รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล อาจจะจางลงไปบ้างมากแล้วกับการวิเคราะห์ “การลงประชามติ” กับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ผ่านไปเรียบร้อยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยทำให้ในส่วนทั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล และโดยเฉพาะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ เป็น “ซือแป๋” ทางกฎหมายรุ่นเก๋ากึ๊กของวงการกฎหมายไทย ซึ่งอาจารย์มีชัยได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า “พอแล้ว...พอกันทีกับการร่างรัฐธรรมนูญเนื่องด้วยอายุมากแล้ว!” อย่างไรก็ตาม ต้องขอสารภาพก่อนหน้านี้ “เสียวไส้!” ว่า “การรับร่างรัฐธรรมนูญ” อาจจะไม่ผ่านทั้งสองคำถามว่า “เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” หรือถ้าผ่านก็อาจจะผ่านแบบฉิวเฉียด แต่เมื่อผ่านไปแล้วหลัง 16.00 น.วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม เพียงไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือประมาณ 17.30 น.เท่านั้น คะแนนผ่านความเห็นชอบทั่วทั้งประเทศนั้น “ผ่านเห็นชอบหมด” ทั้ง “คำถามร่างรธน.-คำถามพ่วง” กล่าวคือ “เห็นชอบ” กับร่างรธน.นั้นสูงถึง 61 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ และคำถามพ่วง “เห็นชอบ” 58 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เรียกว่า “ผ่านฉลุย” ไปเรียบร้อย ทั้งส่งสัญญาณและส่อนัยยะชัดเจนว่า “ประชาชนคิดอย่างไรกับการเมืองไทย” เพราะฉะนั้น “พลังเงียบ” ที่ไม่ได้แสดงอะไรใดๆ เลยก่อนวันลงประชามติที่มีเพียงประมาณเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่พอวันลงประชามติกลับเดินเข้าคูหาลงประชามติ บวกกับประชาชนที่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง “ผ่าน-เห็นชอบ” อย่างไม่ต้องสงสัย! การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายพรั่งพรูมาโดยตลอด ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมา แม้กระทั่งทุกวันนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง แต่อาจบางลงมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะ หนึ่ง ทำไมประชาชนถึงลงประชามติเห็นชอบ สอง พลังเงียบที่อาจเบื่อ “พรรคการเมือง-นักการเมือง” ที่มักชอบยั่วยุให้คนไทยทะเลาะเบาะแว้งกัน ทั้งนี้นักการเมืองที่ดีก็มีมาก อาจจะจำนวนร้อยละ 10-15 เท่านั้น ที่อาจเป็นสมุนแกนนำของบรรดา “นายทุนการเมือง” และแน่นอน “นักการเมืองอุดมการณ์” ก็มีเช่นเดียวกัน แต่ขอย้ำว่า “นักการเมือง” ที่มักมุ่ง “อำนาจ” แต่เป็น “อำนาจ-ผลประโยชน์” ที่เก็บเข้าพกเข้าห่อส่วนตัว โดยมิได้ ทำผลประโยชน์แก่ส่วนรวม! สาม ประชาชนตื่นตัวและตระหนักจนสำนึกแล้วว่า “เบื่อการเมืองไทย” ที่มิได้เป็น “ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” แต่เป็น “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ที่มุ่งเน้น “ธุรกิจการเมือง” จะมีแต่ “คนมีเงิน” เท่านั้น ที่พยายามรวบอำนาจโดยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด บวกกับใช้เงินกวาดซื้อทั้งสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน บวกกับองค์กรอิสระดังที่ผ่านมาในอดีต จน “คิดว่าประเทศไทยซื้อได้ทุกสรรพสิ่ง!?!” สี่ บรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง บวกนักวิชาการร่วมกับนักศึกษาที่อาจคิดไม่ถึงว่า ประชาชนอาจไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ที่มุ่งเน้นแต่ “ผลประโยชน์ส่วนตนส่วนพรรคพวก” จนไม่เคยสนใจในการพัฒนาประเทศ แต่มุ่งพัฒนาครอบครัวและสมัครพรรคพวกตนเอง โดยขอย้ำว่า “นักการเมืองที่ดีมีอยู่” แต่ “อาจน้อยเกินไป!” ห้า ประเด็นสำคัญของประชาชนทั่วทั้งประเทศ สังเกตได้ว่า “ผ่าน-เห็นชอบ” เกือบหมดประเทศ มีเพียง 5 จังหวัดภาคเหนือที่ไม่ผ่าน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ อีสาน 15 จังหวัด และภาค ใต้ 3 จังหวัดที่ผมไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่า “ต่อต้านทหาร” หรือเปล่า คือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ซึ่งจริงๆ แล้วคะแนนสูสีกันมาก ที่ผ่านเพียงร้อยละ 48-49 ไม่ผ่านเพียงร้อยละ 51-52 เท่านั้น ทั้งนี้น่าเชื่อว่า “เสียงประชามติของประชาชน” น่าจะเกิดความเข้าใจ “ธรรมชาติ-พฤติกรรม” ของนักการเมืองมากขึ้น และที่สำคัญไม่ค่อยเชื่อนักการเมืองอีกต่อไป ผลการออกเสียงประชามติ ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น อาจตีความได้ในหลายมุมมอง อาจถือว่าเป็นชัยชนะที่งดงามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช. บางฝ่ายต้องการให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า คนส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองพ้นจาก “ภาวะไม่ปกติ” กลับคืนสู่ “ภาวะปกติ” โดยให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ 27.6 ล้านคน หรือ 55% ของผู้มีสิทธิทั่วประเทศ 50.5 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมายของกกต.มาก เพราะคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิถึง 70-80% สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะไม่ใช่การเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีผู้สมัครแข่งขัน ไม่มีการหาเสียงหรือจูงใจด้วยวิธีการต่างๆ และยังมีเสียงวิจารณ์ด้วยว่าเป็นการมัดมือชกปิดกั้นฝ่ายเห็นต่างในการแสดงความคิดเห็น แต่ประชามติครั้งนี้ เป็นคำตัดสินของเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทุกฝ่าย จึงต้องยอมรับเพื่อนำประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติ อย่างน้อยที่สุดก็มีองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย 2 อย่างคือ ได้รัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน และจะได้ส.ส.500 คน ที่มาจากเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา แต่ก็ต้องทำใจว่า หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อีกครั้ง พรรคการเมืองและส.ส.ที่มาจากเลือกตั้ง อาจต้องลดบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมือง เป็นช้างเท้าหลัง เป็นตัวประกอบอย่างน้อย 5 ปี เพราะว่า “บทเรียนที่มีอำนาจมากเกินไปในอดีต” ขณะที่ฝ่ายทหารอาจมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยผ่านทางส.ว.250 คน ที่มาจากสรรหา อย่างไรก็ตาม ต้องขอบอกว่า “วันนี้เรากำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปและพัฒนาประเทศไทยแล้ว!” ด้วยการยอมรับความจริงว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยไทย” ที่การเมืองระบบเปิดแบบมาตรฐานสากลนั้น คงอาจไม่สอดคล้องกับ “ความจริงของคนไทย” ที่อาจมีบางส่วนที่ “มือถือสากปากถือศีล” ที่มุ่งเพียง “ผลประโยชน์ส่วนตนส่วนคณะ” เพราะฉะนั้น “รัฐธรรมนูญฉบับ 2560” จะเกิดมาเพื่อนำพาประเทศให้เกิดการปฏิรูปและพัฒนาประเทศไทยอย่างจริงจัง และ “มั่นคง-มั่งคั่ง” และหวังว่าจะ “ยั่งยืน” ตลอดไป ขอให้คนไทยในอนาคตจงโชคดี!