แสงไทย เค้าภูไทย แฟลชม็อบของนักเรียน นักศึกษาช่วงนี้มิใช่ต่อต้านรัฐบาล และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น หากแต่ยังส่งสัญญาณว่า คนไทยเจนเนอเรชั่น y-z จะเป็นผู้ปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองในอนาคตแทนคนคนรุ่น X ที่กำลังเป็นชราชน โดยมีผู้เสี้ยมสอนเป็นสื่อออนไลน์ โลกยุคใหม่แบ่งช่วงวัยของคน เป็น 4 ช่วงวัยหรือ generations ตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เผชิญซึ่งมีอิทธิพลต่อลักษณะ นิสัย ทัศนคติของผู้ที่เกิดและเติบโตในช่วงเวลานั้นๆ เริ่มจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนที่เกิดช่วงนี้อายุปัจจุบันอยู่ระหว่าง 70-80 ปี เป็นรุ่นที่ต้องเผชิญความหายนะทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก จึงขยันและอดทน หนักเอาเบาสู้ คนรุ่นนี้เรียกกันว่าGeneration Baby Boomers เกิดช่วง 1960-1963 อีกด้านหนึ่งเรียกว่า Silent Generation เพราะเข้าสู่วัยชราที่นับวันจะมีส่วนในกิจกรรมทั้งเศรษฐกิจแสังคมน้อยลง แผ่วลง Generation X คือรุ่นที่เกิดช่วง 1963-1980 (40-57 ปี) Generation Y หรือ Millenials1980-1995( 25-40 ปี) Generation Z เกิดช่วง 1995-2010 อายุต่ำสุด 10 ปีสูงสุด 25 ปี แต่ขณะนี้ได้มีการปรับให้เป็น “วัยรุ่น” อายุช่วง 10-24 ปี เป็นวัยที่ยังต้องพึ่งพาอาศัย “ผู้ปกครอง” ส่วนหนึ่ง(semi-dependency) ก่อนหน้านี้ วัยรุ่นถูกกำหนดให้อยู่ในช่วงอายุ 11-19 ปี แต่สภาพสังคมและกายภาพของมนุษย์ช่วงวัยนี้เปลี่ยนไป โดยเด็กเหล่านี้โตเร็วขึ้น เด็กหญิงมีประจำเดือนเร็วกว่าเด็กรุ่นก่อนๆ เด็กชายมีหนวดเคราเร็วขึ้น พฤติกรรมทุกด้านใกล้เคียง “ผู้ใหญ่”เร็วขึ้น บทความในนิตยสารทางการแพทย์Lancet Child & Adolescent Health จึงได้ปรับเปลี่ยนช่วงวัยนี้ใหม่เป็น 10-24 ปี รุ่น z นี่แหละที่ตอนนี้กำลังมีบทบาททางการเมืองเป็นอย่างมากในบ้านเรา ที่กำลังสนุกกันก็คือ flashmob หรือการชุมนุมฉับพลันโดยมีจุดประสงค์หลักคือขับไล่พลเอกประยุทธ์ ฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ที่แปรสภาพมาจากขบวนการกปปส.และพธม.โจมตีว่า ความเคลื่อนไหวก่อม็อบของวัยรุ่นเหล่านี้ เกิดจากการยุยงของนักการเมืองสมาชิกอดีตพรรคอนาคตใหม่ ทั้งนี้เพราะการก่อม็อบเกิดขึ้นเกือบจะทันทีหลังการตัดสินยุบอนค.และตัดสิทธิผู้บริหารพรรคคนละ 10 ปีของศาลรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่าการเมืองจะลงถนนหากศาลตัดสินยุบพรรคอนค. อย่างไรก็ดี มีการสัมภาษณ์ผู้นำการก่อม็อบและผู้เข้าร่วมม็อบเหล่านั้น พบว่า ส่วนใหญ่ตื่นตัวตามกระแสโซเชียลมีเดีย มากกว่าการยุยงของนักการเมือง เด็กและวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาถึงเตรียมอุดมศึกษาเหล่านั้น มีความตื่นตัวต่อปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมผ่านการสื่อสารออนไลน์มากกว่าสื่ออื่นๆ Internet of Things อินเตอร์เน็ตเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคนรุ่น Y-Z ไม่ว่าจะด้านติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อน ข่าวสาร ข้อมูล วิดีโอเกม ซื้อขายสินค้า ดูหนังฟังเพลง วิทยาการความรู้ทุกด้าน ความคิดทางสังคม ทางการเมือง ฯลฯ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ย่อมจะคิดตามเด็กไม่ทัน เมื่อมีการแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้งกัน ก็เกิดความรู้สึกว่าเด็กคิดต่าง ก้าวร้าว หรือถึงกับหาว่านอกคอก มีโซเชียลมีเดียเป็นพ่อเป็นแม่ น่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งนอกจากเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว มันยังเป็นครูอาจารย์ด้วย ยังมีคลื่นโซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ๆถาโถมเข้ามากลบลบคลื่นลูกเก่า วันนี้ คลื่นลูกเก่า Generation X ถูกลบเลือนไปสู่สังคมชราภาพ กลายเป็น Silent Generation ไปแล้ว แม้จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งล่าสุด 51.4 ล้านคน จะเป็นเสียงของคนวัยชราอยู่ 1 ใน 4 ของคะแนนเสียงทั้งหมด 33,775,230 คะแนน เหตุจากรุ่นแซดส่วนหนึ่งละเลยไม่ใส่ใจเรื่องเลือกตั้ง แต่จากการทำแฟลชม็อบช่วงนี้ ได้ปลุกจิตสำนึกของพวกละเลยเลือกตั้งให้หันมารักษาสิทธิของตัวเองมากขึ้น ครั้งที่แล้วอนค.มีผู้เลือก 6 ล้านคน หากมีเลือกตั้งครั้งต่อไป เด็กวัย 18 ปีที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง เพิ่มตามอัตราเกิดปีละ 7.6 แสนคน(สถิติ 2562) สามปีเพิ่ม 2.28 ล้านคน เด็กพวกนี้จะเลือกใคร ?