ทวี สุรฤทธิกุล การร่างรัฐธรรมนูญให้เกิด “ความรักความสามัคคี” คืออย่างไร ผู้เขียนขอเสนอ “กระบวนการ 4 เสาหลัก” หรือ “จตุสดมภ์เพื่อการสร้างรัฐธรรมนูญ” เพื่อใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดความรักความสามัคคี ดังต่อไปนี้ เสาหลักที่ 1 “มุ่งจุดหมายเพื่อความรักความสามัคคี” สิ่งแรกที่จะต้องทำให้ได้ภายหลังที่ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแล้วก็คือ การตั้งจุดมุ่งหมายของคนทั้งชาติว่า “เราจะสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อความรักความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติร่วมกัน” ด้วยการจัดทำเป็น “สัญญาประชาคม” เริ่มจากรัฐบาลที่จะต้องนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่รัฐสภา ให้มีมติเป็น “อุดมการณ์แห่งชาติ” ประกาศให้ประชาชนรับรู้ และร่วมทำสัญญาประชาคมแจ้งกลับมายังรัฐบาล การทำสัญญาประชาคมเพื่อให้กระบวนการกระชับและทั่วถึง อาจจะทำได้ด้วยการลงชื่อทางเว็บไซต์(อย่างในโครงการชิมช็อปใช้) หรือการจัดกลุ่มประชาคมให้ลงมติรับรอง จากนั้นรัฐบาลก็ส่งมอบให้แก่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ใช้สัญญาประชาคมนี้เป็น “กรอบ” ในการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป “สัญญาประชาคม” เป็นหลักการอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อกว่า 300 ปีที่ผ่านมา ด้วยกรอบคิดที่ว่า ประชาชนทุกคนคือที่มาของอำนาจในการปกครอง ผู้ปกครองเป็นเพียงคนที่ประชาชน “เลือก” หรือ “มอบหมาย” ให้มาทำหน้าที่ในการปกครองเท่านั้น นั่นก็คือผู้ปกครองต้องได้มาด้วยความยินยอมของประชาชน พร้อมกับการมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ความยินยอมและการมอบหมายนี้เป็นการตกลงร่วมกันของประชาชนทั้งชาติ ที่เรียกกันว่า “สัญญาประชาคม” (Social Contract - นักคิดคนสำคัญในแนวคิดนี้ก็คือ โทมัส ฮอปส์, จอห์น ล็อค และ ฌัง ฌาร์ค รุสโซ) ซึ่งได้ก่อให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” และ “ระบอบรัฐสภา” ที่แพร่หลายกันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่นำแนวคิดนี้มาใช้ในการปกครองประเทศ ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทุกฉบับที่ระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” เสาหลักที่ 2 “สงวนข้อขัดแย้ง-แสวงข้อเห็นชอบ” แน่นอนว่ามนุษย์นั้นมีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย บ้างก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นทางการเมืองการปกครอง ที่อาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นเป็นวิกฤติ อย่างในกรณีของประเทศไทยที่ก็อยู่ในวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวนี้มาโดยตลอด ดังนั้นในกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลัง(อาจจะ)มีขึ้นนี้ จำเป็นที่จะต้องวางหลักการของการลดความขัดแย้งขึ้นเสียก่อน ในเบื้องต้นก็คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะต้องกำหนดขั้นตอนในการออกไปปรึกษาหารือกับประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ทั่วถึง โดยไม่ควรแบ่งแยกว่าจะต้องประกอบด้วยฝ่ายไหนกลุ่มไหน ด้วยการจัดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันอย่างครอบคลุม หรือให้มีการจัดตั้ง “อาสาสมัครสมานฉันท์” เป็นตัวแทนของคนทุกหมู่เหล่า ให้ออกไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน พร้อมกันกับการสร้างสังคมของความเป็นมิตร เป็นญาติพี่น้อง และเป็นคนไทยร่วมแผ่นดินเดียวกัน โดยยึดคำขวัญ “อภัยอดีต