ทวี สุรฤทธิกุล “คืบก็สภา ศอกก็สภา” คือข้อเตือนใจสำหรับนักการเมือง ข้อคิดข้างต้นเป็นคำพูดของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2523 อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนเพิ่งจะได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการติดตามท่านไปประชุมสภา ซึ่งในขณะนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็น ส.ส.กรุงเทพมหานครและเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม พรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 1 ที่เป็นแกนหลักของรัฐบาลที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำพูดนี้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะมาจากสุภาษิตไทยที่ว่า “คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล” ที่หมายถึง การออกไปในสถานที่ที่น่ากลัวอันตราย ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือการให้ความเคารพ ไม่ควรไปแสดงอาการลบหลู่ดูหมิ่นหรือประมาทใดๆ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า ท่านเห็นนักการเมืองที่ไม่เคารพสภาและนึกว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ จะทำอะไรๆ ก็ได้ในสภา “มีอันเป็นไป” อยู่หลายคน ท่านบอกว่ารัฐสภานั้นเป็น “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ไม่เพียงแต่เป็นเขตพระราชฐาน แต่ยังเป็นที่รวมของ “พลังอำนาจต่างๆ ในแผ่นดิน” ไม่ใช่เพียงแค่พลังของบรรดาเทพยาอารักษ์ที่ปกปักรักษาแผ่นดินไทย แต่ยังหมายถึง “พลังของประชาชน” ที่ทำให้สถาบันหลักในทางการเมืองการปกครองคือรัฐสภานี้ได้ดำรงคงอยู่นั้นด้วย เพราะเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย พลังของประชาชนจึงมีความสำคัญที่สุด แต่ที่เหนือกว่านั้นคือประชาธิปไตยของเราเป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันรัฐสภาของไทยจึงมีความสูงส่งมากกว่ารัฐสภาที่ใดๆ ในโลก ดังที่ผู้เขียนได้เล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า ผู้แทนราษฎรของไทยจำนวนหนึ่งมักจะหลงทะนงตนว่ามีอำนาจล้นเหลือ เพราะสามารถคุมข้าราชการได้ กระทั่งคุมทหาร หรือบางคนคิดเลยเถิดถึงการควบคุมสถาบันสูงสุดอันเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั้งประเทศนั้นด้วย แต่ที่สุดก็ไม่มีนักการเมืองคนใดมีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง แม้กระทั่งทหารที่ขึ้นมาปราบนักการเมืองเหล่านั้น ก็หาได้มีอำนาจ “ล้นฟ้า” แต่อย่างใดไม่ เพราะที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พลังอำนาจของประชาชน ที่ในระบอบของไทยนั้นเรามีพระมหากษัตริย์คอยให้ความคุ้มครองดูแล ดังที่เป็นสัจธรรมของการปกครองของประเทศไทยปรากฏให้เห็นมาทุกยุคทุกสมัยว่า “พระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ในข้อเตือนใจที่ว่า “คืบก็สภา ศอกก็สภา” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขยายความว่า การทำงานในสภา(ของนักการเมือง)นอกจากจะต้องให้ความเคารพต่อสถานที่แล้ว ยังจะต้องให้ความเคารพกับการทำหน้าที่ของประชาชนด้วย คนที่เป็นผู้แทนราษฎรจะต้องไม่ลืมว่าตัวเองได้รับสิทธิอำนาจมาจากประชาชน เริ่มต้นเขาคือ “หน้าตา” หรือเป็นตัวตนของประชาชนผู้ที่เลือกตั้งเขามานั่นเอง ดังที่มีคำคมทางการเมืองฝรั่งกล่าวไว้ว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนราษฎรของเขาก็เป็นอย่างนั้น” คือ ถ้าผู้แทนฯคนนั้นทำดีมีชื่อเสียงก็จะเป็นคุณงามความดีและเกียรติยศแก่ประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาด้วย ในทางตรงกันข้าม หากทำอะไรเสื่อมเสีย