ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 วันที่ 29 มีนาคม – 9 เมษายน 2560 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับ “สมาน อู่งามสิน” เจ้าของสำนักพิมพ์อัล-อีหม่าน ผู้จัดทำหนังสือ “เปิดโลกมุสลิมและมลายูสู่การเรียนรู้” และที่สำคัญ เขาคือหนึ่งในผู้สะสมหนังสือเก่าโลกมลายู-มุสลิมชายแดนใต้ มานานกว่า 20 ปี ด้วยความตั้งใจว่าจะใช้หนังสือเก่ามาทำประโยชน์ กระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น อ.สมาน อู่งามสิน มีต้นตระกูลมาจากตำบลปูยุด จังหวัดปัตตานี แม่พูดภาษามลายู ตนเองเคยเรียนในโรงเรียนวัด ต่อมาจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์ จบออกมาแล้ว ตัดสินใจทำธุรกิจส่วนตัว ก่อนจะก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ พร้อมกับค่อยๆ เก็บสะสมหนังสือเก่ามาเรื่อยๆ ล่าสุดคือการตระเวนทั่วกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ของคนท้องถิ่น ไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นับสิบแห่ง พร้อมกับไล่ล่าหาซื้อทั้งหนังสือเก่าและใหม่ที่มีคุณค่าจำนวนมากจากที่นั่น “ถ้าต้องการหาความยุติธรรมก็ต้องมีความรู้ ถ้าอยากรู้ก็ต้องอ่านหนังสือ” นี่คือแนวคิดสำคัญที่เขาได้รับจากผลึกประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสเข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เริ่มต้นผลักดันแนวคิดให้เป็นรูปธรรมด้วยการเปิด "ห้องสมุดชุมชน” ไว้เป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนนักคิด จำได้ว่า ในฐานะคอลัมนิสต์คอลัมน์ “ภูมิปัญญาจากหนังสือเก่า” ในนิตยสารหัวใจเดียวกัน เพื่อความรักและสันติสุขชายแดนใต้ เขาเคยเขียนงานชิ้นหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากชื่อว่า “กลับสู่ชนบท” กล่าวถึง “ดุษณี ศรีบุตร” ซึ่งเป็นนามปากกาของ อ.อับดุลเลาะห์ ลออแมน ปราชญ์ชาวบ้านผู้ล่วงลับแห่งลุ่มน้ำบางนรา จังหวัดนราธิวาส โดยอรรถาธิบายว่า ท่านเป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญของมุสลิมไทยที่ได้รังสรรค์งานเขียนไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับตำนานและเรื่องเล่าปาตานี เขาเล่าว่า สำนักพิมพ์ดวงกมลในยุคของคุณสุข สูงสว่าง ผู้อำนวยการ และ อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “กลับสู่ชนบท” เรื่องสั้นมาเลเซีย ในชุดวรรณกรรมเอเชีย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2552 อ.อับดุลเลาะห์ ลออแมน แปลเรื่องสั้นทั้งหมดจากภาษามาเลย์ โดยที่เรื่องกลับสู่ชนบทถูกเลือกให้เป็นเรื่องเด่นของเล่ม ท่านได้พรรณนาไว้ว่า “กลับสู่ชนบทเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าเลือกให้เป็นเรื่องเด่นที่สุดในหนังสือเล่มนี้ และตั้งเป็นชื่อของหนังสือ เนื้อเรื่องพูดถึงคนหนุ่มที่ยอมละทิ้งแม่ที่มีอายุมากแล้ว และยอมละทิ้งหมู่บ้านอันสวยงามของตน เพื่อไปหางานทำในกรุง ถึงแม้สภาพความเป็นอยู่ในกรุงจะเลวร้ายยิ่งกว่าในชนบท แต่เมื่อไปถึงเมืองกรุงแล้ว จะย้อนกลับไปสู่ชนบทอีกนั้น เป็นเรื่องยากลำบาก และมักเกิดปัญหาทางความคิดเสมอ ถึงแม้ว่า “เมืองกรุง” จะมิใช่นรกของคนชนบทไปทั้งหมด แต่ก็มีชาวชนบทอยู่น้อยมากที่ได้รับความสำเร็จเมื่อย้ายไปอยู่ในตัวเมืองหรือในกรุง...” ที่สำคัญไปกว่าเรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ก็คือ อ.อับดุลเลาะห์ ลออแมน ได้นำเสนอความเรียงสองเรื่องในบทกล่าวนำ คือ “วรรณกรรมมลายูสมัยเก่า” และ “วรรณกรรมมลายูสมัยใหม่” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ และความศรัทธาของคนมลายู ในดินแดนที่ครอบคลุมประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน บางส่วนของฟิลิปปินส์ และ 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ความเรียงเรื่อง “วรรณกรรมมลายูสมัยเก่า” อ.อับดุลเลาะห์ ลออแมน ได้ชี้ให้เห็นว่า วรรณกรรมประเภทร้อยแก้วของมลายูสามารถแบ่งประเภทออกเป็น 1.เรื่องราวของมลายูดั้งเดิม 2.นิยายที่มาจากชาติอื่น 3.นิยายของมลายู 4.นิยายเกี่ยวกับอิสลาม 5.ตำรา อ.