ทวี สุรฤทธิกุล รัฐธรรมนูญที่เขียนบนหัวใจของประชาชนคืออย่างไร? การเขียนรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงแค่เขียนให้ประชาชนอ่านแล้ว “เข้าใจ” หรือ “สนใจ” แต่ต้อง “กินใจ” หรือ “ประทับใจ” คือมีความซาบซึ้งและเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการเขียนรัฐธรรมนูญยุคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนได้สัมผัสกระบวนการต่างๆ อย่างใกล้ชิด และให้มีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นไปตลอดกระบวนการ ดังที่ได้นำเสนอมาในเรื่องของ “กระบวนการ 4 เสาหลัก” หรือ “จตุสดมภ์เพื่อการสร้างรัฐธรรมนูญ” เมื่อสัปดาห์ก่อน ต่อจากกระบวนการอันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดนั้นแล้ว เรื่องที่สำคัญต่อมาก็คือ “เนื้อหา” ซึ่งก็ต้องเริ่มจาก “อุดมการณ์แห่งชาติ” ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้แล้วว่า ให้รัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นต่อนั้น เป็น “รัฐธรรมนูญเพื่อความรักและความสามัคคี” ซึ่งอุดมการณ์หรือกรอบแนวคิดนี้จะเป็นที่มาของ “วางกรอบเนื้อหา” ที่ควรจะมีอยู่ 5 กรอบใหญ่ๆ ดังนี้ หนึ่งคือ เขียนด้วยความเข้าใจว่า “คนไทยต้องการอะไร” ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่คลุกคลีกับการเมืองไทยมากว่า 40 ปี และด้วยอาชีพที่เป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์มากว่า 30 ปี ได้เรียนรู้ พบเห็น และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเมืองไทยมาพอสมควร อาจจะพอที่จะ “ตกผลึกความคิด” ได้บางส่วนว่า ถ้าจะให้จัดลำดับความต้องการของคนไทยสัก 3 อันดับ อันดับแรกก็น่าจะเป็น “ประเทศชาติที่มีความสงบสุขและความเจริญก้าวหน้า” อันอันดับที่สอง “รัฐบาลที่บริหารประเทศด้วยความซื่อสัตว์สุจริตและมุ่งสู่ประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า” และอันดับที่สามก็คือ “สังคมที่มีความรักความสามัคคีและเอื้ออาทรต่อกัน” อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะต้องเริ่มจากการหาคำตอบว่า “คนไทยต้องการอะไร” ก็ควรที่จะได้มีการออกรับฟังเสียงประชาชน ด้วยการกำหนดความต้องการกลางขึ้นสัก 10 อย่าง แล้วให้คนไทยจัดวางอันดับตามความคิดเห็นของแต่ละคน ก็น่าที่จะได้ “ประชามติ” ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งประชามติที่ได้นี้ก็จะได้นำมาใช้เป็นกรอบที่จะเขียนเป็นรายละเอียดในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นที่ในประเทศฝรั่งเศสก็ได้ใช้แนวทางนี้ในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากการจัดทำ “ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789” ที่มีหลักการสำคัญว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาคเท่าเทียมกัน” ซึ่งก็ยังยึดถือหลักการนี้มาจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ คือฉบับ ค.