ทหารในระบอบประชาธิปไตยคือทหารที่ “รักษาระบบ” “ระบบ” ที่ว่าก็คือ “กระบวนการทางการเมืองที่เป็นหลักในการปกครองประเทศ” ซึ่งของประเทศไทยเรียกว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้นำเสนอ “ระบบใหม่” คือระบบที่คณะราษฎรบอกว่า “ดีกว่า” การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ ถึงขั้นกล้ารับประกันว่า “จะนำโลกพระศรีอาริย์มาสู่สังคมไทย” นั่นก็คือกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่จะให้เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แต่คณะราษฎรก็ไม่ได้สร้างกระบวนการที่ไปสู่ระบบดังกล่าว ที่สุดคณะราษฎรก็ขัดแย้งกันเอง ที่สุดทหารที่เคยร่วมมือกับคณะราษฎรนั้นเอง ก็โค่นล้มฝ่ายพลเรือน นำระบบ ทหารมาปกครองประเทศ นั่นคือการทำลายระบบที่นำมาสู่ความวุ่นวายเรื่อยมานับจากนั้น การทำรัฐประหารของทหารในทุกครั้งมักจะมีข้ออ้างอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ หนึ่ง “เพื่อรักษาระบบ” โดยมักจะอ้างว่าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย มีวิกฤติ ทหารจึงจำเป็นต้องเข้ามา “จัดการแก้ไข” วิกฤติดังกล่าว และสอง “เพื่อสร้างระบบใหม่” จึงจำเป็นต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเริ่มกระบวนการทางการเมืองในแนวทางใหม่ให้ระบบการเมืองการปกครองดีขึ้น แต่ทหารก็ประสบความล้มเหลวในเรื่องของการสร้างระบบใหม่นั้นเรื่อยมา รวมถึงการที่ทหารพยามจะสร้างประชาธิปไตย แต่กลับเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยนั้นเสียเอง กรณีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ยกตัวอย่างมาให้เห็นในสัปดาห์ก่อน ว่าท่านได้ถูกกลุ่มนักวิชาการ 99 คนยื่นฎีกาของให้ลาออก ด้วยเหตุผลว่าพลเอกเปรมกำลังทำลายระบบ ที่เรียกว่า “ฎีกา 99” นั้น ก็อาจจะด้วยการที่พลเอกเปรม ไม่ได้เข้าจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสภา แต่กลับปล่อยให้นักการเมืองทะเลาะกันเละเทะวุ่นวาย อีกทั้งยังนำทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว รวมถึงที่นำทหารมาใช้ “ค้ำจุน” ตนเอง อันนำความเสื่อมโทรมมาสู่กองทัพนั้นอีกด้วย ทั้งนี้ข้อเท็จจริงอาจจะปรากฏอยู่อย่างนั้น แต่การที่พลเอกเปรมใช้นโยบาย “ไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยว ไม่จัดการแก้ไข ไม่สนใจ” อันเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของท่าน ปัญหาจึงลุกลามใหญ่โตมากขึ้น แต่สุดท้ายเหมือนว่าท่านจะ “รู้ตัว” จึงประกาศไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ.2531 นั้น มีผู้วิเคราะห์ว่า พลเอกประยุทธ์ก็ใช้ “เปรมโมเดล” ในการปกครองเช่นเดียวกัน เพราะจากประโยคที่ท่านชอบพูดว่า “ผมไม่ยุ่ง ผมไม่เกี่ยว” เป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องของพรรคการเมือง เป็นเรื่องของนักการเมือง “ผมไม่ใช่นักการเมือง” รวมถึงที่อ้างว่า “ผมมีหน้าที่สำคัญที่ต้องทำมากกว่านั้น” ก็อาจจะทำให้มองไปได้ว่า พลเอกประยุทธ์กำลังจะมีอนาคตที่เป็นแบบพลเอกเปรมได้เช่นเดียวกัน คือถูกแรงบีบจากสังคมไปรอบด้านมากขึ้นๆ ที่อาจจะนำมาซึ่งชะตากรรมแบบเดียวกันกับพลเอกเปรมนั้นด้วย ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ก็น่าสงสารพลเอกประยุทธ์ที่ต้องมาอยู่ในสภาวะ “ท่ามกลางเขาควาย” เช่นนี้ เพราะในตอนเริ่มต้นก็ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์จะมีเจตนาดีที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมืองในตอนนั้นให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เริ่มต้นด้วยการควบคุมตัวผู้นำของกลุ่มต่างๆ ไปแยกกักกันไว้ตามสถานที่ต่างๆ เป็นเวลาพอสมควร เพื่อ “ปรับทัศนคติ” แต่ก็ประสบความล้มเหลว พลเอกประยุทธ์คงเชื่อบรรดาผู้ที่ให้ความเห็น ทั้งในฟากฝ่ายของทหาร นักวิชาการ และผู้ที่พลเอกประยุทธ์คบหาด้วยส่วนหนึ่ง ว่าทหารจำเป็นจะต้องควบคุมดูแลปกครองประเทศไปอีกสักระยะ จึงได้วางยุทธศาสตร์และเขียนรัฐธรรมนูญออกมาให้มีการเกาะกุมอำนาจนั้นไว้ ดังที่ได้ถูกเรียกว่าเป้นการ “สืบทอดอำนาจ” รวมถึงอาจจะมีผู้ประสงค์ดีแต่ปรารถนาร้าย ที่จะให้สภาและพรรคการเมืองอ่อนแอ จึงได้วางหมากกลไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ แม้แต่พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ทราบว่ากำลังร่วมอยู่ในหลุมพรางดังกล่าว แต่ด้วยกระแสสังคมบีบคั้นหนักขึ้นเรื่อยๆ พลเอกประยุทธ์ก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และด้วยแรงบีบทั้งข้างล่างข้างบนที่แวดล้อมตัวพลเอกประยุทธ์ ท่านก็ต้องยอมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยคงจะมีคนไปบอกท่านว่า ท่านไม่ต้องทำอะไรมาก เดี๋ยว “พวกผม” ช่วยทำให้ แล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อย นักการเมืองไม่มีอะไรหรอก เอาผลประโยชน์โยนให้ เดี๋ยวก็เงียบเสียง ฝ่ายต่อต้านก็ไม่มีน้ำยาอะไรหรอก เพราะท่านมี “แบ็ค” ดี และทหารก็ยังรักท่าน ยังคุ้มครองท่าน ไม่มีวันจะยึดอำนาจไปจากท่าน มาถึงวันนี้ถ้าพลเอกประยุทธ์ยึดถือเอาตัวอย่างตามแบบของ “เปรมโมเดล” จริงๆ ท่านน่าจะรู้บ้างแล้วว่า ขณะนี้ “ระบบ” กำลังจะพัง เป็นการพังทลายที่ทหารก็เอาไม่อยู่ และไม่มี “ใคร” ที่จะช่วยท่านได้ ดังที่พลเอกเปรมก็คงจะ “ค่อยๆ” ทราบว่า ท่านต้องแก้ปัญหานี้ด้วยตัวของท่านเอง แล้วท่านก็แก้ได้อย่างสวยงาม สัญญาณ “การพังทลายของระบบ” ก็คือ หนึ่ง คนจำนวนมากลดความเชื่อถือในตัวท่านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เคยรักและศรัทธาท่าน (ดังผลของซุปเปอร์โพลเมื่อสัปดาห์ก่อน) เพราะท่านทำงานไม่สำเร็จ ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ตามสัญญา สอง คนอีกจำนวนมากเพิ่มการต่อต้านท่านรูปแบบ ดังที่พวกเขาจะมีการจัดอีเว้นท์ต่างๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะสร้างแรงบีบในสังคมไทยให้มีมากขึ้น และสาม ทหารอาจจะมี “ความแตกแยกทางความคิด” เหมือนกับสมัยที่เคยหนุนป๋าเปรมในปี 2523 และต่อมาก็เปลี่ยนไปในปี 2531เพราะทหารก็มีความรักชาติบ้านเมือง และในยุคใหม่ทหารก็คงมีความเข้าใจในการเมืองสมัยใหม่มากขึ้น คงไม่อาจจะให้ความคุ้มครองท่านได้ในระยะยาว เมื่อประชาชนที่เคยรักท่านลดลง พร้อมกับมีประชาชนที่ “เบื่อ” ท่านมากขึ้น รวมถึงทหารอาจจะแบกหามท่านอย่าง “ถูลู่ถูกัง” แบบนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน ถ้าใครที่เป็นพลเอกประยุทธ์ในเวลานี้น่าจะต้องมานั่งทบทวนประวัติศาสตร์ดูให้ดี เช่นอาจจะต้องพูดว่า “ผมพอแล้ว” เพื่อรักษาระบบอย่างทีป๋าเปรมเคยทำไว้นั้น “อย่าเพิ่งเบื่อผม เพราะผมยังจะอยู่อีกนาน” อาจจะทำลายชีวิตทั้งชีวิตของท่านก็ได้