"สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ควรจะมีหน้าตาอย่างไร ?" ถ้าเป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายที่ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ คือต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นก่อน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ควรจะประกอบด้วยใครบ้าง มีที่มาหรือการได้มาอย่างไร และมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่าควรนำข้อดีข้อเสียของสภาร่างรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2540 มาเป็นตุ๊กตาหรือต้นแบบ แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น ที่สำคัญก็คือให้ได้ "คุณค่า" มากขึ้น สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีองค์ประกอบง่ายๆ ตรงไปตรงมา เนื่องจากต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วตามเวลาที่กำหนด (ถ้าจำไม่ผิดคือกำหนดไว้ไม่เกิน 10 เดือน) ประกอบด้วยบุคคล 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 23 คน แบ่งเป็น นักนิติศาสตร์ 8 คน นักรัฐศาสตร์ 8 คน และผู้บริหารในภาคราชการอีก 7 คน กับกลุ่มตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน (ในตอนนั้นประเทศไทยยังมี 76 จังหวัด) รวมทั้งสิ้น 99 คน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็ให้มีการรับสมัครเข้ามา แล้วรัฐสภาก็คัดเลือกให้ได้ตามสัดส่วนดังกล่าว ส่วนสมาชิกตัวแทนจังหวัดก็ให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัดและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดสมัครเข้ามา แล้วให้ผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเหล่านั้นคัดเลือกกันเองให้ได้จังหวัดละ 10 คน จากนั้นก็ส่งรายชื่อทั้งหมดไปที่รัฐสภา ให้สมาชิกรัฐสภาคัดเลือกให้ได้ 1 คนในแต่ละจังหวัด ซึ่งก็ไม่ปรากฏปัญหาอะไรยุ่งยากนัก จุดเด่นของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นอกจากความง่าย ตรงไปตรงมา และไม่ซับซ้อนแล้ว ก็คือได้คนที่ตั้งใจจะมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จริงๆ เพราะทั้งหมดนั้นต้องสมัครเข้ามา จึงแสดงถึงความตั้งใจจริงที่จะเข้ามาดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งยังได้คนที่มีความรู้ความสามารถพอสมควร โดยเฉพาะคนที่มีความมุ่งหวังที่จะเข้ามาทำการปฏิรูปการเมือง เมื่อพิจารณาจากบทบาทของคนเหล่านี้ในกระบวนการเรียกร้องเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งหวังและตั้งใจจริงเช่นนี้ ทำให้สมาชิกทั้ง 99 คนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น โดยมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันน้อยมาก ทำให้บรรยากาศของการทำงานเป็นไปด้วยความร่วมมือกันเป็นอย่างดี และสามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่บรรดาสมาชิกในแต่ละจังหวัดได้ออกไปรับฟังวามคิดเห็น สร้างกระบวนการเรียนรู้และตระหนักรู้ร่วมกัน จนทำให้เกิดภาพของความสมานฉันท์ในระดับชาติ จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญที่ "ดีมากๆ"ฉบับหนึ่ง อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อด้อยหรือส่วนที่ควรปรับปรุงอยู่บ้างอีกพอสมควร ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดและประชาสัมพันธ์ ที่มีนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประจำจังหวัดนนทบุรีเป็นประธาน พร้อมกับกรรมการอีก 10 ท่าน ก็ได้ค้นพบจากประสบการณ์ในการทำงานในครั้งนั้นว่า การทำงานร่วมกันเป็นทีมควรจะได้รับการปรับปรุงให้เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้มีลักษณะของการมอบหมายงานเป็นกลุ่มๆ แบบที่เรียกว่า "การบริหารโครงการ" หรือ "การบริหารกลุ่มพื้นที่" โดยคณะอนุกรรมาธิการในแต่ละจังหวัดสามารถสรรหาคนเข้ามาทำงานในแต่ละโครงการหรือแต่ละพื้นที่นั้นให้เพียงพอ นอกจากจะเป็นการขยายภารกิจเพื่อรองรับการเข้ามามีส่วนร่วมจากคนหลายๆ ภาคส่วนในแต่ละจังหวัดนั้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ที่จะทำให้ได้ผลงานที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น จากความคิดเห็นที่หลากหลาย และการได้มีบทบาทที่จะแสดงออกอย่างทั่วถึง อันจะทำให้ประชาชนได้รับรู้กิจกรรมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในวงกว้าง และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรปรับปรุงก็คือ จำนวนของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งควรจะประกอบด้วยคนจากหลากหลายอาชีพ มากกว่าที่จะกำหนดแค่จากคน 3 กลุ่มใน พ.ศ. 2540 อาจจะเป็นสัก 20 หรือ 30 กลุ่มอาชีพ (ในครั้งที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2549 และได้เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยชั้นสูง ของสถาบันพระปกเกล้า ได้มีการศึกษาถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาตามสาขาอาชีพ เพื่อเตรียมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในรูปแบบใหม่ โดยจะสรรหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งได้จัดแบ่งกลุ่มอาชีพต่างๆ ไว้ราว 20 กลุ่ม อันเป็นที่มาของแนวคิดของสมาชิกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งใหม่ ตามที่ผู้เขียนได้เสนอมานี้) กลุ่มละ 2 - 3 คน เพื่อให้กระจายการมีส่วนร่วมไปในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย ส่วนในกลุ่มนักวิชาการและนักบริการจากภาครัฐก็ให้กระจายออกไปให้กว้างอีกเช่นกัน ไม่ใช่มีแต่นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และอดีตข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอาชีพและนักวิชาการทีเพิ่มขึ้นนี้ อาจจะให้ไปทำงานร่วมกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัด ในลักษณะของทีมที่ปรึกษา โดยอาจจะมีการลงพื้นที่ร่วมกันในบางครั้ง แต่ที่สำคัญคือการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังจะได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเชิงวิชาชีพและวิชาการให้แก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละจังหวัด รวมถึงบางจังหวัดที่มีประชากรมากหรือมีพื้นที่กว้างใหญ่ ก็จะได้มีการกระจายงานให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือและส่งเสริมกัน รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้าง "คุณค่า" อันสำคัญ คือ "การมีส่วนร่วม" แต่เพื่อที่จะเสริมคุณค่าอื่นๆ ให้มีมากขึ้น อย่างเช่น "ความรักความสามัคคีของคนในชาติ" การร่างรัฐธรรมนูญเชิงสมานฉันท์ ในรูปแบบของการทำงานร่วมกันจากคนที่มีภูมิหลังหลากหลาย และกระจายการทำงานร่วมกันในวงกว้าง ก็อาจจะนำไปสู่คุณค่าในเรื่องนี้ได้ รวมทั้งอาจจะใช้เวลาในกระบวนการร่างที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางนี้เพิ่มอีกสักหน่อย เช่น 1 ปี ก็อาจจะทำให้สังคมได้ใช้ช่วงโอกาสนี้แก้ไขปัญหาความร้าวฉานของคนในชาติร่วมกันไปด้วยได้ คสช.เรายังให้โอกาสมาตั้ง 5 ปี ขอโอกาสให้คนไทยสักปีเดียวจะไม่ได้หรือ