สมาน อู่งามสิน ขยายความว่า ถ้าจะเจาะจงเฉพาะ ประเภทที่ 4 คือ นิยายเกี่ยวกับอิสลาม วรรณกรรมมลายูสมัยเก่าประเภทนี้จะมีเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ คัมภีร์อัลกุรอาน ท่านศาสดามุหัมมัดและสาวก นักรบ คำสอนของอิสลาม และ ความลึกลับ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า วรรณกรรมมลายูสมัยเก่าผูกพันอยู่กับบริบทของความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาอิสลาม ดังนั้นการทำความเข้าใจกับจิตวิญญาณของมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ จึงมิอาจละเลยที่จะต้องศึกษาเนื้อหาของวรรณกรรมมลายูสมัยเก่าให้ถ่องแท้ถี่ถ้วน เช่นกัน ในความเรียงเรื่องวรรณกรรมมลายูสมัยใหม่ อ.อับดุลเลาะห์ ลออแมน ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์จิตสำนึกของชาวมลายูที่มีต่อวรรณกรรมสมัยใหม่ซึ่งแพร่หลายหลังปีทศวรรษที่ 1970 ไว้ดังนี้ “ถึงแม้ว่าอิทธิพลตะวันตก ได้มาครอบงำชาวมลายูเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากชาวมลายูเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ประกอบกับพวกเขานับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้อิทธิพลทางด้านวรรณกรรมของพวกตะวันตกซึ่งเข้ามาในสังคมของมลายูเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก” “สังคมมลายูในสมัยนั้นถือว่าหนังสือนวนิยายของพวกตะวันตกนั้น เป็นหนังสือของพวก “กาฟิร” (คนนอกศาสนา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทรักๆ ใคร่ๆ เป็นหนังสือลามกอนาจารที่ต้องห้าม สำหรับสังคมมลายู” เขาจบข้อเขียนด้วยการให้แง่คิดอย่างคมคายว่า เราคงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้วรรณกรรมมลายู ทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ แสดงบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ แต่ทั้งนี้การปฏิบัติทุกขั้นตอนต้องใช้สติปัญญาและจิตใจ ที่สอดรับและสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของชาวมลายูในท้องถิ่น อีกครั้งหนึ่ง เขาเขียนเรื่อง “พ่อครัวอิสลาม” อย่างชวนให้เห็นภาพและสัมผัสกลิ่นว่า ถ้าลองเดินเข้าไปในร้านหนังสือสมัยใหม่ขนาดใหญ่หลายๆ แห่งในเขต กทม. และภูมิภาค สิ่งที่จะได้พบคือ ตำราเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพจากสำนักพิมพ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในลีลาที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป มีทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส เวียดนาม ฯลฯ แต่ค่อนข้างยากที่จะเจอตำราอาหารอิสลามเป็นการเฉพาะสักเล่มหนึ่ง เท่าที่พยายามสืบเสาะดูพบว่า มีตำราชื่อ “พ่อครัวอิสลาม” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๒ และพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อปี ๒๔๗๘ หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นตำราอาหารอิสลามเล่มแรกของเมืองไทยเท่าที่เคยมีการจัดพิมพ์ ผู้เขียนคือ ฮิบรอเฮม (น่าจะเป็นอิบรอเฮม-ผู้เขียน) หะยี รอซิดีบินตวน บ้านอยู่หลังวัดพิไชยญาติ จังหวัดธนบุรี “ผู้เขียนตำราเล่มนี้ยังขายเครื่องแกงกะหรี่สำเร็จรูปบรรจุใส่ขวด ไว้สำหรับใช้ในเวลาเร่งด่วน หรือเดินทางไกลไปยังถิ่นทุรกันดาร ในตำราเล่มนี้มีทั้งของคาวและของหวาน จึงขอยกตัวอย่างชื่ออาหารที่ไม่ค่อยคุ้นหูนักในปัจจุบัน เช่น แกงดูลระยา, ใส้สะโบซัก, ดุลต๊ะ, อาจาดเตอรกี, น้ำพริกซามาคารำ, แกงกุดี, แกงฟองเป็ด, จัดตรี, ห้าเหล่ามะกะหรี่, แป้งกัสรุยีกวน, น้ำซาระบัด เป็นต้น” ปัจจุบัน “สมาน อู่งามสิน” เปรียบประหนึ่ง “ห้องสมุดหนังสือโลกมลายู” เขามีแนวคิดอยากจะนำหนังสือที่ได้เก็บสะสมไว้ มาจัดเป็นนิทรรศการในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อกระตุ้นวงการอ่าน-เขียน เพราะหลายครั้งที่มีโอกาสลงไปสัมผัสพื้นที่ เขาเห็นว่าผู้คนให้ความสนใจกับการเลือกซื้อเลือกอ่านหนังสือมากขึ้น เพียงแต่ยังขาดโอกาสเพราะไม่ค่อยมีทางเลือกหรือมีร้านหนังสือให้เลือกซื้อ เชื่อว่าหากมีใครหรือหน่วยงานไหนสนใจให้การสนับสนุนเรื่องการจัดนิทรรศการหนังสือเก่า ย่อมจะสร้างคุณประโยชน์ให้พื้นที่และสังคมการอ่าน-การเขียนโดยรวมได้เป็นอย่างมาก