พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ได้ข่าวจากเมืองไทยว่า ช่วงสงกรานต์นี้ (ซึ่งก็คงเหมือนกับสงกรานต์ของทุกๆ ปี) รัฐบาลไทยพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการจรจาจร ด้วยการจะออกประกาศกฎหมายคุมเข้มกับผู้ใช้รถ ใช้ถนน “เป็นกรณีพิเศษ”ในช่วงเทศกาลขึ้นปีไม่ของไทยดังกล่าว ก็พอดีมีคนถามผมมาว่า ในอเมริกาเวลาถึงช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างแท๊งสกิ๊พวิ่ง (thanks giving) หรือเทศกาลคริสต์มาส มีปัญหาแบบเดียวกับเมืองไทยหรือเปล่า? ตอบแบบรวดเร็วและสั้นที่สุด ก็ต้องบอกว่า ในช่วงเทศกาลดังกล่าว (ซึ่งมีขึ้นในตอนปลายปีของทุกๆ ปี) ในอเมริกาไม่มีสัญญาณผิดปกติเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุทางจราจรแต่อย่างใด หมายความว่า ช่วงเทศกาลกับมิใช่ช่วงเทศกาลแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยในแง่จำนวนการเกิดขึ้นของคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนน คำถามต่อมา ก็คือ ทำไม? ข้อสันนิษฐานของผมเอง เอากันแบบตรงๆ โดยรวมๆ ก็คือ อเมริกันชนโดยทั่วไปเคารพกฎหมายและมีวินัยทางด้านการขับขี่ยานยนต์เป็นเยี่ยม ที่ประชาชนพลเมืองอเมริกันมีวินัยทางด้านการขับขี่ดังกล่าวอย่างดีนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วพวกเขามีจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่โดยตัวของพวกเขาเอง หรือว่าเกิดจากความเกรงกลัวพลังอำนาจของกฎหมาย หรือว่าเป็นไปทั้งสองอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่พิสูจน์ได้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนในอเมริกา ก็คือ การปฏิบัติตามกฎหมายขับขี่ในที่สาธารณะอย่างเคร่งครัด แบบเดียวกันในทุกรัฐหรือทุกๆ ที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหรือตำรวจเอง ก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด ไม่มีการหยวนๆ หรือ “ใต้โต๊ะ”กับผู้กระทำผิด ทั้งระบบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ยุติธรรมในแง่ค่าตอบแทนอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละครั้งหรือทุกๆ ครั้งของการทำงาน ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยควบคุมวินัยจราจรอย่างได้ผล จึงทำให้อาจกล่าวได้ว่า ในอเมริกาไม่มีความแตกต่างระหว่างช่วงเทศกาลวันหยุดยาวกับช่วงวันธรรมดาทั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องมีแคมเปญรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลเหมือนเมืองไทย ที่ต้องใช้เงินงบประมาณหรือใช้เงินจากส่วนงานอื่นๆ เพื่อรณรงค์เรื่องขับขี่ปลอดภัยจำนวนมาก ที่สำคัญ คือ แม้ใช้เงินเพื่อแคมเปญความปลอดภัยไปแล้ว แต่ผลที่ได้กลับไม่คุ้มค่า เพราะยังมีอุบัติเหตุร้ายแรง เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงขนาดผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อดาวเทียมหรือเคเบิลของไทยบางเจ้าต้องเซ็นเซอร์ข่าวอุบัติเหตุร้ายแรงที่ถูกรายงานจากสื่อต่างประเทศกลับไปยังเมืองไทย เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ นี้เป็นเรื่องช่างน่าอัศจรรย์เสียเหลือเกินที่เกิดขึ้นกับสื่อไทย จากประเด็นดังกล่าว มองจากพื้นฐานที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน น่าเชื่อได้ว่าเมืองไทยมีกฎหมายด้านจราจรที่ครอบคลุม ได้มาตรฐาน และสามารถถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี แต่แล้วเหตุใด กฎหมายไทยที่ได้มาตรฐานดังกล่าว ไม่สามารถป้องกันโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลหรือในชีวิตปกติประจำวันได้? หากมองไปยังสถานการณ์บนท้องถนนจากเช้าจรดเย็นถึงค่ำ ก็จะเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยปฏิบัติหน้าที่กันตลอดเวลามิได้หยุดหย่อน ตามรูปแบบ “มาตรฐาน”บทบัญญัติกฎหมาย