เรื่องขำๆ เกี่ยวกับนักการเมืองไทยในยุคแรก ฟังดูก็น่ารักมากๆ ใน พ.ศ. 2480 ประเทศไทยได้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นครั้งแรก การเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ “ใหม่มาก” สำหรับทุกคน กฎระเบียบเรื่องการเลือกตั้งที่ค่อนข้างหยุมหยิมจึงเป็นเรื่องน่ารำคาญใจให้แก่ผู้สมัครรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ตรวจรับการสมัยนั้นด้วย อย่าลืมว่าประเทศไทยเมื่อกว่า 80ปีก่อนยังเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” เอามากๆ ใน พ.ศ. 2480 ที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งอย่างเสรีเป็นครั้งแรกนั้น กรุงเทพฯ พอพ้นตลาดสะพานควายทางทิศเหนือ ตลาดคลองเตยทางทิศใต้ ตลาดประตูน้ำทางทิศตะวันออก และข้ามฝั่งธนไปทิศตะวันตก พอพ้นตลาดพลูไป ก็เป็นป่าเป็นพงไปหมด จึงไม่ต้องสงสัยว่าจังหวัดนอกๆ ออกไปจะ “ดิบเถื่อน” แค่ไหน ปัญหาอย่างหนึ่งในการรับสมัครผู้ลงรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2480 นั้นก็คือ “รูปถ่าย” เพราะในหลายๆ เขตเลือกตั้งในหลายๆ จังหวัด ไม่มีร้านถ่ายรูป บางจังหวัดมีเฉพาะที่อำเภอเมืองหรือในตัวจังหวัด บางจังหวัดก็ไม่มีร้านถ่ายรูปเลย อย่างเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้สมัคร ส.ส. คนหนึ่งเป็นนักกฎหมายหนุ่มอยู่ที่จังหวัดลำปาง แต่ไปลงสมัครเป็นผู้แทนฯที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ความที่เป็นนักกฎหมายจึงรู้หลักกฎหมายดีว่า บรรดาระเบียบคำสั่งของทางราชการนั้นท่านเคร่งครัดยิ่งนัก รวมถึงระเบียบว่าด้วยการรับสมัครผู้เลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทยก็บอกรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน อย่างเช่น ขนาดของรูปถ่ายที่จะต้องกว้างยาวเท่านั้นเท่านี้ จะต้องเป็นรูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวกหรือแว่นตาดำ เป็นต้น ซึ่งทนายความหนุ่มท่านนี้ก็ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยทราบว่าร้านถ่ายรูปที่ได้มาตรฐานของกระทรวงมหาดไทยนี้มีอยู่ที่เชียงใหม่ จึงไปถ่ายรูปแล้วนำไปสมัครอย่างไม่มีปัญหา ส่วนผู้สมัครอีกคนแกก็ไม่ได้พิถีพิถันหรืออาจจะคิดว่าเรื่องขนาดของรูปถ่ายไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากนัก ได้ไปถ่ายรูปที่ร้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัด แล้วก็ได้ไปสมัครได้ทันตามกำหนดเวลา ปรากฏว่าเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีรายชื่อของทนายความหนุ่มจากจังหวัดลำปางนั้นเพียงคนเดียว โดยได้ตัดสิทธิ์คู่แข่งอีกคนออกไป เนื่องจาก “รูปถ่ายไม่ได้ขนาดตรงตามระเบียบ” ซึ่งความจริงผู้สมัครคนนั้นก็ทราบว่ารูปถ่ายของตนเองมีปัญหา เพราะมีคนมาบอกว่าทนายความหนุ่มได้ไปร้องกับทางจังหวัดซึ่งเป็นนายทะเบียนจัดการการเลือกตั้ง ก่อนที่การรับสมัครผู้ลงเลือกตั้งจะปิดเพียงวันเดียว ทำให้ผู้สมัครคนนี้แม้จะรีบไปถ่ายรูปใหม่ก็ทำไม่ทัน เพราะจากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ก็ต้องนั่งรถข้ามวันข้ามคืนเกือบ 2 วัน รูปถ่ายต้องใช้เวลาล้างอัดอย่างด่วนที่สุดก็2 วัน ไปกลับเพื่อการถ่ายรูปเพียงอย่างเดียวนี้ก็ต้องใช้เวลาถึง 5 – 6 วัน ! แน่นอนว่าผู้ที่ได้เป็น ส.