ทวี สุรฤทธิกุล “ทหารอยู่ไปเถอะ นักเลือกตั้งสูญพันธุ์ไป” พลันที่ผลการออกเสียงประชามติประกาศออกมาว่า คนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญ เสียงคนฟากที่เชียร์ทหารก็ออกมาไชโยอย่างกึกก้อง ซึ่งถ้าเรารับรู้เรื่องนี้โดยไม่เอาใจใส่มากนัก ก็จะคิดว่าก็เป็นเรื่องธรรมดาเนื่องจากทหารมีอำนาจ คนก็ไปไชโยโห่ล้อม เห็นดีเห็นงาม ด้วยความ “เห่อ” ผู้มีอำนาจดังกล่าว แต่ถ้าเราจะมองปรากฏการณ์นี้ให้ลึกซึ้ง เพื่อหาเหตุผล “เชิงลึก” ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็อาจจะพิจารณาให้เห็นถึงผลทั้งทางด้านบวกและลบได้หลายเรื่อง คือ เรื่องแรกที่สืบเนื่องไปถึงเหตุผลที่ทหารคณะนี้ทำรัฐประหาร คือการขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย รวมถึงพันธะสัญญาณที่ทหารบอกว่าจะมาช่วยกำจัดนัการเมืองที่ชั่วร้ายให้ ในด้านบวกก็อาจจะเป็นการสร้างความหวังให้กับคนไทย (อย่างคำพูดในบรรทัดแรกของบทความนี้) ซึ่งในทางความเป็นจริงรัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับที่ดีๆ และมี “ยาแรง” กว่านี้ก็ยัง “เอาไม่อยู่” แต่นั่นแหละก็ได้สร้างความหวังลมๆ แล้งๆให้กับคนไทย (แบบสำนวนไทยที่แปลงให้สุภาพแล้วว่า “กำก้อนดีกว่ากำลม”) อันเป็นอุดมการ์ที่หล่อเลี้ยงสังคมไทยเสมอมา ส่วนในด้านลบจากความดีใจจนออกหน้าออกของคนจำนวนหนึ่งต่อชัยชนะของทหารในครั้งนี้ อาจจะทำให้สังคมไทย “จมดิ่ง” ไปสู่ “มายาคติ” หรือความเพ้อฝันผิดๆ ในหลายๆ สิ่ง เป็นต้นว่า ทหารนี่แหละคืออัศวินม้าขาวตัวจริง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดดีกว่าทหารอีกแล้ว ทหารคือวีรบุรุษของพวกเรา ฯลฯ ซึ่งอาจจะทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ และวนเวียนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” จนไม่อาจจะหลุดพ้นได้ เรื่องต่อมาจากการที่มองทหารในด้านดี อาจจะทำให้ทหารถือเป็น “หน้าที่หลัก” ที่ไม่อาจจะแยกตัวออกไปจากการเมือง หรือการเข้ามามีอำนาจในการบริหารและจัดการประเทศ ในด้านบวกก็อาจจะเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหาอันเป็นวิกฤติที่กลไกทางการเมืองตามปกติ(ได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล และรัฐธรรมนูญ) “เอาไม่อยู่” แต่กระนั้นก็อาจจะส่งผลทางด้านลบได้อย่างมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “อำนาจนิยม” คือมองเห็นแต่คุณงามความดีของการใช้อำนาจ ซึ่งอำนาจที่เราเรียกร้องให้มาปกครองนี้ก็คือทหาร ซึ่งเป็น “ผู้มีอาวุธ” อันเป็นการใช้อำนาจในทางที่เป็นอันตราย ยิ่งเป็นอำนาจที่ประชาชน “ยินยอม” ยิ่งทำให้ไม่มีใครสามารถควบคุมความรุนแรงหรือความชั่วร้ายที่อาจจะเกิดจากการ “เหลิง” ในอำนาจนั้นได้ ดังที่เคยปรากฏให้เห็นเสมอมา อีกเรื่องหนึ่งเมื่อเรามองทหารในด้านดี โดยที่ทหารสามารถ “ทำดี” ได้จริงๆ ผลในด้านบวกก็ต้องถือว่าเป็น “บุญ” ของคนไทยและประเทศไทยที่ “บังเอิญ” ทหารทำได้เช่นนั้น เพราะจริงๆ แล้วทหารไม่ได้มีหน้าที่หลักในการเข้ามารับหน้าที่เรื่องนี้ เพราะบ้านเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน เพียงแต่ที่ผ่านมาคนไทยชอบที่จะมอบภาระตรงนี้ให้กับผู้นำหรือผู้มีอำนาจ อย่างที่เรียกว่าเราปกครองมาด้วยวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมนั้นมาโดยตลอด คนไทยชอบ “ปล่อยวาง” คือให้คนอื่นทำหน้าที่แทน มีปัญหาก็ให้คนอื่นมาแก้ อย่างที่เรายอมให้ทหารและนักการเมืองหมุนเวียนผัดเปลี่ยนกันมาขึ้นครองอำนาจ เพียงแต่ในบางครั้งเราก็ออกมามีส่วร่วมบ้าง เช่น การขับไล่ทหารและนักการเมืองเลวๆ ในบางยุคบางสมัย ซึ่งนี่ก็กลายเป็นผลในด้านลบ เพราะเท่ากับว่าคนไทยยอมให้มีวงจรอุบาทว์”หมุนวน” มาปกครองคนไทยครั้งแล้วครั้งเล่า ที่น่าเป็นห่วงก็คือ พวกที่ “เห่อทหาร” จำนวนหนึ่ง มีความฝันถึงขนาดที่ว่าทหารนี่แหละจะมาสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นสังคมไทยได้อย่างแท้จริง ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นแย้งว่า “เป็นไปได้ยาก” และประชาธิปไตยในแนวทางที่ทหารกำลังจะสร้างอยู่นี้ น่าจะ “ไปผิดทาง” เหตุผลดังกล่าวคือ ประการแรก ประชาธิปไตยไม่สามารถพัฒนาได้ในสังคมที่มีการจำกัดเสรีภาพและการคุกคามทางความคิดเห็น (ดังที่กลุ่มต่อต้านทหาร รวมถึงนักวิชาการและสื่อคนเสื้อแดงกำลังสร้างกระแสในเรื่องนี้) ที่ทหารคงไม่อยากปล่อยให้มีการใช้เสรีภาพหรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ประชาธิปไตยที่ทหารสร้างก็จะเป็นแบบ “วางท่อ” (อย่างที่ได้เขียนไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนๆ) คือตามที่ทหารต้องการ ประการต่อมา ประชาธิปไตยมีบททดสอบที่ “ง่ายมาก” นั่นก็คือการสร้างความปรองดองด้วยหลักการแห่งการรับฟังเหตุผลของกันและกัน แต่นี่ 2 ปีกว่าเข้ามานี่แล้ว ทหารก็ยังไม่สามารถสร้างความปรองดองขึ้นในสังคมไทยได้ เพราะเมื่อตอนยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็อ้างเหตุผลนี้ แต่ภายใต้วิธีการที่ทหารทำอยู่กับทำให้คนไทยยิ่งแบ่งแยกและดูเหมือนจะมีรอยร้าวขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกประการหนึ่ง ประชาธิปไตยที่มีทหารควบคุมจะไม่เกิดผลดีอะไรในระยะยาว เมื่อพิจารณาจากระบบการสืบทอดอำนาจของทหารในรัฐสภาและรัฐบาลตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านประชามตินี้ ก็ค่อนข้างจะเป็นกังวลว่าประเทศไทยจะยังคงไม่เป็นประชาธิปไตยไปอีกหลายปี ซ้ำร้ายกว่านั้นเรายังจะต้องอยู่ในภาวะ “สุ่มเสี่ยง” ถึงความแข็งแรงมั่นคงในกองทัพว่า จะคงสภาพความเป็น “ปึกผ่าน”ได้แน่นหนาอีกนานหรือไม่ และที่น่าเป็นห่วงมากไปยิ่งกว่านั้นก็คือ อุดมการ์ที่ทหารยึดมั่นเพื่อชาติอยู่นี้จะไม่มีวัน “เปี๊ยนไป” มาร่วมกันสวดมนตร์ขอพรให้ “พระสยามเทวาธิราช” คุ้มครองประเทศไทยด้วยครับ