ทวี สุรฤทธิกุล ทหารมักจะประสบความล้มเหลวในการสร้างประชาธิปไตย ทหารแม้ว่าในทางวิชาชีพจะดู “แมนมาก” แต่ในทางการเมืองกลับดูเหมือน “แอ๊บแมน” คือดูไม่ค่อยเข้มแข็งหรือน่าเชื่อมั่นอะไรมากนัก ที่มีผู้ศึกษาไว้ว่าเป็นเพราะลักษณะทางวิชาชีพของทหารถูกหล่อหลอมมาให้เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างเด็ดขาดรุนแรง เลือกขั้วเลือกข้าง แบ่งแยกคนเป็น 2 ฝ่าย คือพันธมิตรและศัตรู ในขณะที่งานการเมืองเป็นเรื่องของการประสานประโยชน์ที่มีลักษณะประนีประนอมยืดหยุ่น เพื่อสร้างสมดุลทางสังคม โดยเฉพาะในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วม และสนองตอบต่อคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ทหารมักจะคิดว่า “การเมืองเป็นเรื่องง่ายๆ” คือถ้าจะย้อนประวัติศาสตร์ไปตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศษ. 2475 ทหารนี่แหละที่ถูกหลอกให้เข้ามาเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ซึ่งก็คือคณะผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน โดยมีนายทหารหลายท่านที่เกี่ยวข้องในการยึดอำนาจในครั้งนั้น พูดไปในทำนองเดียวกันว่า คณะผู้ก่อการได้อ้างถึงการ “รักษาชาติ – รักษาประเทศไทย” ซึ่งทหารก็ล้วนแต่ถูกสั่งสอนให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าว จึงเข้ามาช่วยใช้กำลังให้การรัฐประหารในครั้งนั้นประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกันกับที่ผู้นำของฝ่ายทหารถูก “เชิด” ให้ขึ้นไปเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับของผู้นำฝ่ายพลเรือนที่ควบคุมด้านนโยบายและการปฏิบัติงานของข้าราชการ จนกระทั่งทหารได้ขึ้นมามีอำนาจอย่างเต็มตัวหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ทหารเองก็นึกว่าจะสามารถควบคุมนักการเมืองฝ่ายพลเรือนได้ แต่เมื่อประสบความล้มเหลวก็คิดจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ การตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2498 อาจจะถือได้ว่าเป็น “ดิอิมพอสสิเบิลดรีม” หรือ “ความฝันอันเป็นไปมิได้” ครั้งแรกของทหาร เพราะเพียงแต่มองโครงสร้างของพรรคก็จะเห็นได้เลยว่า “ไม่ใช่พรรคการเมือง” แต่เป็น “กองทัพนักเลือกตั้ง” โดยมีนายทหารเข้าควบคุมในตำแหน่งบริหารของพรรคทั้งหมด แม้จะมีอดีต ส.ส.มาร่วมด้วย แต่ก็เป็นเพียงแค่ “ไพร่พล” หรือทหารใต้บังคับบัญชาเท่านั้น ซ้ำร้ายในการรณรงค์หาเสียงก็ไม่ใช่การออกไปประกาศอุดมการณ์หรือแสดงนโยบายทางการเมืองเพื่อสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องของการใช้อิทธิพล “อำนาจบังคับ” ที่จะให้ผู้คนเชื่อถือและ “เชื่อฟัง” เหมือนกับจะกะเกณฑ์ให้ผู้คนต้องเลือกผู้สมครของพรรเสรีมนังคศิลาเท่านั้น ผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 จึงเป็นไปตามที่หลายๆ คนคาดไว้ คือพรรคเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็น “การเลือกตั้งครั้งที่สกปรกที่สุด” เนื่องด้วยการฉ้อฉลทุกวิถีทางในการเลือกตั้ง เหตุการณ์จึงตามมาด้วยการประท้วงต่อต้าน เริ่มจากนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่มาก แต่ก็ได้สร้างโอกาสให้นายทหารที่ไม่เห็นด้วยอย่างพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าทำรัฐประหาร นี่ก็แสดงถึง “ความเปราะบาง” ในกองทัพที่ไม่ได้มีเอกภาพแข็งแกร่งเท่าใดนัก แต่ที่น่าสนใจก็คือ ทำไมทหารที่มีประวัติถึงความแข็งแกร่ง “เหี้ยมหาญ” อย่างจอมพล ป.และคณะ จึงยอมพ่ายแพ้แก่นายทหารรุ่นน้องอย่างพลเอกสฤษดิ์ที่มีพลังทางสังคมสนับสนุนเพียงเล็กน้อย (ซึ่งกรณี “ทหารยอมทหาร” และ “การยุติความรุนแรงทางการเมืองโดยสันติ” เป็น “ลักษณะพิเศษ” ของการเมืองไทย โดยมี “ปัจจัยอันลึกซึ้ง” ที่นักรัฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเกิดจาก “พระบรมเดชานุภาพ” ที่ปกป้องคุ้มครองประเทศไทยนั่นเอง) “ความหน่อมแน้มทางการเมือง” ของทหารมีปรากฏต่อมาอีกหลายครั้ง ที่โดดเด่นก็เช่น การตั้งพรรคสหประชาไทยในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ก็ไม่ต่างกันกับการก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาเท่าใดนัก คือเป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะ “จัดแถว” หรือวางสายบังคับบัญชาทางการเมืองในแบบทหาร ที่ทำให้ในพรรคสหประชาไทยเองเกิดปัญหาวุ่นวายเป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ห้ามไม่ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ รัฐสภาในยุคนั้นจึงเป็นระบบ “ปลาต่างน้ำ” ในขณะที่ข้าราชการเป็นรัฐมนตรีกันพรึ่บพรั่บ ทั้งที่ในระบบการบริหารจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐสภา แต่อำนาจของ ส.ส.กลับเอื้อมไปแตะต้องไม่ได้ ส.ส.จึงต้องใช้วิธีการ “เล่นตัว” ที่จะยกมือสนับสนุนกฎหมายของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลที่มีทหารกำกับอยู่นั้นต้อง “ปวดหัว” อยู่ตลอดเวลา ที่สุดจอมพลถนอมก็ต้องยึดอำนาจตัวเอง เพื่อล้มเลิกรัฐธรรมนูญและกลับไปปกครองแบบเผด็จการอีกครั้ง ในทำนองคล้ายกัน รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอมก็ “มีอันเป็นไป” เช่นเดียวกันกับจอมพล ป. คือเพียงการเคลื่อนไหวของ “เด็กๆ” คือนิสิตนักศึกษา ก็ทำให้ต้องกระเด็นพ้นจากอำนาจ เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นอีกใน พ.ศ. 2535 ที่ทหารพยายามจะสร้างประชาธิปไตย แต่ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนมาเป็น “การจ้างวาน” นักการเมืองให้ตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนนายทหารให้ขึ้นมามีอำนาจ แต่ก็พบจุดจบเช่นเดียวกันคือประชาชนออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจดังกล่าว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทหารไม่ได้ “องอาจกล้าหาญ” อะไรนัก เพียงแต่กรวดซายเม็ดเล็กๆ ก็สามารถซัดทหารพ้นจากอำนาจไปได้ อภิหารของนักการเมืองไทยมีทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องฮาๆ เรื่องเครียดๆ ดังเช่นในบทความตอนนี้ก็ออกแนวเครียด ก็เพื่อที่จะ “เตือนสติ” ท่านทหารหาญทั้งหลายที่คิดว่า “ข้าแน่” ให้ลองขบคิดดูว่า จากประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ปรากฏให้เห็นชัดแล้วนั้น “ท่านคิดว่าสามารถควบคุมนักการเมืองได้แล้วหรือ” และถึงแม้ท่านจะควบคุมนักการเมืองบางกลุ่มได้ แต่ท่านจะ “ควบคุม” ประชาชนได้หรือไม่ เพราะนักการเมืองอาจจะยอมสยบให้ท่านเพื่อแลกกับความอยู่รอดและประโยชน์ส่วนตัว แต่สำหรับประชาชนนั้นไม่ได้คิด “ก้มหัว” ให้ท่านแบบนั้นเลย อภินิหารโดยประชาชนย่อมเหนือกว่าอภินิหารของกลุ่มอำนาจใดๆ