ส.จังหวัดแม่ฮ่องสอนในครั้งนั้นก็คือทนายความหนุ่ม อายุ 26 ปี จากจังหวัดลำปางนั่นเอง (บางท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ อยู่ที่ลำปางแล้วไปเป็น ส.ส.แม่ฮ่องสอนได้ ก็เป็นด้วยระเบียบการรับสมัครที่ระบุคุณสมบัติบางอย่างว่า เคยประกอบอาชีพอยู่ในจังหวัดเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 ปี ก็สามารถลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นๆ ได้) ต่อมาท่านได้ย้ายมาสมัครที่จังหวัดลำปางที่เป็นบ้านเกิดของท่าน และได้เป็น ส.ส.ของจังหวัดนี้มาโดยตลอดทุกสมัย ครั้งหลังสุดคือในปี 2535อันเป็นสมัยที่ 14 จากนั้นท่านก็มีปัญหาสุขภาพจึงไม่ได้เล่นการเมืองอีก จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในปี 2542 รวมอายุได้ 87 ปี นักการเมืองท่านนี้ก็คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีหลายสมัย เมื่อ พ.ศ. 2527ตอนที่ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์เรื่องพรรคกิจสังคม ได้ไปขอสัมภาษณ์ท่านเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของพรรค ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคมด้วยคนหนึ่ง แล้วก็เลยแอบถามท่านถึงเรื่องดังกล่าว ท่านหัวเราะอย่างอารมณ์ดีตอบว่า “เป็นเรื่องจริง” และก็ภูมิใจมากที่ได้ทำหน้าที่เป็น “ผู้รักษากฎหมาย” ซึ่งไม่ใช่จะเป็นได้แต่เฉพาะตำรวจ ศาล หรืออัยการ เท่านั้น ประชาชนธรรมดานี่แหละก็ช่วยกันรักษากฎหมายได้ ท่านเล่าว่า วันนั้นก่อนปิดการรับสมัครวันหนึ่ง ท่านนึกครึ้มอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ เดินไปดูป้ายประกาศผู้สมัครที่เขาติดไว้บนศาลากลาง ที่มีผู้สมัครเพียง 2 คน สังเกตเห็นว่ารูปถ่ายมีขนาดต่างกัน แม้จะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ไม่เท่ากันแน่นอน ท่านเลยเอะใจว่าของท่านเองจะถูกต้องตามระเบียบการรับสมัครหรือไม่ จึงไปขอไม้บรรทัดจากเจ้าหน้าที่มาวัด ซึ่งก็ตรงกันกับที่ประกาศไว้ในระเบียบ ดังนั้นถ้าของท่านถูก ของผู้สมัครอีกคนก็น่าจะผิด จึงวัดขนาดของรูปถ่ายของผู้สมัครคนนั้น ปรากฏว่าไม่ตรงตามที่ระเบียบเขียนไว้จริงๆ ท่านเลยทำหนังสือร้องเรียนเพื่อคัดค้านผู้สมัครคนดังกล่าว แล้วทางจังหวัดก็ยกเลิกการรับสมัครของผู้สมัครคนนั้นในที่สุด “ผมเป็น ส.ส. แม่ฮ่องสอนอยู่ 2 สมัย ต่อมาในปี 2489 ผมมาลงสมัครที่ลำปางบ้านเกิด ก็ได้เป็นผู้แทนฯของลำปางเรื่อยมา ส่วนคนที่ถูกผมคัดค้านที่แม่ฮ่องสอน ต่อมาเขาก็ได้เป็นผู้แทนฯที่นั่น รู้สึกว่าจะเป็นอยู่หลายสมัยด้วย” “การเมืองยุคนั้นเป็นสุภาพบุรุษดีมาก รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไม่มีโกรธเกลียดกัน เคียดแค้นกัน แม้จะอยู่ต่างพรรคต่างฝ่าย ถ้ารู้จักกันแล้วก็กอดคอกินเหล้ากินข้าวกันได้ทุกที่ทุกเวลา” ก่อนจะลาท่านออกมา ผู้เขียนถามท่านอีกคำหนึ่งว่า “ทำไมคนลำปางจึงเลือกท่านเป็นผู้แทนฯมาทุกสมัย” คำตอบที่ได้รับก็น่ารักมาก คือท่านตอบว่า “ไม่รู้ซี คนลำปางคงจะนึกว่า ส.ส.ต้องหน้าตาแบบนี้เท่านั้นมั๊ง ถ้าหน้าตาไม่เหมือนนายบุญเท่งก็ไม่มีใครเลือก” ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผู้เขียนขอยืนยันว่า “ส.ส.คือหน้าตาของประชาชน” นั้นเป็นเรื่องจริง