ทวี สุรฤทธิกุล “ความใหม่” ของนักการเมืองยุคเก่ามีมุมมองทั้งที่น่ารักและน่าชัง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คำว่า “การเมือง” ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ ในความรู้สึกและความเข้าใจของคนไทย แม้แต่คนที่จะเข้ามาทำงานการเมืองคือผู้แทนราษฎรเอง ที่ถือกันว่าเป็น “คนระดับหัวกระทิ” (ในความหมายที่ว่าได้ถูกคัดเลือกมาอย่างเข้มข้น) ก็ยังมีความรู้ความเข้าใจกับการเมืองไม่มากนัก อย่างเช่น ส.ส.คืออะไร รัฐบาลคืออะไร เหล่านี้เป็นต้น ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับนักการเมืองรุ่นคุณปู่เหล่านั้นบางท่าน ท่านพูดในทำนองเดียวกันว่า ส.ส.ในยุคก่อนกึ่งพุทธกาล “ยังทำงานไม่เป็น” ส่วนใหญ่ที่มาจากต่างจังหวัดก็จะรวมกันเป็นกลุ่มๆ ตามภูมิภาค ส่วนมากจะพูดคุยกันว่าจะมาของบประมาณไปก่อสร้างอะไรที่จังหวัดของตนบ้าง อย่างเช่น ถนน สะพาน และคูคลองต่างๆ เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งก็จะพูดถึงการทำงานของข้าราชการ ว่าที่ไหนทำงานดีไม่ดี และพยายามที่จะหาทางไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย นัยหนึ่งก็เพื่อให้ข้าราชการเหล่านั้นทำงานสนองต่อความต้องการของประชาชน อีกนัยหนึ่งก็เพื่อแสดงอิทธิพลเหนือข้าราชการ เพราะ ส.ส.ในยุคนั้นมีความเข้าใจไปว่า ตนเองคือ “นาย” ของข้าราชการ หลายๆ คนจึงออกท่า “กร่างๆ” เวลาที่กลับไปในพื้นที่จังหวัดของตน แล้วขึ้นไปที่ศาลากลางบ้าง ที่ว่าการอำเภอบ้าง และสถานีตำรวจบ้าง เพื่อแสดง “ความใหญ่” ให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองได้รู้ได้เห็น แต่บางคนก็ทำตัวน่ารัก เข้าไปพูดคุยกับข้าราชการ ในทำนองว่าเราเป็นเพื่อนกันนะ และตัวเองอยากจะมาช่วยทำงาน ช่วยผลักดันงบประมาณ รวมถึงช่วยเหลือในการแต่งตั้งโยกย้าย หรือใครที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เดือดร้อนในเรื่องอะไร ก็ขอให้บอกว่า ตัวเองจะเข้าไปจัดการให้ที่กรุงเทพฯ “เพราะตอนนี้ผมเป็นผู้แทนราษฎร ผมต้องทำให้ประชาชนได้รับความสุข” ในส่วนของรัฐสภาที่สมัยนั้นยังใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชวังดุสิตเป็นที่ประชุม พวก ส.ส.ป้ายแดงทั้งหลายต่างก็มีความรู้สึกว่า “นี่คือสถานที่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” อาจจะด้วยความโอ่อ่าโอ่โถง และที่สำคัญคือเคยเป็นเขตพระราชฐานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ยึดเอาวังหลวงและสถานที่ในส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายทั้งหมด เข้ามาเป็นทรัพย์สินของทางราชการ แล้วจัดสรรให้เป็นที่ตั้งที่ทำงานของส่วนราชการต่างๆ) ส.ส.เหล่านี้จึงรู้สึกว่าตัวเองเป็น “ผู้วิเศษ” ไปด้วย และยิ่งได้เข้ามามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ที่กำหนดให้มีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ยิ่งเหมือนว่าตัวเองมีอำนาจยิ่งใหญ่พอๆ กับเทวดา จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการวางตัวเหนือข้าราชการดังที่ได้กล่าวมา อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวระบบราชการและข้าราชการนั่นเอง ที่ทำให้ ส.ส.เหล่านั้น “เสียผู้เสียคน” ที่อาจจะเป็นด้วยต้องการทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ท่าน ส.ส.เหล่านั้นตามหน้าที่อย่างเต็มที่ส่วนหนึ่ง หรืออีกส่วนหนึ่งก็ด้วยต้องการที่จะ “ได้ดิบได้ดี” จากการเข้าไปช่วยเหลือนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งท่านเป็นผู้มีอำนาจวาสนาสูงกว่า ก็อาจจะช่วยเหลือในเรื่องของหน้าที่การงานของตนได้ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นไปด้วยความต้องการของท่าน ส.ส.เองที่ “เรียกร้อง” เอาสิทธิพิเศษต่างๆ จากข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการมาพินอบพิเทา หรือเพื่อจะแสดง “ศักดานุภาพ” ให้ราษฎรได้เห็น อย่างไรก็ตาม ส.ส.ในยุคนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้มี “คุณภาพสูง” เท่าใดนัก ส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาในประเทศ มีจำนวนไม่ถึงครึ่งที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกือบทั้งหมดมีแต่ประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ เพราะส่วนมากจะเป็นครูและทนายความ รวมถึงข้าราชการในระดับกลางๆ พอมาทำงานระดับชาติก็ “รวนๆ” ไปบ้างเหมือนกัน อาจจะมีบ้างที่ตั้งใจทำงาน แต่ด้วยความด้อยประสบการณ์ในการทำงานระดับชาติก็เลยดูสะเปะสะปะมั่วไปหมด อนึ่ง ส.ส.หลายคนอยากไปต่างประเทศทั้งที่ไม่เคยมีความรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศต่างๆ นั้นเลย รวมทั้งการใช้ภาษาก็ยังไม่เป็นเรื่องเป็นราว ทำให้เวลาที่ไปราชการต่างประเทศ(โดยอ้างว่าไปศึกษาดูงาน)ก็ทำให้เกิดเรื่องวุ่นอยู่เสมอๆ ส.ส.รุ่นคุณปู่ท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ครั้งหนึ่งมี ส.ส. 3-4 ท่านอยากไปเที่ยวประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่รัฐสภาก็ต้องประสานเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นที่วุ่นวายมาก เพราะท่าน ส.ส.ก็ตื่นเต้นและหวาดวิตกในเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา แม้เจ้าหน้าที่พยายามจะชี้แจงและช่วยตระเตรียมในเรื่องในต่างๆ ให้อย่างเต็มที่ รวมทั้งร่วมติดตามไปอำนวยความสะดวกต่างๆให้ด้วย ก็ยังเกิดความผิดพลาดขึ้นได้อีก คือคณะของ ส.ส.เหล่านี้เมื่อเดินทางไปถึงลอนดอน ก็มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตมารับไปเข้าพักที่โรงแรม และแล้วเย็นวันนั้นก็เกิดเรื่องแขกเหรื่อของโรงแรมแตกตื่นไปทั้งล็อบบี้ ด้วยปรากฏว่ามีชายไทยวัยกลางคน แต่งตัวนุ่งเพียงผ้าขาวม้าผืนเดียว มีผ้าขนหนูพาดบ่ามาผืนหนึ่ง ในมือถือขันและมีแปรงสีฟันกับสบู่ใส่มาด้วย เดินลงมาจากบันไดกลางโถงโรงแรม ไปถามเจ้าหน้าที่คนไทยที่รอบริการอยู่ในล็อบบี้นั้นว่า “ห้องน้ำมีไส” (แปลไทยอีสานเป็นไทยภาคกลางว่า “ห้องน้ำอยู่ไหน”) ทำเอาอลหม่านไปทั้งโรงแรมดังกล่าว ใครที่เคยอยู่ทางภาคอีสานอาจจะพอนึกภาพออกว่า ห้องน้ำของคนอีสานนั้นมักจะอยู่ออกมานอกตัวบ้าน และอีกอย่างหนึ่งห้องน้ำในโรงแรมของประเทศในยุโรปยุคนั้น(แม้แต่ในยุคนี้ในโรงแรมเก่าๆ)ก็มักจะแยกออกมาจากห้องนอน ไม่ได้เป็นห้องชุดที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นในปัจจุบัน ส.ส.ท่านนั้นก็คงด้วยความคุ้นเคยกับความทรงจำที่บ้านเดิม และพอมาเห็นว่าในห้องไม่มีห้องน้ำ ก็เลยเดินออกมาหาห้องน้ำข้างนอกด้วยความคุ้นเคยนั้นแล นี่ก็เป็นอีก 1 อภินิหารที่น่ารักๆ ของท่านผู้แทนราษฎรไทย(โบราณ)