ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ต้นเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรม Book Club (Read for Change) ณ ร้านกาแฟอะนาโตมี่ (ใต้ตึกพรีคลินิก มอ.ปัตตานี) โดย “กลุ่ม Book Club” ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชาการ นักสื่อสาร และศิลปิน โดยการรวมกันของทุกคนเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ เชิงจิตอาสา ตั้งอยู่บนฐานความสนใจร่วม คือ อยากเห็นปาตานี/ชายแดนใต้ มีวัฒนธรรมสังคมแห่งการอ่าน ทำกิจกรรมกันบนต้นทุนและความร่วมมือเท่าที่มีอยู่ วาระแรกของการจัดกิจกรรมมีการพูดคุยกันในประเด็น “แชร์กันอ่าน (Why do you read?) นำไปสู่การร่วมพูดคุยเสวนาแลกเปลี่ยนว่าด้วย “วัฒนธรรมการอ่าน” ที่น่าสนใจในพื้นที่ชายแดนใต้ นั่นทำให้ผู้เขียนมีโอกาสติดตามมุมมองที่น่าสนใจหลากหลายมุมมองจากการเกิดกิจกรรมดีๆ ครั้งนี้ รวมถึงหวนรำลึกถึงเส้นทางชีวิตของชายหนุ่มแววตามุ่งมั่นคนหนึ่งที่ชื่อ “มูบารัค สาและ - Mubarad Salaeh” เด็กกลางห้องบุ๊คคลับที่พูดถึงกิจกรรมบุ๊คคลับในวันนั้นว่า “ถ้าจะพูดก็คงเป็นคำถามว่าทำไมเราจึงต้องอ่านหนังสือ ทำไมหนังสือที่เราเลือกหรือหนังสือที่เราชอบถึงบ่งบอกความเป็นเราได้ ส่วนที่อยากให้แก้ไขก็คงเป็นเรื่องของการเน้นย้ำประเด็นให้ชัดเจนกว่านี้ เราน่าจะใช้วิธีเลือกหนังสือมาเล่มหนึ่ง และเอามาถกเถียงกัน อะไรแบบนี้” มูบารัค สาและ เป็นเพียงตัวอย่างของคนรุ่นใหม่คนหนึ่งในพื้นที่ที่เผชิญปัญหาความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษ ในฐานะชาวนราธิวาสโดยกำเนิดที่มีความรัก ความฝัน ความมุ่งมั่น อนาคตบนเส้นทางการเขียนกำลังสดใส มีผลงานกวีตีพิมพ์ตามนิตยสารอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจ นอกจากเป็นเพราะเขาเป็นเสมือนตัวแทนความคิดของคนรุ่นใหม่แล้ว เขายังยอมรับตัวเองในฐานะคนป่วยที่ต้องต่อสู้กับโรคประจำตัวที่เรียกว่า “โรคจิตเภท” ชายหนุ่มคนหนึ่ง, จากความเป็นเด็กไม่เอาไหน เคยสอบได้ลำดับที่ 6 ของชั้นเรียนเมื่อศึกษาเล่าเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นความน่าภูมิใจเป็นนักหนา แต่เขากลับสะท้อนความรู้สึกอย่างมีนัยสำคัญว่า “มันมิได้มาซึ่งความยุติธรรม เพราะนั่นคือการลอก มิใช่ความมุ่งมั่นส่วนตัว” บทเรียนผิดพลาดเพียงครั้งนั้นครั้งเดียวที่เขาตระหนัก เมื่อเขารู้และเข้าใจ ต่อมาเขาก็ไม่เคยที่จะได้ 1 ใน 10 อันดับของชั้นเรียนอีกเลย หนำซ้ำ ยังได้ลำดับที่ท้ายของชั้นเรียนจนถึงจบประถมปีที่ 6 เลยทีเดียว เขายอมรับว่าผลการเรียนของเขาไม่เคยสวยหรูกว่าใครอื่น แม้แต่เรียนช่วงมัธยมก็อย่าวาดหวังจะไต่เต้าถึงเกรด 3.00 จนเมื่อเวลาผ่านพ้นช่วงเยาว์วัย ทางครอบครัวจึงตัดสินใจสนับสนุนให้เขาไปศึกษาเล่าเรียนต่อระดับมัธยมปลายที่มาเลเซีย ที่นั่นเอง ทำให้เขามีชีวิตอยู่กับตนเองมากขึ้น ด้วยคะแนนสอบผ่านได้หมด 5 วิชาเพื่อเป็นฐานต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เมื่อย่างกรายเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยช่วงชั้นปีที่ 