ศ. 1958 สองคือ เขียนให้คนไทยมองเห็นอนาคตของ “การเมืองที่ดีงาม” ซึ่งจะขอยกตัวอย่างกรณีการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะประกาศเป็นเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1778 ก็เริ่มจากบรรดาผู้นำของมลรัฐต่างๆ ได้มาร่วมให้สัตยาบัน คือทำสัญญาร่วมกันว่าจะสร้างชาติด้วยกันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้นำเหล่านี้ได้ร่วมกันดำเนินการก็คือการออกไปโน้มน้าวในการพบปะกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่า จะนำ “ประเทศใหม่” ไปสู่สังคมที่ดีงามอย่างไร อนาคตของคนอเมริกันจะมี “ชีวิตที่ดีกว่า” อย่างไร ด้วยการ “วาดภาพฝัน” ให้คนอเมริกันเห็นว่า การที่ทุกคนมีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียม จะก่อให้เกิดการสร้างตนเองให้มีความสุขและมั่งคั่ง และรัฐบาลจะสนับสนุนประชาชนให้มีความสุขและมั่งคั่งนั้นได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วย “ความมุ่งมั่นอย่างสุจริตใจ” ของบรรดาผู้นำ ที่ทำให้ประชาชนเชื่อถือศรัทธา จนทำให้เกิดความร่วมมือและนำไปสู่การสร้างชาติสหรัฐอเมริกาให้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีของประเทศไทย เรามีปัญหาในเรื่อง “ผู้นำ ผู้ปกครอง และนักการเมือง” เป็นปัญหาใหญ่ เพราะเรามีผู้นำ(หมายถึงผู้นำทหาร ผู้นำข้าราชการ และผู้นำนักการเมือง)ที่ “ไม่ดี” เสียส่วนใหญ่ และด้วยผู้นำที่ไม่ดีเหล่านั้นก็ทำให้ได้ผู้ปกครอง(หมายถึงรัฐบาล ข้าราชการ และนักการเมือง)ที่ “ไม่ดี” ตามไปด้วย หรือในทางกลับกันผู้ปกครองนั้นก็อาจจะเป็นคนที่ “ไม่ดี” อยู่แล้ว แล้วก็พาให้ผู้นำต้องเป็นคนไม่ดี หรือร่วมกันสร้างความไม่ดีงามทั้งหลายให้เกิดขึ้นกับการเมืองการปกครองไทยมาโดยตลอด ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องนี้ก็คือกระบวนการปฏิรูปการเมืองจนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็รณรงค์ให้เห็นถึงปัญหานี้ ด้วยคำขวัญที่ว่า “คนดี ระบบดี บ้านเมือง(ก็จะ)ดี” ซึ่งก็หมายความว่าคนไทยต้องการ “การเมืองที่ดีงาม” นั่นเอง สามคือ เขียนให้คนที่จะมาปกครองคนไทยรู้ว่า “คนไทยต้องการผู้ปกครองแบบใด” ข้อนี้จะสืบเนื่องมาจากข้อสองก็คือ คนไทยต้องการผู้ปกครองที่ดี นั่นก็คือทั้งผู้นำ รัฐบาล ข้าราชการ และนักการเมืองจะต้องเป็น “คนดี” ซึ่งรัฐธรรมนูญเองแม้จะเขียนไว้ให้มีสิ่งดีๆ มากแค่ไหน แต่ถ้าผู้คนที่ใช้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ “ผู้มีอำนาจ” ทั้งหลายนำไปใช้ในทางไม่ดี ก็คือไปทำลาย “ระบบดีๆ” ที่วางไว้เสียแล้ว (อย่างกรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาจัดวางกลไกและโครงสร้างต่างๆ ไว้ดีมาก ก็พังทลายไปด้วยนักการเมืองที่ไม่ดีจำนวนหนึ่ง ที่พลิกแพลงหาช่องทางใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง) สิ่งดีๆ ที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นก็มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ยาก ผู้เขียนขอยกกรอบในการเขียนรัฐธรรมนูญอีกสองกรอบที่เหลือไปอธิบายในสัปดาห์หน้า นั่นก็คือกรอบข้อที่สี่ คือการเขียนให้เป็น “ศาสนาทางการเมืองการปกครอง” ที่คนไทยศรัทธาและเลื่อมใส และกรอบข้อที่ห้า คือการเขียนให้คนทั้งโลกรู้ว่าการปกครองของไทยคือ “ตัวอย่างที่ดีของการสร้างสังคมมนุษย์” ซึ่งผู้เขียนเรียกกรอบทั้งห้านี้ว่า “หลักปัญจศีลของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย” เพราะด้วยกรอบทั้งห้านี้จะช่วย “กำกับและชี้ทาง” ให้แก่สังคมไทย ในการมองปัญหาต่างๆ ทางการเมืองการปกครองอย่างถูกต้องชัดเจนร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ตามที่คนไทยปรารถนา และร่วมกันเสริมสร้างรักษาให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป เฉกเช่นข้อปฏิบัติหรือศีลของทุกศาสนาที่กำกับชีวิตมนุษย์ให้ก้าวหน้าและดีงามนั้น