ทวี สุรฤทธิกุล ผู้แทนราษฎรไทยเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ผู้แทนราษฎรไทยมีวิวัฒนาการที่แปลกพิสดาร ว่ากันตามทฤษฎี “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” ของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็ค่อนข้างจะสาหัสสากรรจ์กว่า คือผู้แทนราษฎรของไทยมักจะ “ผ่าเหล่า” หรือ “กลายพันธุ์” ไปได้ง่ายๆ เพียงแต่สถานการณ์หรือบรรยากาศทางการเมืองเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งบางทีก็เป็นด้วยสภาพปัจจัยภายในของผู้แทนราษฎรแต่ละคนนั้นเอง ที่มี “ตัณหาราคะ” กำหนดให้เป็นไป ชาวบ้านมักจะเรียก ส.ส.ของเขาว่า “ผู้แทนฯ” มากกว่า อาจจะเป็นเพราะคำว่าผู้แทนฯดูใกล้ชิดสนิทสนมมากกว่า ทั้งยังบ่งถึงบทบาทหน้าที่ของ ส.ส.ได้อย่างชัดเจน คือหมายถึงความเป็นตัวแทนหรือผู้ที่ไปทำงานงานแทนประชาชน ซึ่งในสมัยก่อนทางราชการเรียกว่า “ราษฎร” (มีเกร็ดที่น่าสนใจคือ ทำไมคณะราษฎรจึงเลือกใช้คำว่า “ราษฎร” นี้มาเป็นชื่อของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งก็มีผู้รู้ให้คำอธิบายไว้ว่า คนไทยเรียกชนชั้นปกครองโดยเฉพาะพวก “เจ้า” ว่า “หลวง” เช่น ในหลวง ของหลวง ที่(ดิน)หลวง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็เรียกผู้ใต้ปกครองว่า "ราษฎร” ดังนั้นโดยที่ผู้คนคณะนี้ต้องการต่อสู้กับเจ้า จึงใช้คำๆ นี้มาเป็นชื่อของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบรัฐสภา จึงใช้ชื่อเรียกสมาชิกที่ทำงานในรัฐสภาว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ดังกล่าว) ทั้งนี้ ส.ส.ในยุคแรกๆ ก็ดูจะนิยมชมชอบคำๆ นี้มากกว่าคำว่า “ส.ส.” ซึ่งมาเป็นที่นิยมในภายหลัง ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า คนที่ได้เป็นผู้แทนฯจะมีความรู้สึกว่าตนเองเป็น “ผู้วิเศษ” อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นไม่เพียงแต่ท่านจะรู้สึกว่าเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งแล้ว ท่านยังมีความทะเยอทะยานอยากอะไรแปลกๆ ด้วย ผู้เขียนเคยคุยกับท่าน ส.ส.อาวุโสท่านหนึ่งที่เคยเป็น ส.ส.มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ท่านบอกว่าเวลาที่ ส.ส.เหล่านี้เข้าสภาจะต้องมีท่าทางวางก้ามออกจะดูขัดหูขัดตาอยู่หลายคน แล้วยิ่งเวลาที่มีข้าราชการมาพินอบพิเทาก็จะยิ่ง “แสดงอาการ” ที่โอเว่อร์มากกว่าปกติ เช่น ชอบพูดเสียงดังกับข้าราชการ หรือตบบ่าตบไหล่แรงๆ ถึงขั้นจับมาเขย่านั้นเลย เป็นต้น รวมถึงการแต่งเนื้อแต่งตัวที่จะต้องให้ดูดีโก้หรู ซึ่งสมัยนั้นของแบรนด์เนมคงจะมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ท่านผู้แทนฯก็จะแต่งกายกันอย่างเลิศหรู ถ้าใครเคยอ่านหนังสือชุด “พล นิกร กิมหงวน” ของ ป. อินทรปาลิต คงจะพอนึกภาพของ “คนโก้” ในสมัยนั้นออก รวมทั้งเครื่องประดับความหรูอื่นๆ เช่น รถยนตร์ และผู้ติดตาม เป็นต้น เรื่องการจัดหาผู้ติดตามก็เป็นสิ่งที่ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด โดยเฉพาะในหมู่ผู้แทนฯในฟากฝ่ายรัฐบาล เพราะสามารถไป “ขอยืมตัว” ข้าราชการหนุ่มๆ สาวๆ มาคอยเดินตาม(ในสมัยนั้นเรียกว่า “หิ้วกระเป๋า”)ได้อย่างสะดวกสบาย เพราะรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงต่างๆ ก็มักจะสั่งการให้ปลัดกระทรวงและอธิบดีช่วยจัดหาให้อยู่แล้ว