั้นเองยัง “หวงอำนาจ” แล้วปกครองโดยเน้นความมั่นคงของคณะราษฎรเป็นสำคัญ แต่ว่าในคณะราษฎรนั้นก็มีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือน ที่สุดอุดมการณ์ที่คณะราษฎรวางไว้ก็ล่มสลาย ประเทศไทยถูกปกครองโดยระบอบทหาร ซึ่งทหารได้สร้างอุดมการณ์แห่งชาติขึ้นใหม่ ที่เน้นความรักความสามัคคีของคนในชาติ ที่ในตำรารัฐศาสตร์เรียกว่า “อุดมการณ์ไตรภักดิ์” คือให้คนไทยภักดีต่อ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” อันเป็น 3 สถาบันหลัก ให้คนไทยยึดมั่นถือมั่นร่วมกัน หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มปัญญาชนคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอความคิดประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ถูกโต้กลับจากฝ่ายทหารที่โจมตีกลุ่มปัญญาชนเหล่านั้นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนนำมาซึ่งการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นทหารก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างทหารและข้าราชการที่อยู่ในวุฒิสภา กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ถายหลังการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทหารก็กลับมาครองอำนาจอีก แต่ก็มีการต่อต้านจนเกิดเหตุการณ์จลาจลในเดือนพฤษภาคม 2535 พร้อมกับการก่อตัวของแนวคิดในการ “ปฏิรูปการเมือง” อันนำมาซึ่งการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยมีการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญได้ผ่าน “ฉันทานุมัติ” จากคนไทยทั้งประเทศ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างอุดมการณ์แห่งชาติขึ้นใหม่ คือ “การเมืองที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วม และการตรวจสอบถ่วงดุล” แต่ประเทศไทยเคราะห์ร้ายที่ได้นักการเมืองที่ “บ้าอำนาจ” ทำให้ระบบดีๆ ที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “เสียระบบ” ทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่คนไทยอย่างรุนแรง อันนำมาซึ่งการรัฐประหารอีก 2 ครั้งใน พ.ศ. 2549 และ 2557 ที่ทหารอ้างว่าเพื่อล้าง “ระบอบสามานย์” ดังกล่าว แต่จากการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้คนทั้งหลายมองว่าทหารต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ โดยทหารพยามที่จะสร้างอุดมการณ์แห่งชาติขึ้นมาใหม่ว่า “ทหารคือแกนนำของประเทศ” การร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศไทยจะต้องเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า “เราอยากให้ประเทศไทยปกครองกันอย่างไร” ด้วยการคิดสร้างอุดมการณ์แห่งชาติร่วมกันนั้นให้เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะถ้าเราคิดไม่ได้ ก็จะมีคนที่มาช่วยคิดให้เรา และเมื่อเราไม่คิดเอง เขาก็เลยอ้างว่าเราไว้ใจให้เขาทำ เขาคือใครเราก็รู้กันดี เขาทำได้ดีแค่ไหน เราก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นอย่างนี้