ทวี สุรฤทธิกุล “เวรกรรม” ส่วนหนึ่งของการเมืองไทยเกิดจากนักการเมือง ผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพรักและเคยเป็น ส.ส.มาตั้งแต่สมัยแรกๆ เคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนฟังว่า คนที่จะมาเป็นนักการเมืองสมัยนั้น “มีดีๆ” ไม่มากนัก เพราะคนไทยในเวลานั้นยังไม่เข้าใจว่าการเป็นนักการเมืองคืออะไร คิดแต่ว่าคงเป็น “เจ้าใหญ่นายโต” อีกพวกหนึ่ง ดังนั้นคนที่สนใจจะมาสมัครเป็น ส.ส.จึงแต่พวกที่ “อยากเป็นใหญ่เป็นโต” เสียส่วนมาก ในข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกไว้ว่า เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจได้แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้คณะราษฎรเป็นเหมือนคณะบุคคลเพียงคณะเดียวที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ จึงยังมีการเลือกตั้ง จนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสร็จสิ้นและประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (โดยรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็น “วันรัฐธรรมนูญ” มาจนถึงปัจจุบัน) จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2476 โดยมี ส.ส. 2 ประเภท ประเภทละ 70 คน ประเภทแรกมาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎร อีกประเภทหนึ่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันในแต่ละอำเภอของแต่ละจังหวัด เลือกคนที่จะเป็นตัวแทนในแต่ละอำเภอมา 2 คน แล้วนำผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละอำเภอนั้นไปรวมกันที่จังหวัด เพื่อคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 2 คน จากนั้นจึงให้คณะกรรมการในส่วนกลาง ซึ่งก็คือบุคคลที่คณะราษฎรแต่งตั้งนั้นคัดเลือกให้เหลือ 70 คน ดังนั้น ส.ส.ส่วนใหญ่ในสมัยแรกจึงเป็นพวก “หวยล็อค” คือมีการระบุตัวตนมาจากคณะราษฎรนั้นแล้ว ส.ส.กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในสมัยแรกมีอาชีพเป็นอดีตข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ที่มากที่สุดก็คืออาชีพครู รองลงมาก็คือข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะตำรวจ(ที่ในสมัยก่อนยังสังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย) รองลงมาก็คือทนายความและอาชีพอิสระ (แปลว่าไม่มีอาชีพที่แน่ชัด) ดังนั้น ส.ส.เหล่านั้นจึงยังเป็นเหมือน “ผู้น้อย” ที่คอยรับคำสั่งจากรัฐบาล ที่เป็นเหมือน “เจ้านายผู้ใหญ่” อยู่ดังเดิมเหมือนที่เคยเป็นมา จากนั้นก็มีการเลือกตั้งในแบบเดิมนี้อีก 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2480 และ 2481 ซึ่งก็ยังได้ ส.ส.ในแบบเดิม คือเป็นแค่ “หุ่นยนตร์” คอยรับใช้รัฐบาล ซึ่งก็คือคณะราษฎรนั้นเป็นหลัก จนหมดสภาพไปเองภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2484 และญี่ปุ่นบุกไทยใน พ.ศ. 2485 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงใน พ.ศ. 2488 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานทัพต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม แม้ว่าในที่สุดจะเอาผิดจอมพล ป.ไม่ได้ แต่จอมพล ป.และพรรคพวกก็ต้องหลบลี้ออกไปจากวงอำนาจทางการเมืองไปชั่วขณะ ปล่อยให้กลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นครองอำนาจแทน โดยนายปรีดีได้ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอคอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วทำการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จนแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม จากนั้นก็ให้มีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้ให้มีการสมัครลงเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองได้ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ใช้ชื่อพรรคว่า “พรรคก้าวหน้า” ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ “พรรคแรก” ของประเทศไทย “ผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพรัก” ที่เล่าเรื่องการเมืองและ ส.ส.ในยุคแรกๆ ก็คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี่แหละ โดยท่านได้เล่าให้พวกเราฟังต่อไปว่า ส.ส.ในสมัยก่อน “น่าเวทนานัก” เพราะว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีฐานะสูงส่งอะไรเลย โดยเฉพาะ ส.ส.ที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นครูและทนายความ ส.ส.บางคนที่มีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักอยู่ในกรุงเทพฯ ก็จะสบายกว่าคนอื่น เพราะได้อาศัยบ้านของคนเหล่านั้นเป็นที่พักอาศัย แต่ที่ไม่มีคนรู้จักก็ต้องไปเช่าโรงแรมอยู่เป็นกลุ่มๆ เช่น โรงแรมแถววิสุทธิกษัตริย์ และบางลำพู และหลายคนก็ต้องไปอาศัย “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” ซึ่งก็คือคนในคณะราษฎรบ้าง นายทหารและข้าราชการผู้ใหญ่บ้าง ที่ท่านมีความเมตตาให้ที่พักพิงอาศัย แต่ที่น่าเวทนาที่สุดก็คือมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปเป็น “เด็กวัด” คือไปอาศัยอยู่กับหลวงพี่หลวงพ่อในวัดต่างๆ เหมือนกับเป็นเด็กวัดอีกคนหนึ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าจำไม่ได้ว่า ส.ส.ในสมัยนั้นได้รับเงินเดือนคนละเท่าไหร่ แต่ก็ไม่มากจากข้าราชการประจำเท่าใดนัก แต่อาจจะเรียกได้ว่า ส.ส.ในยุคนั้นต้อง “ปากกัดตีนถีบ” พอสมควร ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายจิปาถะในการใช้ชีวิตในเมือง ที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับอัตถภาพที่เป็น “ผู้ทรงเกียรติ” ก็ยังต้องรักษาหน้าตาไม่ให้เสื่อมเสียไปถึงประชาชนในเขตเลือกตั้ง รวมถึงการ “สร้างบารมี” ที่จะต้องเป็นที่พึ่งพิงให้กับชาวบ้าน ทั้งงานบุญและงานประเพณีต่างๆ ก็ต้องจ่าย “ภาษีสังคม” กันเดือนละมากๆ นอกจากนี้ ส.ส.บางคนก็มีชาวบ้านเข้ามาเยี่ยมเยียนยังกรุงเทพฯ เหมือนมาชื่นชมใน “บุญบารมี” ของท่านผู้แทนฯของเขา ดังนั้นก็ต้องมีค่าต้อนรับขับสู้และค่ารถค่ารา ตลอดจนเงินขวัญถุงให้ชาวบ้านที่มาเยี่ยมเยียนนั้นได้ “ติดไม้ติดมือ” ไว้บ้าง ด้วยสภาพชีวิตที่ยากลำบากเช่นนั้น ส.ส.จำนวนหนคึ่งจึงต้องหันเข้าพึ่ง “เจ้าพระเดชนายพระคุณ” บ้างก็ขอ “ค่าเลี้ยงชีพ” เป็นก้อนในบางครั้งบางคราวบ้าง เป็นรายเดือนบ้าง บางคนก็ “ขอรับบริจาค” อ้างว่าไปช่วยงานบุญงานประเพณี กฐิน ผ้าป่า ฯลฯ เพื่อเอาตัวให้รอดและ “รักษาเกียรติกับหน้าตา” ของแต่ละคนนั้นไว้ ท่านทั้งหลายคงจะพอเข้าใจแล้วว่า “ทำไมการเมืองไทยจึงน่าอเน็จอนาถยิ่งนัก”