ทวี สุรฤทธิกุล “ชาติ” คือคนที่รวมตัวกันเป็นประเทศๆ หนึ่ง ในตำรารัฐศาสตร์ “ชาติ” (Nation) มีองค์ประกอบ 4 ส่วน ได้แก่ ประชากร (Population) คือผู้คนที่มาอยู่รวมกัน ดินแดน (Boundary) คืออาณาเขตที่มีเขตแดนแน่นอน รัฐบาล (Government) คือผู้ปกครองที่มีอำนาจตามกฎหมาย และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) คือความเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำโดยชาติอื่น ลัทธิชังชาติ (Anti-patriotism) เกิดขึ้นในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแนวคิดที่ “ต่อต้านความรักชาติ” ด้วยเห็นว่าการแสดงความรักชาตินำมาซึ่งการทำสงคราม ความรักชาติเหล่านี้รวมหมายถึงการสร้างกำลังกองทัพ การเกณฑ์ประชาชนให้ไปเป็นทหาร และการปกครองที่นำโดยนายทหารหรือคณะนายทหาร ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธินี้ได้นำมาสู่การเดินขบวนต่อต้านสงคราม และต่อต้านการปกครองโดยระบอบทหาร รวมถึงระบอบเผด็จการและผู้ปกครองที่คิดสืบทอดครอบงำอำนาจ สำหรับประเทศไทย เราเคยมีการเดินขบวนต่อต้านระบอบทหารมาหลายครั้ง ที่เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญๆ ก็เช่น ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อการประท้วงการเลือกตั้งในครั้งนั้น ที่ว่ากันว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด เนื่องจากกลุ่มนายทหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการที่จะครอบครองอำนาจปกครองประเทศไทยต่อไป จึงทำการโกงเลือกตั้งทุกรูปแบบอย่างโจ๋งครึ่ม กระทั่งนำมาสู่การทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปลายปีนั้น อีกครั้งหนึ่งก็คือในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 แล้วลุกลามเป็นการขับไล่เผด็จการทหาร อันนำมาสู่เหตุการณ์วันมหาวิปโยคในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และครั้งหลังสุดในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ประชาชนและนักการเมืองกลุ่มที่ต่อต้านระบอบทหาร ได้เดินชบวนขับไล่รัฐบาลที่นำโดยนายทหารจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (รสช.) แต่ในทั้งสามครั้งนี้ยังไม่มีการกล่าวหาว่ากลุ่มคนที่ต่อต้านทหารนั้นเป็น “พวกชังชาติ” แต่อย่างใด ในประเทศไทย คำว่า “ชังชาติ” เพิ่งจะมาได้ยินจากปากของนักการเมืองในฟากฝ่ายของรัฐบาลเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีการแถลงข่าวว่าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกำลังเผยแพร่ลัทธิชังชาติ ด้วยการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร การโจมตีผู้นำรัฐบาล และพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันในการ “จัดการ” กับ “พวกชังชาติ” เหล่านี้ หลายคนอาจจะมองมุมเดียวกันกับรัฐบาล ที่มองว่าการต่อต้านทหารและรัฐบาลนั้นคือ “พวกชังชาติ” แต่การ “เหมารวม” ว่า ทหารคือชาติ หรือรัฐบาลคือชาติ ออกจะเป็นการมองมุมแคบไปสักหน่อย เพราะถ้าพิจารณาจากความหายของคำว่า “ชาติ” ที่ยกมาในตอนต้น ก็จะเห็นว่าถ้ามีความคิดที่ชังชาติจริงๆ แล้ว จะต้องเป็นการชังประชาชนด้วยกันทั้งหมด รวมถึงการต่อต้านการมีรัฐบาล หรือการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งในทางรัฐศาสตร์จะเรียกแนวคิดนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “อรัฐนิยม” หรือ “อนาธิปไตย” การกล่าวหาคนบางกลุ่มว่าเป็นพวกชังชาติก็เหมือนกับการสร้างแตกแยกในสังคม ซึ่งในอดีตเราเคยใช้วาทกรรมแบบนี้กับคนบางกลุ่มมาแล้ว ดังเช่นภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทหารที่สูญเสียอำนาจไปได้พยายามที่จะกลับคืนสู่อำนาจ ด้วยความพยายามทั้งนอกและในสภา โดยในสภา ทหารได้แทรกซึมเข้ามา “ยุให้รำตำให้รั่ว” ผ่านบรรดานักการเมืองและ ส.