สร้างสรรค์อนาคต” คือการสร้างประเทศไทยด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ร่วมกัน เสาหลักที่ 3 “การสื่อสารแบบเครือข่าย” เนื่องจากสังคมการสื่อสารยุคใหม่ค่อนข้างจะเป็นเอกเทศและอิสระต่อกัน แม้จะมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มากมาย แต่ก็มีลักษณะเป็น “กลุ่มเฉพาะความสนใจ” คือมักจะรวมกลุ่มกันเพราะมีแนวคิด หรือมีสังคม หรือมีการใช้ชีวิตที่คล้ายๆ กัน ยิ่งเป็นกลุ่มที่รวมกันด้วยความคิดทางการเมืองหรือการยึดตัวผู้นำ(ของแต่ละฝ่าย)ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกัน ดังนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะต้องสร้างให้มีเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารให้เปิดกว้าง พร้อมกับเร้าระดมทุกภาคส่วนในสังคม ให้เห็นความสำคัญของ “การสร้างชาติด้วยรัฐธรรมนูญ” เชื่อมโยงการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ที่อาจจะเรียกชื่อว่า “เครือข่ายรัฐธรรมนูญสร้างชาติ” (ในตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีเครือข่ายแบบนี้ ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย” ใช้สัญลักษณ์ “สีเขียวตองอ่อน” ทำการรณรงค์คู่ขนานไปกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ได้ผลที่ดีมาก) ซึ่งเครือข่ายนี้จะได้เป็น “พลังขับเคลื่อน” ช่วยทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนในทุกภาคส่วน อันเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการร่างรัฐธรรมนูญนี้ เสาหลักที่ 4 “สร้างตำนานให้ลูกหลานได้จดจำเป็นแบบอย่าง” การร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการสร้างชาติที่มีความสำคัญ ดังเช่นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส ที่ได้ผ่านกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญที่เข้มข้นมาอย่างยาวนาน ทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศ “ซาบซึ้ง” ในความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และทำให้การเมืองการปกครองของทั้งสองประเทศนี้มีความต่อเนื่องมาอย่างมั่นคง และในตำราเรียนของทั้งสองประเทศนี้ก็ให้ความรู้แก่เยาวชนให้ “เคารพและหวงแหน” รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นรากฐานของการเป็นพลเมืองดี และสร้างสรรค์การเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าตลอดมา ประเทศไทยก็มีประสบการณ์ในการสร้างชาติมานาน โดยทั่วไปจะเป็นวีรกรรมของพระมหากษัตริย์หลายๆ พระองค์ในยุคก่อน ซึ่งก็เน้นไปที่เรื่องของการรักษาเอกราชและอธิปไตย แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่น่าจะเป็นยุคของ “การสร้างชาติใหม่” ด้วยแนวคิดประชาธิปไตย ก็ยังไม่ปรากฏว่าผู้ใดคณะใดจะมีบทบาทอย่างเด่นชัดในเรื่องนี้ เพราะล้วนแต่ประสบความล้มเหลวมาทั้งหมด ดังนั้นถ้าการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ สามารถดำเนินการได้จนประสบความสำเร็จ คือสามารถทำให้ประชาธิปไตยของไทยมีความต่อเนื่อง ประชาชนในชาติมีความรักและความสามัคคี ก็ควรที่จะได้จดจำผู้คนทั้งหลายที่มีส่วนในการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดทำเป็นบทเรียนไว้ให้คนในรุ่นต่อๆ ไปได้จดจำ และด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ประชาชนคนไทยได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและอุตสาหะ จึงสมควรที่จะต้องยกย่องให้ “คนไทยทุกคน” คือ “วีรชน” ที่ควรแก่การยกย่องดังกล่าว บทเรียนแห่งวีรชนใดก็ไม่เหมือนกับบทเรียนที่คนไทยทุกคนได้ร่วมกันเขียนขึ้น จากการกระทำของพวกเขาทั้งหมดทั้งมวลนั้น