ศาสตราจารย์ ดร.ไชยา ยิ้มวิไล เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวถึง “แนวคิด-แนวทางการปฏิรูปประเทศ” ที่ต้องยอมรับความจริงว่า “สลับซับซ้อน-ยุ่งยาก” อย่างมาก ไม่ว่าด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาปัจจัยภายนอกที่เราต้องยอมรับจากต่างประเทศ ทั้งนี้ การเมืองของไทยเราอาจผิดปกติ แต่เชื่อหรือไม่ว่า นานาอารยประเทศต่างๆ “ลงทุน” กันในเมืองไทย ไม่ว่า สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เลยไปจนถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่นำเม็ดเงินมาลงทุนในเมืองไทยจำนวนหลายล้านล้านเหรียญ “นักลงทุน-นายทุน” ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “การเมือง” คือการเมือง แต่ “เศรษฐกิจ” คือธุร กิจ พูดง่ายๆ หมายความว่า “เขาแยกแยะได้” ว่า “การเมือง-เศรษฐกิจ” นั้น ต้องแยกจากกัน โดย “ธุรกิจ” ที่สามารถนำเงินมาใช้ประโยชน์ได้ นี่คือคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่มีการประชุมป.ย.ป. “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง” เมื่อวันศุกร์สองสัปดาห์ที่แล้ว และกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษา 39 คน เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว เพราะฉะนั้น “การลงทุน” เพื่อ “การส่งออก” จึงมีแนวโน้มเป็นบวกแน่นอนในปี 2560 นี้บวกกับ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่ต้องเรียกว่า “บูมเต็มที่!” ที่นักท่องเที่ยวจากเอเชีย โดยเฉพาะจีน และแม้กระทั่งฝรั่งที่มิใช่ชาวอเมริกัน แม้แต่ชาวอเมริกาใต้ ชาวรัสเซีย ยุโรปตะวันออก ต่างพุ่งเป้ามาเที่ยวเมืองไทย โดยปี 2560 นี้คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะสร้างเม็ดเงินประมาณ 28 ล้านล้านบาทเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม “การกำหนดแนวทางในการปฏิรูปและกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อประเทศไทย” ที่เพิ่งมีการประชุมอย่างเป็นทางการเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว และประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ 39 คน เท่าที่ฟังดู นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเอาจริงเอาจังมากว่า “เราต้องปฏิรูปประเทศชาติให้ได้ภายใน 5 ปี” ส่วน “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” นั้นต้องค่อยๆ ดำเนินการอย่างละเอียดอ่อนควบคู่ไปกับ “การร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ต้องยอมรับว่า “น่าจะสลับซับซ้อน-ซ่อนเงื่อน” อย่างมากในการป้องกันการ “ทุจริตคดโกง” หรือ “ธุรกิจการเมือง” อีกต่อไปเช่นในอดีต ในกรณีนี้ต้องยอมรับว่า “ยังตอบไม่ได้เพราะไม่เห็น!” “ปฏิรูป-ปรองดอง-ยุทธศาสตร์ชาติ” คือ แนวทางที่รัฐบาลปัจจุบันจำเป็นต้องทำเพื่อ “อนาคตประเทศไทย” ที่ต้องค่อยๆ เดินแบบระวังตัวแต่ “ต้องรักษาคำมั่นสัญญา” ที่คณะคสช.บวกกับรัฐบาลต้องทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ แนวคิดต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียง “นโยบาย” แต่ฝ่ายปฏิบัติคือ “ระบบราชการ” ที่ต้องเข้าใจร่วมกันว่า “ทำเพื่อชาติ” และไม่สำคัญเท่ากับว่า “ทำเพื่ออนาคตชาติ” เนื่องด้วย “สังคมยุคใหม่” ต่างมี “บริบท-สภาพแวดล้อม” ที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงมากมาย เหตุผลเกิดจาก “สังคมโลกดิจิทัล” ที่ “โซเชียลมีเดีย” นับวันจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับ “สังคมบริบทยุคใหม่” ที่ผู้คนประชากรโลกจำต้องบริโภค “ข้อมูลข่าวสาร” บวกกับ “ความรู้ใหม่” ที่จะพลิกโฉมจากหน้ามือเก่าสู่หน้ามือใหม่ และอาจคิดเลยเถิดไปมากกว่านั้นคือ “สังคมหุ่นยนต์” ที่อนาคต “หุ่นยนต์” จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึง “ครัวในบ้านเรา” ถ้า “การกำหนดทั้งยุทธศาสตร์ชาติ” และ “การปฏิรูปประเทศ” สามารถรีบดำเนินการและ “สร้างโรดแมป” ให้ขยับเขยื้อนได้ภายใน 2-3ปีนี้ รับรองได้ว่าจะทำให้เราคนไทยได้เห็นอนาคต ความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลนั้น แน่นอนที่สุด “กฎหมาย” นั้นเป็น “ปัจจัยสำคัญ” ที่มีเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่ต้องหมกมุ่นกับ “การร่างกฎหมาย” พร้อมทั้ง “ปฏิรูปกฎหมายที่เก่า” เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมบริบทยุคใหม่ แน่นอนที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายที่ต้องหมกหัวอยู่กับการศึกษาพิจารณาพร้อมร่างกฎหมายใหม่ ปฏิรูปกฎหมายเก่า เพื่อให้ “สังคม” มี “วินัย-ระเบียบ-เคารพกฎหมาย” แต่ที่ลงลึกไปมากกว่านั้นคือ “ต้องสอนให้สังคมรู้จักและสำนึกถึงระบบคุณธรรม-จริยธรรม” ตลอดจน “หิริโอปปะ : เกรงกลัวละอายต่อบาป” เท่านั้นยังไม่พอต้องลงโทษประชาชน และ/หรือ เจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หรือ “คนไทยกลัวกฎหมาย!” หรือกล่าวง่ายๆ ว่า “ทุจริตต่อหน้าที่” เพื่อ “ผลประโยชน์ส่วนตนส่วนกลุ่ม” ซึ่งปัญหานี้เป็นทั้งปัญหาโครงสร้างและระบบของสังคมไทย ที่มีผู้มีสีที่อาจมีจำนวนน้อยที่ “ทรงอิทธิพล” ในพื้นที่อย่างมาก ไม่ว่า เมืองหลวงหรือเมืองชนบท จริงๆ แล้วปัญหาใหญ่โตมากของสังคมไทยที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ที่คงจะแก้ไขไม่ได้ให้หมดไปภายใน 2-3 ปี หรือแม้กระทั่ง 5 ปีข้างหน้า จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังมาก และขอย้ำว่า “มิได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่ออนาคตประเทศไทย” และ “ลูกหลานของเราในอนาคต” รองนายกฯ วิษณุได้กล่าวว่า เราจะกำหนด “สี่เสาหลัก” ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศชาติในอนาคต กล่าวคือ หนึ่ง การบริหารราชการแผ่นดิน สอง การปฏิรูปประเทศ สาม วางยุทธศาสตร์ และสี่ สร้างความสามัคคีปรองดอง ถามว่า เบื้องล่างสุดคือ “ประชาชนระดับล่าง” ที่มีฐานะยากจนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ เลยไปจนถึง “ถูกรังแก” จากผู้มีอิทธิพลและผู้มีอันจะกินบางส่วน จนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ถามว่าเฉพาะ “หนี้นอกระบบ” ที่ขูดรีดประชาชนจนไม่มีทางที่จะใช้หนี้หมดจนก่อให้เกิดปัญหาอาชาญากรรมมากมาย โดยต้องยอมรับว่า “คนจน” ในบ้านเรานั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 60-70 จนเยาวชนไร้การศึกษาไม่ได้รับการอบรมบ่มสั่งสอน จนต้องติดยา ขายยา ลักเล็กขโมยน้อย ไม่รู้จัก “บาป บุญ คุณโทษ” เป็นต้น ส่วนประชาชนที่พอมีจะกินก็ต้องดิ้นรนทำมาหากิน จนไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัวลูกหลาน และประชาชนระดับสูงก็ปล่อยปละละเลยตัวใครตัวมัน ที่อาจมิเคยได้มีเวลาเสวนาธรรมกับสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ ขอเรียนว่า “ปัญหาสังคม” เป็นปัญหาที่หมักหมมสะสมมายาวนาน จนยากแก่การแก้ไข ไม่ว่าจะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 20-100 คน ก็คงไม่สามารถเข้ามาแก้ไขได้ ถ้า “ประชาชนไม่มีส่วนร่วม” เพราะฉะนั้น “ภาคประชาชนต้องตื่นตัว” และ “มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา” ด้วยกันสัปดาห์หน้าว่ากันต่อครับ!