ทวี สุรฤทธิกุล ในฝันฉันเห็นสภาล่ม เรือเหล็กจ่อมจมเครื่องยนต์ไหม้ ทั่วถนนร้องหาประชาธิปไตย นายกฯคนใหม่ยังไม่มีฯ หลายคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะพวกที่อยากเห็นการเมืองไทย “ดีกว่าเดิม” ต่างก็บ่นว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะยังใม่เห็นจะมีใครมาแทนที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นี้ได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผิดบาปอะไรของพลเอกประยุทธ์ แต่ตามกติกาประชาธิปไตยนั้น อำนาจต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนได้ แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ “ท่าน” กำหนดให้การเมืองไทยต้องอยู่ใน “ภาวะเปลี่ยนผ่าน” โดยต้องการให้มีการ “ประคับประคอง” ระบบการเมืองให้เป็นไปในสภาพที่ “สงบเรียบร้อย” ไปอีกสักระยะ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 5 ปี แต่ดูเหมือนว่าอาจจะมีอะไรที่ “เปลี่ยนผ่าน” เข้ามาอีกหลายสิ่งหลายอย่างโดยที่เราไม่คาดคิด แล้วก็จะทำให้รัฐบาลภายใต้การกำกับของทหารชุดนี้ยังต้องอยู่ไปอีกนาน ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดไว้ก่อนและหลังปีใหม่ เมื่อวันศุกร์สิ้นปี ที่มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้มีการประชุมกรรมการชุดใหญ่ แล้วภายหลังการประชุมก็มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งผู้เขียนก็เป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง ระหว่างรับประทานอาหารมีกรรมการท่านหนึ่งถามผู้เขียนว่า การเมืองปีหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งผู้เขียนก็ตอบว่าคงเป็นไปแบบเดิม รัฐบาลก็คงจะประคับประคองกันไปได้ ทหารก็ยัง “ต้อง” ให้การคุ้มครองรัฐบาลต่อไป ฝ่ายค้านก็มือใหม่หัดขับ แต่ที่สำคัญถึงจะล้มรัฐบาลนี้ได้ ก็หาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ระหว่างนั้นก็มีเสียงพูดขึ้นที่หัวโต๊ะว่า “มีสิ ก็ต้องคุยกับทหารนั่นแหละ” ผู้เขียนนำคำพูดนั้นมาขบคิดอยู่หลายวัน จนพอที่จะปะติดปะต่อ “ความเป็นไปได้” ของการที่จะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใต้วลีที่ว่า “ก็ต้องคุยกับทหารนั่นแหละ” ว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ ดังนี้ ลำดับแรก รัฐบาลชุดนี้เกิดมาได้จากทหาร ทั้งจากตัวนายกรัฐมนตรีเองที่เป็นผู้บังคับบัญชาทหาร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อครั้งที่ทำการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยทหารตั้งตัวเองเป็น “องค์อธิปัตย์” หรือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครองในชื่อที่เรียกว่า “คสช.” จากนั้นทหารก็ควบคุมกลไกทางการเมืองต่างๆ อย่างเบ็ดเสร็จ จนถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่ยังคงอำนาจ คสช.และทหารไว้อย่างแน่นหนา ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะการให้อำนาจ ส.ว.ปกป้องคุ้มครองการบริหารประเทศให้กับรัฐบาล ตั้งแต่ที่เอาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ได้เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง รวมทั้งแต่งตั้งทหารและบุคคลที่ คสช.ไว้วางใจให้เข้าไปเป็น ส.ว.อีกในส่วนที่เหลือนั้น โดยให้กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ว.นี้คอยกำกับควบคุมด้วย นั่นก็คือถ้าจะมีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีก็ต้อง “ฝ่าดง”บรรดา ส.ว.ผู้ภักดีเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน ดังนั้นถ้านายกรัฐมนตรียังมี “บารมี” มากอยู่ คือยังเป็นที่เคารพรักและยำเกรงของบรรดานายทหาร รวมถึง ส.ว.ทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรีก็จะยังอยู่ในตำแหน่งได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้านายกรัฐมนตรี “เสื่อมบารมี” เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิดฝ่ายค้านหาหลักฐานมามัดเอาผิดส่งฟ้องนายกรัฐมนตรีได้ ทหารและ ส.ว.ก็คงจะอึดอัดและลำบากใจที่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มีความมัวหมอง และยิ่งถ้ากระแสสังคมเห็นชอบและเชื่อในข้อมูลของฝ่ายค้าน จนเป็นกระแสต่อต้านลุกลามใหญ่โต ซึ่งอาจจะไม่ใช่ม็อบที่ออกมาบนท้องถนน แต่เพียงแค่ความเกลียดชังนี้กระหึ่มอยู่ในโซเชียล ก็ยากที่ “ผู้ใด” จะให้ความคุ้มครอง ทหารก็จำเป็นจะต้องหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อไม่ให้สถาบันกองทัพต้องเสื่อมทรุดมัวหมองไปด้วย (ว่ากันว่าใน พ.ศ. 2523 การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นไปภายใต้สภาวการณ์แบบนี้) ลำดับต่อไป ถ้านายกรัฐมนตรีเอาตัวรอดในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ แต่ถ้าสภายังมีความวุ่นวาย “ปัญหางูเห่าและไร่กล้วย” ได้สร้างวิกฤติให้แก่รัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีปัญหาในเรื่องการยกมือรับรองงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือมีการปรับคณะรัฐมนตรี ที่อาจจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลมากขึ้น จนสภาไปไม่รอด นายกรัฐมนตรีก็อาจจะจำเป็นต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือไม่ก็ลาออกเสียก่อนเพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว นี่ก็เป็นจังหวะที่ทหารจะเข้ามาจัดการช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน เช่น ให้คำปรึกษากับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ เป็นต้น แล้วทหารก็จะควบคุมกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นทหารที่มากบารมีคนอื่นๆ หรือใครก็ได้ที่ทหารและ ส.ว.เห็นสมควร เพราะกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรียังต้องถูกกำหนดให้เป็นอยู่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น อย่างไรก็ตามยังมีหนทางที่จะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในลำดับสุดท้าย ที่ยังไงก็ต้องไปขอให้ทหารช่วยอีกเช่นกันก็คือ ประชาชนอาจจะรวมพลังกันทั้งผ่านระบบรัฐสภาและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าทหารยังเป็นทหารของประชาชนก็คงจะเข้ามาช่วยเป็นแรงบีบให้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 20 พฤษภาคม 2535 สิ่งใดที่นำมาซึ่งการยุติเหตการณ์ทั้งสองครั้งนั้น มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว