ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบ สำหรับปฏิกิริยาของคนชายแดนใต้ที่มีต่อการลงประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญ” และ “คำถามพ่วง” เนื่องจากประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่อีกหลายๆ จังหวัดที่เสียงส่วนใหญ่ “ไม่เห็นชอบ” ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ไปหลากหลายทิศทางและเหตุผล โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็น “ศาสนา” “การศึกษา” หรือ “การปกครอง” กระทั่งนำไปสู่เรื่องของ “ความมั่นคง” ในพื้นที่วิกฤติที่เกิดเรื่องราวความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างติดตามกระแสข่าวเรื่องนี้ ประจวบเหมาะที่ผู้เขียนเองได้รับหนังสืออภินันทนาการจากนิตยสารทางอีสาน ชื่อ “แก่นชีวิต ความคิดฝัน สนั่น ชูสกุล” บันทึกผลงานเขียนซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนความคิดฝัน อุดมการณ์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่อง “อีสานปกครองตนเอง” ซึ่ง สนั่น ชูสกุล นักคิด นักเขียน นักกิจกรรมทางสังคม เรียบเรียงให้เห็นถึงจุดอ่อนของ “ระบอบประชาธิปไตย” และจุดแข็งของการปกครองตนเองแบบ “ประชาธิปไตยชุมชน” มุ่งสะท้อนภาพว่า ระบอบประชาธิปไตยตัวแทน โดยแท้จริงคือระบอบของการสถาปนาอำนาจโดยชนชั้นนายทุน และเกิดขึ้นในยุคของการสร้าง “รัฐชาติ” เมื่อ 200 กว่าปีมานี้เอง เขาร่ายเรียงว่า หากนิยามของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เราก็สามารถกล่าวได้ว่า ชุมชนทั่วโลกมีระบบการปกครองตนเองมาแต่เดิมทั้งสิ้น เป็นหน่วยการปกครองตนเองที่เป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” หรือ “ประชาธิปไตยชุมชน” ก่อนมีการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมตะวันออกนั้นมีมานานหลายพันปี แต่ชนชั้นนำที่มีอำนาจกำหนดระบอบการปกครองของเราไม่เคยสำนึกว่า พื้นฐานชุมชนและสังคมบ้านเราก็เคยมีระบบการปกครองดั้งเดิมของเราเองอยู่แล้ว เป็นระบบที่คิดค้น สั่งสม ถ่ายทอดกันมา ปรับแปลงให้ทันยุคสมัยตลอดเวลาเช่นกัน สนั่นฯ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนจากรูปแบบการปกครองของชุมชนอีสาน โดยอรรถาธิบายว่า ตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งบ้านและเมืองในอีสานมีระยะทางห่างไกลจากเมืองหลวง การเข้ามาควบคุมดูแลจากเมืองหลวงอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดเป็นไปได้ลำบาก แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชน และแต่ละเมือง ล้วนต้องดิ้นรนดำเนินชีวิตไปด้วยตนเอง เพื่อให้อยู่รอดและมีความสงบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน อาจกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชุมชนอีสานดำรงอยู่โดยค่อนข้าง “อิสระ” และมีการจัดตั้ง “ระบบการปกครองตนเอง” ขึ้นมา ชุมชนยังได้สร้างระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพและพึ่งตนเองเพื่อการอยู่รอด บนฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อันอุดมสมบูรณ์ ผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่เป็นชนพื้นเมืองเดิมและที่อพยพเข้ามาสมทบใหม่ในภายหลัง ได้รวมตัวหล่อหลอมทางวัฒนธรรม จนผสมกลมกลืนเป็น “คนพวกเดียวกัน” ด้วยการกล่อมเกลาโดยอุดมการณ์ทางศาสนา ทั้งศาสนาพื้นบ้าน คือ ความเชื่อเกี่ยวกับผีที่มีมาแต่เดิม และศาสนาพุทธกับพราหมณ์ที่เข้ามาภายหลัง “ความเป็นหน่วยปกครองตนเองของชุมชนอีสานนั้น เรียกได้ว่าชุมชนอีสานมีระบบการปกครองตนเองแบบประชาธิปไตยมาแต่เดิม คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง เป็นหน่วยการปกครองตนเองที่เป็นประชาธิปไตยทางตรง” หากใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น “อำนาจนิติบัญญัติ” “อำนาจบริหาร” และ “อำนาจตุลาการ” ตามหลักประชาธิปไตยสมัยใหม่ มาพิจารณากลไกการปกครองระดับชุมชนของชุมชนอีสานในอดีต