1 ณ Multimedia University ในเมือง Cyberjaya ของเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียแล้ว สภาพสังคมซึ่งมีความแข่งขันสูงเป็นยิ่งนักส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้ก่อเกิดสภาวะโรคซึมเศร้าอยู่นาน 3 เดือน จนเมื่อได้กลับบ้านช่วงปิดเทอม ครอบครัวและพี่น้องจึงเห็นเขาเปลี่ยนไปจากเดิม ผ่านความเงียบไม่พูดกับใครใดอื่นทั้งสิ้น และกระทั่งโกรธโมโหเมื่อไม่พอใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เขาจึงถูกส่งตัวไปรับยาและรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพราะอาการ “ไม่ปกติ” ที่คนรอบข้างสัมผัสได้ ภาระของโรคซึมเศร้าที่เขาต้องแบกรับนั้น ทำให้ต้องลาออกจากรั้วมหาวิทยาลัยนาน 6 เดือน กระทั่งเมื่ออาการดีขึ้นจึงตัดสินใจเริ่มเรียนการศึกษาใหม่ ณ สถานที่ใหม่คือ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ซึ่งที่นั่นเองเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ สำหรับเขา ได้สัมผัสความหลากหลายของชนชั้น เก็บเกี่ยวประสบการณ์แปลกใหม่มากมาย และเมื่อครั้งมีงานมหกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เขามีโอกาสไปเดินเที่ยวสัมผัสที่นั่นเป็นครั้งแรก ได้รู้จักหนังสือมากมายที่ไม่เคยอ่านมาก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาเองก็ไม่ใช่นักอ่านด้วยซ้ำไป สุดท้ายจึงเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าเป็นวรรณกรรมหรือหนังสือสร้างสรรค์ หนังสือ 2 เล่มสำคัญที่ตัดสินใจควักเงินซื้อในครั้งนั้น หนึ่งคือหนังสือเรื่อง “คนนอก” ของ อัลแบร์ กามู และอีกหนึ่งคือ “ความฝันของคนวิกลจริต” โดย ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟกี ซึ่งเมื่อได้หนังสือมาแล้ว กลับอ่านด้วยความหดหู่กับเนื้อหาในหนังสือทั้ง 2 เรื่องที่ได้ละเลียดอ่าน ประกอบกับการแบกภาวะของโรคซึมเศร้าที่มีอยู่ จึงจมปลักกับตัวเองมากขึ้น ทบทวนในสิ่งที่เขาอ่านเป็นเช่นใด ยิ่งมีอิทธิพลต่อตัวตนมากขึ้น การอ่านมิได้เป็นเพียงความเพลิดเพลินสำหรับเขาอีกต่อไป หากทว่ายังทำให้มีจังหวะชีวิตอยู่กับตัวเองมากขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คิดทบทวนเพื่อลาอออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อแสวงหาสิ่งที่ใฝ่ฝันจะทำโดยแท้จริง ถึงแม้จะยอมรับว่าการศึกษาเป็นค่านิยมที่ทำให้ผู้คนยอมรับในระดับหนึ่ง ทว่าไม่ใช่สำหรับเขาแม้แต่น้อย หลังลาออกจากมหาวิทยาลัยได้เพียง 3 เดือน โรคเก่าๆ ก็แสดงอาการกำเริบซ้ำอีกครั้ง ขณะอยู่ในช่วงเวลาที่อยากหยุดยาด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งหมออีกต่อไป ทำให้คราวนี้เขาถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล มอ. นานถึง 55 วัน และที่นั่นเองก็ได้ก่อเกิดงานเขียนขึ้นมา โดยที่ตัวเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ลงมือเขียนคือ “บทกวี” ประเภทหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า “กวีไร้ฉันทลักษณ์” นั่นเอง เพราะช่วงผ่านทุกข์ผ่านหนาว ผ่านวันเวลาอันปวดร้าวกับความซึมเศร้าที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต ระยะเวลาที่พักฟื้นในห้องรักษาตัวจิตเวช เขามีโอกาสพบปะสนทนาผู้คนหลายชนชั้นหลากรูปแบบที่มีอาการทางจิตเวชลักษณะเดียวกัน แต่ละคนมีโรคประจำตัวแตกต่างกัน ต่อมา คำถามและคำตอบที่เก็บซับ ถูกเปลี่ยนผันประดิษฐ์ถ้อยเป็นบทกวีหลายชิ้นงานในช่วงเวลานั้น บ้างก็อ่านให้ผู้ป่วยคนอื่นฟังถึงความทุกข์เศร้า บ้างแลกเปลี่ยนความคิดถึงชีวิตที่หม่นหมองและความวาดหวังในอนาคต เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าตนเองไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนเหล่านั้นเลย ที่ต้องการระบายความเศร้าโศกที่หนักอึ้งอยู่ในจิตใจผ่านงานเขียนร่ายเรียงเป็น “กวีนิพนธ์” เมื่อรักษาอาการป่วยจนหายและออกจากโรงพยาบาล หรือ “โรงพยายาลบ้า” ในความคิดของเขา ความเศร้าหมองที่ได้รับมาเป็นแรมปีทำให้เขาประจักษ์ถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น เช่นที่เขาเปรียบเปรยเสมอว่า “ดั่งความรู้สึกที่ไม่อาจรู้รสชาติแสนอร่อยของแอปเปิ้ลผลดีๆ นอกเสียจากจะได้ลิ้มลองผลที่เน่าเปื่อยไร้รสชาติมาก่อน คล้ายกับชีวิตที่ว่าคนเรามุ่งเสพความสุขสบายจนลืมตัว ย่อมไม่อาจรู้ว่าคนที่มีความยากลำบากกับชีวิตมันแสนรันทดแค่ไหน หากเราไม่เคยมีชีวิตทั้งช่วงเวลา ตัวเราเองก็อาจจะยังหาความสุขสมหรือความพอดีในจิตใต้สำนึกของเรา” หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของเขา “ฉันมองดวงจันทร์ขึ้นในยามเช้า” มุ่งสื่อนัยยะว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักมองเห็นดวงจันทร์ยามค่ำคืน แต่เขากลับเห็นมันปรากฏชัดในยามเช้า เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งบอกกล่าวถึงด้านมืดของคน หรือด้านตรงข้ามที่มนุษย์ไม่รู้จัก ทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงอีกด้านหนึ่งของสังคมที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน หรือเป็นอีกด้านที่เลวร้ายเกินเยียวยา ก่อนจะเปิดตัวอีกเล่มตามมาในชื่อ “เจ็บปวดจึงเป็นกวี” ทั้ง 2 เล่ม เขาบอกว่าไม่ใช่กวีที่ถ่ายทอดออกมาจากปลายด้ามปากกาเท่านั้น หากแต่เป็นงานที่ขุดร่างออกมาในความเป็นธรรมของตัวตนด้วยเช่นกัน เส้นทางชีวิตของเขา “มูบารัค สาและ - Mubarad Salaeh” เป็นเพียงหนึ่งในภาพตัวอย่างสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนของคนรุ่นใหม่ที่ผ่านพ้นความเจ็บปวดรวดร้าว กระทั่งสร้างเนื้อหางานที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างชวนสนใจใคร่ติดตาม แต่กับอีกหลายคนที่ยังคงเผชิญปัญหาเลวร้ายอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จะมีใครอีกสักกี่คนที่สามารถนำพาตัวเองหลุดพ้นจากสถานการณ์ไม่พึงปรารถนาได้ ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่กดดันชีวิตนั้น - มีมากเหลือเกิน