การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างนางฮิลลารี คลินตันกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์หนนี้ สื่อและสังคมอเมริกัน จำนวนหนึ่งมองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ ฝ่ายอนุรักษนิยมอเมริกันถึงกับมองไปไกลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มของการแตกแยกของความเห็นทางการเมืองของคนอเมริกันครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือเรียกว่า "สงครามกลางเมืองทางความคิด" โดยเฉพาะถ้านางฮิลลารีได้เป็นประธานาธิบดีต่อจากนายโอบามา นางฮิลลารีซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้พยายามนำเอาแนวความคิดแบบสังคมนิยมมาใช้ต่อจากนายโอบามา ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมอเมริกันมองว่า ความคิดและนโยบายดังกล่าวนำมาซึ่งความอ่อนแอและแตกแยกของสังคมอเมริกันอย่างรุนแรงมากขึ้น ถึงขนาดตอนนี้มีการขับเคลื่อนหรือมีความเคลื่อนไหวจากบุคคลและหน่วยงานด้านความมั่นคงของอเมริกันเองเสียด้วยซ้ำ โดยตราหน้านางคลินตันว่า เป็นผู้ฝักใฝ่ อุดมการณ์ หรือลัทธิคอมมิวนิสต์ใหม่ (Neo-Marxism)อันจะนำมาซึ่งความแตกแยกแบ่งฝ่ายของสังคมอเมริกันในไม่ช้า ขณะที่คู่แข่งอย่างนายทรัมป์ เดินไปในแนวทางของทุนนิยมเสรีอย่างเดียวและชัดเจน ซึ่งเป็นแนวทางที่สร้างความพอใจให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอเมริกันนับตั้งแต่ทีปาร์ตี้ เป็นต้น สื่อและนักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันจำนวนหนึ่งมองด้วยว่า นางฮิลลารีนั้นโดดเด่นในสายตาของสื่อต่างชาติมากกว่าโดดเด่นในสายตาของสื่ออเมริกันที่ยังมองว่าอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งมีจุดยืนต่อความเป็นไปในอนาคตของสังคมอเมริกันไม่ชัดเจนเท่านายทรัมป์ ซึ่งมีบุคลิกภาพที่จับต้องได้แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ดังนั้น ในขณะนี้ทรัมป์ คะแนนเสียงของทรัมป์จึงเติบโตเข้มแข็งมากขึ้นทุกขณะทั้งเสียงสนับสนุนจากบุคคลภายในพรรคและเสียงของประชาชน โดยเฉพาะในมลรัฐตอนกลางและมิดเวสต์ที่เป็นพื้นที่ฐานของอุตสาหกรรมดั้งเดิมของอเมริกัน ส่วนจุดยืนของทรัมป์ด้านต่างประเทศต่อจีนและประเทศในแถบเอเชียนั้น ทรัมป์ ประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาเลือกยืนบนผลประโยชน์ของ ยู.เอส.เอ. นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองผู้มีประสบการณ์ในต่างประเทศ อย่าง Jack Wallace ซึ่งเวลานี้เขาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ มองว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่มองปัญหาอนาคตของประเทศว่าจะเป็นอย่างไร หากใครคนใดคนหนึ่งระหว่างนางคลินตันกับนายทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ถ้านายทรัมป์ได้เป็น (ประธานาธิบดี) ก็ดูจะมีปัญหาน้อยกว่านางฮิลลารีซึ่งตอนนี้ถูกผลักไปอยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ตามการมองของฝ่ายอนุรักษนิยม) ขณะที่สื่อเอเชียถูกมองว่า เชียร์นางฮิลลารีไปตามกระแส หรือตามแฟชั่น โดยที่นักวิเคราะห์ตามสถานีฟรีทีวีใหญ่ๆ ของอเมริกัน แทบไม่ให้น้ำหนักอะไรเอาเลย สิ่งที่หลายฝ่ายรอประการหนึ่งก็คือท่าทีของบุคคลสำคัญของพรรคเดโมแครต อย่างนายแฮรี่ รีดส.