เขาเปรียบเทียบให้เห็นว่า ชุมชนมีระบบนิติบัญญัติ คือ การสร้างกติกา ข้อตกลงของชุมชน สร้างจากประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้กันภายในชุมชน หรือจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอยู่ตลอดเวลา กติกาข้อตกลงของชุมชนมักไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นกฎทาง “จารีตประเพณี” ด้านอำนาจบริหาร ความเป็นหน่วยสังคมขนาดเล็กของชุมชน ทำให้สมาชิกล้วนรู้จักซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าใครสามารถจะเป็น “ผู้นำ” ของพวกเขา และผู้นำด้านต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นด้วยการพิสูจน์ตนเองจนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกอื่นอย่างแท้จริง เช่น ผู้นำในการต่อสู้การคุกคามจากภายนอก ผู้นำทางด้านพิธีกรรมความเชื่อ ฯลฯ และอำนาจตุลาการ ชุมชนมีระบบการแก้ไขความขัดแย้งภายในที่ไม่ใช่คดีผิดต่ออาญาแผ่นดิน มีระบบการพิจารณาคดี หรือการตัดสินและการลงโทษ สิ่งตอกย้ำสำคัญประการหนึ่ง คือ ชาวอีสานมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมทุกชนิด ถึงเวลาที่จะต้องหันกลับมาทบทวนกันจริงจัง ใช้พลังศักยภาพที่มีอยู่ในการพัฒนาตนเอง ฟื้นระบบการปกครองตนเอง แสดงให้สังคมและรัฐเห็น “สิทธิชุมชน” ที่มีอยู่อย่างชอบธรรม โดยเส้นทางสร้างประชาธิปไตยแบบใหม่ ประชาธิปไตยชุมชน จะต้องทำสิ่งสำคัญ 4 ประการ คือ 1.ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเริ่มที่ชุมชน เป็น “ประชาธิปไตยชุมชน” รัฐต้องคืนอำนาจการปกครองตนเองให้แก่ชุมชน หลังจากที่รัฐได้ยึดสิทธิการปกครองตนเองนี้ไปยาวนาน การสร้างประชาธิปไตยของประเทศต้องเริ่มจากระดับหมู่บ้าน เช่นเดียวกับการสร้างเจดีย์ ต้องสร้างจากฐาน มิใช่สร้างจากยอด 2.อำนาจรัฐที่ต้องคืนให้ชุมชน คืออำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อำนาจในการวางแผนพัฒนาตนเอง อำนาจในการจัดเก็บภาษีในรายการที่ชุมชนควรจะทำเอง อำนาจในการจัดการศึกษา อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ อำนาจในการบริหารชุมชน ควรยุบเลิกหน่วยงานรัฐที่ไม่จำเป็น 3.สิ่งที่ชุมชนทำเองได้เลยและต้องเริ่มทำทันที คือการรวมกลุ่มแก้ปัญหา เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน ร้านค้า สหกรณ์ ป่าชุมชน แหล่งน้ำชุมชน เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนที่ไม่ถูกครอบงำโดยรัฐ การฟื้นฟูจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม แล้วค่อยๆ ขยายผลไปใช้สิทธิ์ยกระดับให้สูงขึ้น โดยสร้างการยอมรับและความร่วมมือ การมีส่วนร่วมจากภายนอก อีกด้านหนึ่ง ต้องมีการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามจากภายนอก ไม่ให้ทำลายศีลธรรมที่ดีงามและแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ปกป้องฐานทรัพยากรและระบบศีลธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่กำลังถูกแย่งชิงคุกคาม 4.สำหรับประชาธิปไตยตัวแทน เป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อการจัดการระดับประเทศ เราจะไปเลือกตั้ง แต่ต้องเรียกร้องต่อสู้ให้มีอำนาจและผลประโยชน์อยู่ที่อำนาจรัฐส่วนกลางน้อยที่สุด มีระบบกฎหมายที่แข็งแรง และมีระบบการตรวจสอบที่ดีที่สุด ห้วงที่ทิศทางประเทศไทยกำลังก้าวเดินไปสู่การคลี่คลายของ “ระบอบประชาธิปไตย” แบบไทยๆ หลังผ่านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอย่างท่วมท้น และขณะมีข้อถกเถียงประเด็นปฏิกิริยาคนชายแดนใต้ที่มีต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนจึงขออนุญาตหยิบยกประเด็นเรื่อง “อีสานปกครองตนเอง” ของ สนั่น ชูสกุล มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นข้อเปรียบเทียบ หรือสะท้อนภาพความจริงให้ได้เห็นอะไรๆ หลายอย่างกันมากขึ้น ช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย