ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล สองสัปดาห์ติดต่อกันที่ได้กล่าวถึง “แนวทางและความคิด” ในการ “กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ” ที่มีทั้ง “การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ-การปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์-การสร้างความสามัคคีปรองดอง” ที่เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” “ความสามัคคีปรองดอง” น่าจะเป็นประเด็นที่ห่วงใยที่สุด เนื่องด้วยเป็นกรณีที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะว่า “คนยาก-คนจน” มีเป็นจำนวนมากน่าจะประมาณ 48 ล้านคนที่มี “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ทั้งด้านเงินในกระเป๋า ทรัพย์สิน หนี้สิน การศึกษา คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ที่บางคนมีแต่ฝาบ้านที่มีรูโหว่ ส่วนหลังคานั้นก็มีรูรั่วตลอด ซึ่งมิใช่มีเพียง 100-200 ครอบครัว แต่มีนับพันนับหมื่นหรืออาจนับแสนครอบครัวทีเดียว ไม่ว่าในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ทั่วไทย หรือแม้กระทั่งชาวชนบทที่ต้องยอมรับว่า “ยากจน” มาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น มีประชาชนที่ยากจนที่อยู่ในระดับล่างจำนวนมาก ที่น่าจะมีรายได้ต่ำกว่า 50 บาทหรืออาจน้อยกว่าต่อวัน หรือสูงสุดไม่น่าจะเกิน 100 บาท หรือ 3,000 บาทต่อเดือน ถ้าคนเดียวอาจอยู่ได้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า “อเน็จอนาจมาก!” หรือถ้าจบปริญญาตรีเงินเดือนน่าจะประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป ถ้ามีคู่หรือสามีภรรยาก็ประมาณ 30,000 บาท ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็น่าจะเช่าอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ หนึ่งห้องนอนได้ และอาจผ่อนรถเล็กๆ ได้หนึ่งคัน แต่ชีวิตน่าจะอัตคัด และถ้ามีลูกอีกเพียงหนึ่งคนรับรองว่า “อยู่อย่างประชาบาล!” หรือหมายความว่า “อยู่แบบชีวิตไม่มีคุณภาพ!” ถ้าจะมีชีวิตที่มีคุณภาพมากกว่านี้ ต้องมีรายได้อย่างต่ำคนละไม่ต่ำกว่า 20,000 กว่าบาท ที่สามารถอยู่คนเดียวได้แบบอยู่คอนโดมีเนียมชนิด “สตูดิโอ” คือห้องเล็กๆ ห้องเดียวมีครัว ห้องนั่งเล่นและเตียงนอนพร้อมห้องน้ำในห้องเดียวประมาณ 18-20 ตารางเมตรเท่านั้น รยยนต์เล็กไม่ต้องพูดถึง ต้องอาศัย “ขนส่งมวลชน” เท่านั้น แต่ความหวังของชาวกรุงเทพฯ น่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อรัฐบาลเร่ง “โครงการขนส่งมวลชน” ด้วย “ระบบราง” ที่มีทั้ง “ระบบรางคู่” และ “ระบบรถไฟความเร็วปานกลาง” ซึ่งก็คือ “ระบบรถไฟ” นั่นเอง ที่จะมีมากมายหลากหลายสีเชื่อมโยงการเดินทางตั้งแต่ในกลางกรุงเทพฯไปจนรอบๆ ชายแดนกรุงเทพมหานคร ที่จะตรงเวลา ประหยัด และสะดวกสบาย ซึ่งแน่นอนอีกไม่น่าจะเกิน 3-5 ปีข้างหน้าที่ชาวกรุงเทพฯ จะได้ใช้บริการ! ส่วน “ระบบขนส่ง : มอเตอร์เวย์” น่าจะเสร็จประมาณ 3 ปีข้างหน้า เอาเฉพาะเป็นช่วงวงแหวนรอบกรุงเทพฯ ไปจนถึงจังหวัดใกล้เคียงระยะทางประมาณ 150-200 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ อาทิ “กทม-หัวหิน-กทม.-นครสวรรค์-กทม.-โคราช” เป็นต้น ทั้งนี้การสร้าง “ระบบรถยนต์ทางด่วน” นั้จะสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นกับเมืองสำคัญต่างๆ รอบกรุงเทพฯ ในระยะทาง 200 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งหมายความว่า จะทำให้ประชาชนกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เดินทางด้วยระบบรถไฟหรือขับรถยนต์สู่มหานคร จะคล้ายๆ กับกรุงโตเกียวหรือมหานครนิวยอร์ค หรือเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก นั่นคือ ความหวังในการสร้างความเจริญให้กับกรุงเทพฯ และเมืองแซทเทิ้ลไลท์ (SATELLITE) โดยราคาที่อยู่อาศัยจะถูกกว่าในกรุงเทพฯ และที่สำคัญจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ปัญหาความยากจนนอกเหนือจาก “การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน” ที่เน้นในกรณีคมนาคมก่อนตามด้วยระบบอินเตอร์เน็ตภายใน 5 ปี ดังที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดหวังไว้ว่า “สังคมดิจิตัล 5 ปี” ที่ต้องเกิดขึ้นกับประเทศไทย “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)” แนะเอเชียในฐานะภูมิภาคที่มีตลาดเกิดใหม่ผุดขึ้นมากมาย ต้องใช้เงินลงทุน “โครงสร้างพื้นฐาน” ทั้งด้านคมนาคม เน็ตเวิร์ก ตลอดจนสาธารณูปโภค เป็นจำนวนราว 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 907 ล้านล้านบาท)  นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2030 หรือปีละ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60 ล้านล้านบาท) เพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้คงอยู่ และเพื่อกำจัดความยากจนในภูมิภาค รวมถึงรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย” เปิดรายงานในวันอังคารที่ผ่านมา ชี้ว่าภูมิภาคเอเชีย ต้องการการก่อสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” จำนวนมาก รวมถึงการยกระดับโยธาสาธารณะ โดยชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียควรมีการลงทุน “ด้านพลังงาน” เป็นจำนวน 14.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุน “ด้านคมนาคม” 8.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุน “ด้านโทรคมนาคม” 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ “ลงทุนแหล่งน้ำสะอาด” รวมถึง “สุขอนามัย” 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนดังกล่าวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิภาคที่ต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดคือ “เอเชียตะวันออก” ซึ่งน่าต้องใช้งบประมาณราว 61% จากทั้งหมดที่เอดีบีประเมินไว้  และสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต่างๆ จากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ต่างมีนโยบายสอดคล้องกับการคาดการณ์ของเอดีบี โดยพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศของตัวเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนมักจะเกิดจากนายทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่และมีแข่งขันกันมาโดยตลอด  ถามว่า “การลงทุนภาครัฐ” นั้น น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ภาครัฐบาลต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ “คมนาคม” ให้มากที่สุด ซึ่งรับประกันว่า “เกิดแน่นอน!” เพียงแต่ว่าอาจใช้เวลานานในการก่อสร้างอาจ 8-12 ปีขึ้นไป ถ้ารัฐบาลใหม่มีการเปลี่ยนแปลง "โครงการ" เราจะทำกันอย่างไร กรณีนี้ต้องกำหนดบทลงโทษไว้ในรัฐธรรมนูญ!