ความเสื่อมเสียนั้นก็จะไปสู่ประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาด้วยเช่นกัน อีกอย่างหนึ่งและน่าจะเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของผู้แทนราษฎรก็คือ การทำหน้าที่ของเขาส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติโดยตรง คือถ้าทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมุงมั่นจริงใจ ประชาชนและประเทศชาติก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ตรงกันข้ามหากทำหน้าที่ด้วยการทุจริตคดโกง ประชาชนและประเทศชาติก็จะเสียหาย อาจถึงขั้นล่มจมและสิ้นชาตินั้นได้ เช่นเดียวกันกับในยุคที่ทหารขึ้นมามีอำนาจ ทหารก็ยังต้องมีสภา(ที่ทหารแต่งตั้ง)ไว้ทำงานให้ทหาร สมาชิกรัฐสภาที่ทหารแต่งตั้งนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน เขาก็ต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบของสมาชิกรัฐสภาที่ดีนั้นด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าในยุคที่ทหารหรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งครองเมือง ถ้าหากทำอะไรไม่ดีแล้ว สังคมไทยก็จะระทมทุกข์และประเทศชาติก็เดือดร้อนวุ่นวาย จนถึงขั้นที่ทหารและนักการเมืองเหล่านั้นอยู่ไม่ได้ ต้องมีอันเป็นไปด้วยชะตากรรมอันน่าเวทนาต่างๆ ผู้เขียนเคยแย้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า ก็ยังเห็นมีนักการเมืองบางคนที่คดโกงหรือฆ่าประชาชนยังอยู่ดีสบายดี แถมบางคนก็ยังมีอำนาจวาสนามากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ตอบว่า “ก๊วยเจ๋งเอ๋ย ไอ้กรรมเวรนี่นะบางครั้งมันก็ได้ผลกับผู้ที่กระทำโดยตรง บางครั้งก็ไปเกิดผลกับคนอื่น เช่น ลูกหลานและบริวาร ไอ้กรรมของนักการเมืองนี่ มันเป็นกรรมที่ทำกับประชาชน ผลกรรมส่วนหนึ่งจึงส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง ดังที่เราเห็นประเทศชาติเกิดความเสียหายอยู่นี้ แต่บางส่วนแม้มัน(นักการเมืองที่ทำอะไรชั่วร้ายเลวทราม)จะไม่ได้รับผลในทันที แต่มันก็จะต้องรับกรรมในเวลาต่อไป และก็จะไม่ได้เกิดเฉพาะแก่มันเท่านั้น มันจะไปเกิดขึ้นกับลูกหลานและบริวารของทันนั่นแหละ อย่างหนึ่งมันก็เสียชื่อเสียง ให้ผู้คนจดจำแต่ความชั่วของมัน และอีกอย่างหนึ่งมันก็จะไม่ได้ไปผุดไปเกิด จากคำสาปแช่งของผู้คนทั้งหลายนั่นเอง” ท่านผู้อ่านที่เป็นพุทธศาสนิกชนคงจะพอเข้าใจว่า เรื่องบุญและกรรมนี้เป็นเรื่องที่เราทำให้ส่งผลแก่ผู้อื่นได้ อย่างเช่น เราทำบุญให้บรรพบุรุษ เรากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่คนหรือสัตว์ที่ล่วงลับ มีคนร่วมทำบุญและอวยพรวันเกิดให้กับเรา พ่อแม่ทำบุญให้ลูกหลาน ฯลฯ แม้บางทีตัวเราที่ทำบุญให้ผู้อื่นหรือผู้อื่นที่ทำบุญให้เราอาจจะไม่ได้รับผลบุญนั้นโดยตรง (ที่จริงได้มากทีเดียว ก็คือการทำทานให้หมดกิเลส และการทำสิ่งดีๆ ให้เกิดความสุขทางใจ) แต่บุญกุศลก็ไปเกิดแก่ผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างตัวเราเองที่เป็นผู้เป็นคนอยู่นี้ ก็เป็นเพราะบุญกุศลที่พ่อแม่สร้างมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด พอเราเกิดก็ส่งผลให้เรามีอาการครบ 32 แล้วบุญกุศลของพ่อแม่นั้นก็เลี้ยงดูเราให้เจริญเติบโตรอดพ้นโรคภัยต่างๆ มา โดยบางทีพ่อแม่ก็อาจจะต้องทนทุกข์ยากลำบากเพื่อให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งนั่นอาจจะเป็น “ผลของบุญ” ที่พ่อแม่พอใจและมีความสุขเป็นที่สุดแล้ว นักการเมืองน่าจะเห็นประชาชนนั้นเป็นพ่อแม่ จงอย่าได้ “แสดงอภินิหาร” ให้พ่อแม่เดือดร้อนมากนัก จงรักประชาชนและตอบแทนให้ความสุขกับประชาชน เหมือนลูกที่ดีควรจะกระทำต่อพ่อแม่ของตนกระนั้น