ส.อกหัก โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ที่เรียกกันในยุคนั้นว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” โดยมีการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้ออกมาร่วมกับฝ่ายค้าน ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นที่นำโดยพรรคกิจสังคมก็ทราบดี ที่สุดก็ต้องมีการยุบสภาแล้วมีเลือกตั้งใหม่ กระนั้นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะนอกสภาทหารก็ปลุกกระแสคอมมิวนิสต์โจมตีขบวนการนิสิตนักศึกษาและปัญญาชน ไม่เว้นแม้แต่นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็มี ส.ส.และรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่หลายคน แล้วการสร้างความเกลียดชังคอมมิวนิสต์ก็ประสบความสำเร็จ โดยทหารได้เข้าทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ว่าหลังจากนั้นรัฐบาลที่เป็นหุ่นเชิดของทหารก็ยังคงใช้นโยบาย “ชังกันและกัน” ดังเดิม อันทำให้มีนักศึกษา ปัญญาชน รวมถึงนักการเมืองด้วยนั้นจำนวนหลายคนต้องหนีเข้าป่า กลายเป็นสงครามระหว่างคนไทย รวมทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตผู้นำทหารและเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินต้องปิ๋วจากตำแหน่งภายหลังที่มีเลือกตั้งได้ไม่ถึงปี ก็ด้วยการที่ไม่สามารถประสานรอยร้าวในทางสังคมนั้นได้ แต่พอได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ใช้นโยบาย 66/2523 ทันทีหลังจากที่รับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็ช่วยทำให้สังคมไทยคืนสู่ “สมานภาพ” คือเชื่อมรอยร้าวของสังคมไทยนั้นได้ แนวคิดการแบ่งแยกคนไทยนี้มารุนแรงขึ้นอีกครั้งในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีคนดังหนีคดี ซึ่งจัดตั้งประชาชนสีหนึ่งขึ้นมาต่อสู้กับประชาชนอีกสีหนึ่ง กระทั่งต้องมีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ในปี 2549 กับ 2557 นั้น แต่กระนั้น “สงครามแห่งความแตกแยก” ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป เพราะรัฐบาลทหารทั้งสองชุดนั้นต่างก็ “ปัสสาวะไม่สุด” คือไม่สามารถจัดการเชื่อมรอยร้าวในสังคมไทยนั้นกลับคืนมาได้ และยิ่งเป็นที่น่าเศร้าใจเมื่อรัฐบาลที่เป็นการสืบทอดอำนาจของทหารกลุ่มเดิมผ่านระบบการเลือกตั้งที่ค้ำจุนด้วยรัฐธรรมนูญที่ถูกควบคุมให้ร่างขึ้นเพื่อการนี้ ก็ยังใช้แนวคิดเดิมๆ คือการสร้างความเกลียดชังกันและกัน โดยพยายามที่จะเข้าจัดการกับคนที่มีความเห็นต่าง ด้วยข้อกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นเป็นพวก “ชังชาติ” ซึ่งก็คงจะสร้างปัญหาแก่สังคมไทยนี้อย่างรุนแรงมากขึ้น ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต การเกลียดชังทหารไม่ใช่การชังชาติเสียทั้งหมด เว้นแต่ว่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการทำลายล้างบางสถาบันของชาติ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรจะได้ชื่อว่าเป็นพวก “ชั่วชาติ” เสียมากกว่า