ว.รัฐเนวาดา ว่าเขาจะสนับสนุนนางคลินตันหรือไม่รวมถึงท่าทีของนางแนนซี เปลอสซี ส.ส. คนสำคัญของแคลิฟอร์เนีย ที่ยังสงวนท่าทีอยู่จนถึงขณะนี้ การเดินไปข้างหน้าในการหาเสียงของนางคลินตัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังที่สื่อไทยส่วนใหญ่วิเคราะห์แบบฟันธงกันไปเรียบร้อยแล้วว่านางคลินตันต้องมาแน่ ในการประชุม RNC หรือ Republican National Convention ที่คลีฟแลนด์ โอไฮโอ เมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์ได้แสดงให้เห็นว่า เขามีแรงสนับสนุนอย่างเป็นทางการของบุคคลในพรรคมากเพียงใด โดยเฉพาะพอลไรอัน ประธานสภาผู้แทนฯ รวมถึงอดีตคู่แข่งของเขาภายในพรรคที่พร้อมใจกันออกมาพูดให้การสนับสนุน ภายใต้คำขวัญ Make America Great Again ครอบครัวของทรัมป์มากันแทบทุกคน โดยเฉพาะเมลาเนีย ทรัมป์ภริยาคนที่สามของเขา(ทรัมป์เคยแต่งงานมา 2 ครั้ง) ซึ่งมีเชื้อสายสโลเวเนียน งานสร้างทรัมป์คราวนี้จึงนับว่าอลังการ มีความพร้อมและความเป็นปึกแผ่นมากกว่างานสร้างฮิลลารี คลินตัน เพราะพรรคเดโมแครตเองยังเคาะจุดยืนในแง่การประกาศนโยบายระหว่างนโยบายของโอบามาที่ดำเนินไปแล้วกับนโยบายของนางคลินตันเองให้ลงตัวไม่ได้ ในพรรคมีเสียงแย้งกันมาตลอด เป็นทรัมป์เองที่แสดงท่าทีขึงขังชัดเจนในแนวนโยบายที่เขาใช้หาเสียง กล่าวคือ "นำอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" โดยที่เขาขยายให้สื่ออเมริกันฟัง ณ คอนเวนชั่นของรีพับลิกันว่า บทบาทของอเมริกันถูกลบเลือนไปจากสายตาชาวโลกมากไป จากนโยบายต่างประเทศของโอบามาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นหน้าที่ของเขาที่จะรื้อฟื้นความเป็นอเมริกันที่แท้จริงเพื่อให้โลกได้รู้จักอีกครั้ง สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความมั่นคงบนความอุ่นใจของประชาคมโลกจากพันธมิตรอย่างอเมริกา เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นอันเป็นใจความสำคัญจากแคมเปญ 2016 ของทรัมป์ บนฐาน "ผลประโยชน์ของอเมริกันและพันธมิตร" ดูเหมือนเขาจะรู้ว่า สื่อต้องการถามอะไรเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของเขา ทรัมป์บอกว่า สงครามไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนอเมริกันต้องการ ขณะที่ลูกทีมของเขาเสนอขึ้นว่าให้มองอดีตเป็นบทเรียน โดยเฉพาะเหตุการณ์สงครามโคโซโวอันเป็นการย้อนเกล็ดครอบครัวคลินตันอย่างชัดเจนจากบิลถึงฮิลลารี คลินตัน และหลังจากนี้แคมเปญและวาทกรรมของทรัมป์จะชัดขึ้นผ่านทีวีอเมริกันหลายช่องหลักในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการวัดกันทั้งกำลังเงิน กำลังคน และกำลังปัญญาความฉลาดหลักแหลมของเขาในฐานะนักธุรกิจอเมริกันผู้ยิ่งยงมานานทั้งฟากอเมริกันและยุโรป