แต่แล้วก็จะเห็นว่า ต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั่นเอง ที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น เช่น รถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ วิ่งสวนเลนส์ เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่มิได้สนใจกวดขันจับกุมใดๆ เลย หากปล่อยเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อหน้าเจ้าพนักงาน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ วัน ไม่รวมถึงการใช้ความเร็วเกินกำหนด ที่ถือเป็นเรื่องปกติในประเทศไทย จนอาจสรุปได้ว่าเจ้าพนักงานมองเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ยานยนต์จำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่วิ่งอยู่บนถนนเมืองไทยใช้ความเร็วเกินกำหนด แต่ก็ไม่มีผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องใส่ใจตรวจสอบจับกุม วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้ง “ด่านลอย”ใต้สะพานตรวจจับเสียครั้งหนึ่งซึ่งก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น ความไร้ระเบียบยังมีเหมือนเดิม เพราะผู้ขับขี่เหล่านั้น พร้อมใจกันละเมิดกฎหมาย โดยพร้อมเพรียงกันอย่างมิได้นัดหมาย ใครที่ขับขี่ตามกฎหมายกลายเป็นตัวประหลาดบนท้องถนนไป ว่าไปแล้ว การตั้งด่านลอยของตำรวจไทยเองดูเหมือนจะเป็นของแปลกสำหรับฝรั่ง เพราะเจ้าหน้าที่มักไปตั้งอยู่ใต้ร่มเงาของสะพานหรือถนนยกระดับ เพื่อเลี่ยงแดดร้อน ไม่ก็ปักหลักที่เชิงสะพานช่วงจราจรขาลงเพื่อดักจับผู้กระทำความผิด แม้การกระทำดังกล่าวจะมีอันตรายต่อตัวเจ้าหน้าที่เอง เพราะเป็นระยะที่ผู้ขับขี่มองไม่เห็นเจ้าหน้าที่และด่านลอย อันเนื่องมาจากทัศวิสัย (จากเงา) ไม่ดี สายตาผู้ขับขี่ที่อยู่กลางแดดเปรี้ยงไม่สามารถปรับ จนมองเห็นเจ้าหน้าที่ได้ทัน ก็เลยกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นไปอีก ไม่รวมถึงการวิ่งบนเลนฉุกเฉิน หรือไหล่ทางจนทำให้ถนนสายนั้น กลายเป็นอัมพาต ที่กลายเป็นเรื่องปกติของบรรดาผู้ขับขี่ชาวไทย ไม่มีใครยำเกรงกฎหมาย และที่สำคัญ มันได้กลายเป็นเรื่องปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วย พวกเขาเฉยเมยเสมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนรายวัน แม้จะมีกล้องหรือเทคโนโลยีช่วยจัดการด้วยก็ตาม กรณีแคมเปญการขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลของไทยนั้น ดูเหมือนสื่ออเมริกันส่วนใหญ่มองว่า การขับขี่ด้วยการละเมิดกฎหมายเป็นวัฒนธรรมที่สมคบคิดกันระหว่างผู้ละเมิดกฎหมายและผู้รักษากฎหมาย เป็นเรื่องยากที่แคมเปญความปลอดภัยด้านจราจรดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ ในเมื่อการละเมิดกฎหมายจราจรเป็นการกระทำซ้ำซาก ประหนึ่งเป็นวัฒนธรรมไทย คนไทยเห็นมันจนชินตาทุกวัน จนบางทีอาจกล่าวได้ว่า “มันคือเสรีภาพของการจราจร” ซึ่งก็คือความไร้ระเบียบของการจราจรนั่นเอง ส่งผลต่อจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนทุกๆ ปี ตามจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการละเมิดกฎหมายของผู้ขับขี่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกฎหมาย (ตำรวจ) อย่างไร้ความยำเกรงทำให้ผลที่คาดว่าจะได้ของแคมเปญความปลอดภัยของไทยต้องปลาสนาการไปแทบทุกครั้ง โศกนาฏกรรมบนถนนจึงมิได้จางหายไปแต่อย่างใดเลย นั่นพลอยทำให้แคมเปญลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวไปผูกติดกับการเพิ่มความเข้มข้นให้กับบทบัญญัติกฎหมายเพียงส่วนเดียว โดยเฉพาะในประเด็นสาเหตุจากสุรา หากแท้จริงแล้วเป็นเพียงวาทกรรมขู่จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะเพียงแค่ออกไปในซอย ปากซอย ก็ยังจะเห็นรถวิ่งย้อนศร วิ่งสวนเลนเช่นเดิมเหมือนที่เกิดขึ้นทุกวันจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของทั้งจนท.และผู้ขับขี่