พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ อันเนื่องมาจากบทความ “ในวันที่โรบินฮู้ดขวัญกระเจิง” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มิตรสหายผู้ประกอบการร้านอาหารไทยบางคนที่นี่ ตั้งข้อสังเกตเชิงการท้วงติงว่าการกล่าวถึง “ข้อเท็จจริง”เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารไทยในบางมุม อย่างเช่น ข้อเท็จจริงที่ว่า ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่ว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย (โรบินฮู้ด) ทำงานในร้าน เพราะสามารถจ้างด้วยค่าแรงถูกๆ ซึ่งเป็นการกดค่าแรง แรงงานไทยด้วยกันเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกาเสียภาพลักษณ์ ไหนๆ ก็คุยกันเรื่องนี้แล้ว สัปดาห์นี้ขอคุยต่อก็แล้วกันครับเพื่อมาดูกันว่า เสียภาพลักษณ์จริงหรือไม่ ยอมรับกันว่า ธุรกิจร้านอาหารไทย เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการเชื้อสายไทยนิยมทำมากที่สุดในอเมริกา ประมาณว่า ในเมืองใหญ่ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากที่สุดอย่างแอล.เอ.ประมาณว่ามีร้านอาหารไทยจำนวนหลายพันร้าน เฉพาะในบางพื้นที่ที่เป็นย่านคนไทย อย่างเช่น อีสต์ฮอลลีวูด มีร้านอาหารไทยแทบทุกมุมถนน มีแรงงานไทยนับหมื่นนับแสน(ล่ะมั้ง??) เรื่องจำนวนร้านอาหารไทย ไม่เคยหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้นับกว่าทศวรรษแล้ว เพราะหน่วยงานราชการของไทยที่มาประจำและถือเป็นตัวแทนของรัฐไทย ไม่เคยสำรวจอย่างจริงๆ จังๆ เสียที ท่านเหล่านี้อาจถือว่าภาระไม่ใช่ ครั้นเมื่อคราวจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลกรุงเทพก็เอาเจ้าของร้านอาหารไทย “บางคน”ที่นี่ซึ่งอยู่มานานเพื่อสมอ้างว่า ท่านได้ลงพื้นที่ไปสำรวจหรือไปคุยกับเขามาแล้ว ความจริงก็คือ เจ้าของร้าน “บางคน” ที่มีโปรไฟล์บนสื่อภาคภาษาไทยในอเมริกาเหล่านี้ เป็นตัวแทนของธุรกิจร้านอาหารไทยที่แท้จริงไม่ได้ หากต้องการสำรวจกันจริงๆ ก็น่าจะต้องทำให้ทั่วถึงครับ อย่าให้เหมือนเมื่อครั้ง “นโยบายครัวไทยครัวโลก”ที่ทำกันแบบสุกเอาเผากิน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังเป็นที่รู้กันในบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยทั้งฟากตะวันตกและตะวันออกของอเมริกาเป็นอย่างดี ผมใคร่จะขอฉายภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร้านอาหารไทยในอเมริกา เผื่อใครมีไอเดียเชิงนโยบายหรือเชิงธุรกิจเพื่อช่วยกันปรับปรุงพัฒนาทั้งธุรกิจร้านอาหารไทยและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหารเหล่านี้ ความนิยมของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในการจ้างโรบินฮู้ดหรือแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เป็นคนไทยด้วยกันว่าไปแล้ว เป็นดาบสองคม คมที่หนึ่ง เป็นคมดี หมายถึง แรงงานไทยได้โอกาสในการทำงานกับผู้ประกอบการคนไทยด้วยกัน แม้พวกเขาจะทำงานนอกระบบกฎหมายก็ตาม ซึ่งส่งต่อไปเป็นผลดีด้านเศรษฐกิจต่อครอบครัวที่เมืองไทย รายได้ของแรงงานไทยเหล่านี้ถูกส่งกลับไทยน่าจะปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท (ไม่มีหน่วยงานรัฐไทยหน่วยงานใดที่อยู่ที่นี่ทำการสำรวจ จำนวนตัวเลขรายได้ดังกล่าวจึงต้องคาดการณ์เอาเช่นกัน) หากผู้ประกอบการฯไทยไม่จ้างแรงงานเหล่านี้ พวกเขาก็จะหางานทำได้ลำบาก เพราะสถานประกอบการอเมริกันนิยมรับแรงที่มีใบทำงานถูกต้องตามกฎหมาย หาไม่แล้วผู้ประกอบการก็จะถูกลงโทษเสียเอง นอกเหนือไปจากธุรกิจพ่วงบางจำพวกที่อาศัยร้านอาหารไทยเป็นแหล่งสถิต เช่น คนทำความสะอาดครัว (Fire System) ตลอดถึง นักร้อง นักดนตรี ซึ่งเป็นแรงงานไทย คมที่สอง เป็นคมร้าย ดังที่ได้เรียนให้ทราบไปตอนที่แล้วก็คือ เมื่อไม่มีใบทำงาน แรงงานไทยเหล่านี้โดนกดค่าแรงจากเจ้าของร้านที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง เพื่อทำให้ต้นทุนของร้านต่ำที่สุด บางครั้งหากนายจ้างเอาเปรียบมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงาน “เสมือนทาส”ก็มี ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานไทยในอเมริกามานานหลายทศวรรษ ไม่ค่อยมีใครอยากพูดเรื่องนี้ แรงงานที่เป็นลูกจ้างเองก็ไม่อยากเปิดเผยตน ไม่อยากแจ้งทางการอเมริกัน (ทั้งๆ ที่สามารถทำได้ เพราะตม.