อีกทั้งข้าราชการเองก็อยากที่จะเสนอตัวไปรับใช้ท่าน “เทวดา” เหล่านั้นอยู่แล้ว เพราะไม่เพียงแต่จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าคนอื่น แต่อาจจะได้สิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ ได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ต่างๆ รวมถึงได้ไปมี “คอนเน็คชั่น” กับท่านผู้ใหญ่ผู้โตทั้งหลาย เป็นประโยชน์แก่อาชีพราชการในอนาคต แต่ว่าสำหรับผู้แทนฯในฝ่ายค้านก็อาจจะประสบปัญหามาก จึงต้องเอาลูกเอาหลานที่พอจะมีการศึกษาหรือท่าทางดีๆ หน่อยมาเป็นผู้ติดตาม ซึ่งในสมัยก่อนก็ไม่ได้มีเงินเดือนเงินพิเศษอะไรให้เหมือนกับในสมัยนี้ แต่ทุกคนก็ต้องมีผู้ติดตาม เพราะนั่นคือ “หน้าตา” ที่ยอมกันไม่ได้ ก็ด้วยความกร่างหรือความโก้ที่บรรดาท่านผู้แทนฯมีอยู่นี่เอง บางครั้งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับท่านผู้มีอำนาจทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่บ่อยๆ เช่น ผู้แทนฯปากกล้าบางคนก็พูดอภิปรายเสียดสีเหน็บแนมรัฐมนตรีหรือข้าราชการผู้ใหญ่ หรือบางคนก็ถึงขั้นข่มขู่และตวาดใส่บรรดาข้าราชการที่ถูกเรียกเข้ามาชี้แจงในการประชุมต่างๆ แม้แต่บริวารของนักการเมืองเองก็กร่างตามนายของตนไปด้วย เช่น เคยมีคดีขึ้นโรงพักและลงข่าวหนังสือพิมพ์กันครึกโครมว่า มีลูกน้องของนักการเมืองคนหนึ่งขับรถไปแถวย่านวังบูรพา แล้วทำน้ำที่เจิ่งนองอยู่บนถนนกระเด็นใส่นายทหารท่านหนึ่ง แต่เมื่อขึ้นโรงพักแล้วก็มีการขอโทษขอโพยกัน แต่เรื่องก็ไม่จบเพราะในเวลาต่อมานายทหารคนนั้นได้ขึ้นมาเป็นใหญ่หลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 ผู้แทนฯคนที่เป็นนายนั้นก็ถูกจับในข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ตัวลูกน้องคนนั้นก็ถูกจับไปด้วย จากนั้นก็ถูกนำตัวไปขังและซ้อมที่บ้านหลังหนึ่งแถวพระโขนง จนเสียชีวิต และศพถูกนำไปเผาที่จังหวัดกาญจนบุรี อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในยุคนั้นก็ชอบที่จะท้าทายท่านผู้มีอำนาจ อย่างเช่นกรณีการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี ซึ่งเป็น ส.ส.จากภาคอีสานใน พ.ศ. 2492 ก็มีคอลัมนิสต์วิเคราะห์กันในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่า ก่อนหน้าที่ ส.ส.ทั้ง 4 คนจะถูกจับ ส.ส.เหล่านี้ได้อภิปรายโจมตีรัฐบาลของท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามอย่างเผ็ดร้อน รวมถึงที่ ส.ส.เหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ในช่วงเวลานั้นเป็นคู่กรณีอยู่กับจอมพล ป. เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้นพอสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ จอมพล ป.ก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม จึงอาจจะเจ็บใจแค้นและจับ ส.ส.ฝ่ายอาจารย์ปรีดีมาล้างแค้นดังกล่าว ซึ่งในยุคนั้นถูกเรียกว่าเป็น “ยุคมืดของการเมืองไทย” เลยทีเดียว (เพราะ ส.ส.ทั้งสี่นั้นถูกฆ่าอย่างทารุณ ด้วยการยิงถล่มด้วยปืนกลนับสิบกระบอก ในกลางดึกที่ริมถนนพหลโยธิน ช่วงที่เลยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งในสมัยก่อนยังเป็นป่าริมทาง ในขณะที่กำลังถูกควบคุมตัวจะไปฝากขังที่โรงพักบางเขน โดยทางตำรวจที่คุ้มกันไปแจ้งว่าถูกพวกโจรแบ่งแยกดินแดนจากภาคใต้เข้าโจมตี) ผู้แทนราษฎรไทย “กลัวซะที่ไหน” แต่ยิ่งกลับท้าทายผู้มีอำนาจมากยิ่งขึ้น