อเมริกันทำงานแยกกับตำรวจในกรณีต่างด้าว ยกเว้นกรณีอาชญากรรม) เพราะตัวเองทำงานและอยู่อย่างผิดกฎหมาย กลัวตม.อเมริกันเนรเทศกลับเมืองไทย นอกจากนี้ “คมร้าย” อีกประการหนึ่งสำหรับแรงงานไทยที่ทำงานกับผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนไทยก็คือ โอกาสในการเพิ่มพูนพัฒนาทักษะด้านภาษา(อังกฤษ) แทบไม่มีเอาเลย การปฏิสัมพันธ์แต่เฉพาะคนไทยด้วยกันในร้าน ไปเช้าเย็นกลับ ทำให้พวกเขากลายเป็นแรงงานตกขอบ ทำดีล (Deal) ต่างๆ ที่ต้องสื่อสาร เช่น ธุรกรรม หรือข้อสัญญา ข้อกฎหมายต่างๆ กับบุคคลที่มิใช่คนไทยไม่ได้หรือไม่เป็น กลายเป็นแรงงานประเภทที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เสียเปรียบทางสังคมและมีความเครียดในการใช้ชีวิตสูง ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่น่าเห็นใจมากๆ การที่คนไทยส่วนใหญ่มีร้านอาหารไทยเป็นลมหายใจก่อให้เกิด “ธุรกิจนกต่อร้านอาหาร” ของกลุ่มคนมิจฉาชีพที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง กล่าวคือ มีธุรกิจนายหน้า รับทำหน้าที่ตัวแทนหรือนอมินี หลอกให้ผู้ลงทุน(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้องใหม่จากเมืองไทย) ลงทุนเปิดร้านอาหาร (แน่นอน...โดยใช้ชื่อนอมินี) ผู้ลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบกฎหมายอเมริกัน แต่อยากใช้ชีวิตในอเมริกาหรือนำสมาชิกของครอบครัวมาศึกษาในอเมริกา คิดเพียงว่าถ้ามีธุรกิจในอเมริกา ก็จะทำให้ได้สถานะของผู้มีถิ่นฐานถาวร(ใบเขียว) เร็วขึ้น ความจริงคือพวกเขาเข้าใจผิด การลงทุนด้านธุรกิจในอเมริกาด้วยเงินจำนวนหนึ่งตาม(ตามกฎหมายอเมริกัน) แม้มีส่วนทางอ้อมในการยื่นขอใบเขียว หากแต่ต้องใช้เวลานานและมีเงื่อนไขรายทางยุบยิบ ทำให้คนไทยน้องใหม่เหล่านี้ตกเป็นเหยื่อคนไทยหน้าเก่าที่นี่(ที่อยู่ถาวรแล้ว) ให้เงินเขาไปแล้ว ร้านก็ไม่ได้ เงินก็หาย หายทั้งโซ่ทั้งลิง เลยทีเดียว ถามปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐไทยที่นี่ทราบไหม? หน่วยงานของรัฐไทยจากกรุงเทพ อย่างสถานทูตไทย สถานกงสุลไทยทุกเมืองน่าจะทราบดี ส่วนพวกเขาจะช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ทราบพวกเขาไม่มีกลไกในการป้องกันและแก้ไข แถมยังโบ้ยให้เป็นเรื่องภายในของรัฐอเมริกัน ที่รัฐไทยไม่ควรเข้าไปยุ่ง ก้าวก่าย เรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดแต่มันเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว ภาพลักษณ์อันสวยหรูของสังคมหรือชุมชนไทยในอเมริกาก็ก็ดำเนินในลักษณะ “ซุกขยะไว้ใต้ผืนพรม”ต่อไป ส่วนหนึ่งดูได้จากปฏิกิริยาของสมาคมนักเรียนเก่าอเมริกาในเมืองไทย พวกเขาไม่เคยแง้มพรายเรื่องนี้ให้กระเทือนภาพลักษณ์ชุมชนไทยในอเมริกาเลย ทั้งนี้ อาจเพราะนักเรียนไทยส่วนใหญ่ที่มาศึกษาในอเมริกาเป็นชนชั้นสูง พ่อแม่เป็นผู้มีฐานะส่งมาเรียน พวกเขาจึงไม่สนใจรายละเอียดของ “ชุมชนไทยตกขอบ” ระหว่างการศึกษา เรียนจบแล้วก็แล้วกันไป ตอนกำลังเรียน พวกเขาอาจสนใจรับจ๊อบในร้านอาหารไทยเพื่อหาเงินเพิ่มบ้าง แต่ด้วยพื้นฐานที่มาของครอบครัวของคนเหล่านี้ ที่ไม่เคยประสบชะตากรรมทุกข์ยากใดๆ ในชีวิตมาก่อน ปัญหาของร้านอาหารไทยก็เลยถูกมองข้ามไปเช่นเคย