ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล การปฏิรูปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ใช้ระยะเวลาเกือบ 67 ปี ถามว่า “นานหรือไม่?” ก็ต้องตอบว่า “ไม่นาน!” เนื่องด้วยระบอบการเมืองการปกครองของจีนก่อนปีค.ศ.1949 นั้น ต้องยอมรับว่า หนึ่ง ประเทศใหญ่มากหลากหลายแคว้น สอง ผู้ปกครองแต่ละแคว้นนั้นมีพื้นที่ใหญ่มาก ยากแก่การดูแลจากการปกครองส่วนกลาง สาม เมื่อมีความรู้สึกว่าสามารถดูแลปกครองกันเองได้ และไม่ค่อยมีการตรวจสอบจากส่วนกลางจึงเกิด สี่ การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นมหาศาล ที่เป็นที่มาของคำว่า “ใต้โต๊ะ!” และห้า ความยากจนที่ประเทศจีนยิ่งใหญ่มากบวกกับประชากรเยอะมากจึงเกิดการข่มขี่ข่มเหงประชาชนด้วยการคดโกง ดังนั้น การปฏิรูป 67 ปีนั้น ต้องยอมรับว่า “เร็วมาก” ที่จีนสามารถยืนผงาดอยู่บนพื้นผิวโลกได้อย่างสง่างามด้วย “มาตรการเอาจริงเอาจัง!” ของบรรดากลุ่มผู้นำในยุคบุกเบิก อาทิ ประธานเหมา เจอตุ๋ง จูเอินไหล เติ้งเสียวผิง และบรรดารุ่นน้องๆ อาทิ จูหลงจี เหวินเจียเป่า เป็นต้น ที่ต่างมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศและพัฒนาประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่สำคัญคือ “มุ่งมั่นก้าวทีละก้าว” ซึ่งนับว่ามีนัยยะสำคัญอย่างมากที่ “สืบทอดความจริงจังอย่างต่อเนื่อง” จนกระทั่งถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิง คนปัจจุบัน การปฏิรูปนั้นมิใช่เพียงแต่ใช้ระยะเวลาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น แล้วจะปฏิรูปได้ “การปฏิรูปที่แท้จริง” ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ที่จะสามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจังได้ และขอย้ำว่า “การปฏิรูปต้องสืบทอดความจริงจังอย่างต่อเนื่อง” ด้วย “อุดมการณ์หนักแน่นและมั่นคง” ส่วนประเทศไทยเราหรือรับรองเลยว่า “ถ้าปฏิรูปครั้งนี้ไม่สำเร็จ” ก็คงจะต้องลืมได้เลยว่า “ปฏิรูปไม่ได้อย่างแน่นอน!” เนื่องด้วย หนึ่ง สังคมไทยจมปลักอยู่กับ “ระบบศักดินา” ที่นำพาสู่ “ระบบอุปถัมภ์” และ “ระบบเล่นพรรคเล่นพวก” สอง “ระบบเครือญาติ” และ “ระบบรุ่น” ที่ต้องมีการนับญาติ นับพี่นับน้อง และนับรุ่นทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้เกิดมาเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องใดๆ เพียงแต่ “นับญาติ” กันเท่านั้น สาม จากระบบต่างๆ เหล่านั้นที่ขาดหรือ “ไร้คุณธรรม และจริยธรรม” จึงทำให้ “โครงสร้าง” ของสังคมไทย เรียกภาษาชาวบ้านว่า “โย้เย้!” หรือ “แทบไม่มีโครงสร้างตามหลักวิชาการ” เลย และอาจเลยเถิดมากกว่านั้นคือ “โครงสร้างไร้อุดมการณ์” ที่มีแต่ “ระบบศักดินา-ระบบอุปถัมภ์” เท่านั้น สี่ “ระบบการศึกษา” ที่สังคมไทยยังคงอ่อนแออย่างมากในภูมิภาคเอเซียนี้ ด้วย “โครงสร้างการเรียนการสอน” และ “หลักสูตรการเรียนการสอน” แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ “ความเป็นครูของครู” ที่มีจำนวนไม่น้อยและอาจไม่มากที่ “มิได่ทุ่มเท” กับ “อาชีพครู” ที่อาจเป็นเพียง “อาชีพเสริม” ของการเป็นครู แต่มีอาชีพหลักด้วยการ “ขายสินค้าตรง” หรือ “ไม่ก็ขายประกันภัย” และการเรียนการสอนที่หนักมากจนเด็กและเยาวชนไทยอ่อนล้า และห้า สังคมไทยเป็นสังคมที่ “ติดและตามกระแสง่ายมาก” และไม่สำคัญเท่ากับ “สื่อมวลชน” ที่ชอบนำเสนอ “ละครน้ำเน่า” ที่มิได้ประเทืองปัญญาเยาวชนและประชาชนในสังคมเลย จริงๆ แล้ว “การปฏิรูปของจีน” นั้นต้องทุ่มเททั้ง “ความตั้งใจ-ความจริงใจ” ของกลุ่มผู้นำดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น ที่มุ่งมั่นอย่างมาก มิเช่นนั้นระยะเวลา 67 ปี ตั้งแต่ค.ศ.1949 คงไม่สามารถทำให้จีนเจริญรุ่งเรืองแทบทุกมิติในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทุกเมืองใหญ่จะพัฒนาให้เป็นเมืองใหญ่จริงๆ และแน่นอนประชากรไม่ต่ำกว่า 10-20 ล้านคนขึ้นไป ส่วนประชาชนนั้น ต้องยอมรับความจริงว่า คุณภาพชีวิตนั้นยังคงยากลำบากกว่าชาวเมือง ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ชาวชนบทนั้น ความเจริญยังไม่สามารถแผ่ปกคลุมได้อย่างทั่วถึง บางเมืองถนนหนทางเล็กมาก และกระต๊อบหลังเล็กๆ ที่ยังคงมีอาม่า อากง ที่ทำการเกษตรอยู่ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า “ความเจริญยังกระจายไม่ทั่วถึง” ถ้าเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่ “พัฒนาแล้ว” ความเจริญจะแตกต่างกัน จนในที่สุด “นโยบายสี่ทันสมัย” ของอดีตประธานเติ้งเสี่ยวผิง ที่พลิกประเทศจีนสู่ความเจริญ กล่าวคือ “นโยบายสี่ทันสมัย” ประกอบไปด้วย ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านการป้องกันประเทศ และด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมื่อปีค.ศ.1976 ด้วยการพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงมากขึ้น พร้อมกับพัฒนาด้านการตลาด และสร้างความจูงใจ พร้อมช่วยแก้ไขปัญหายากจน และที่สำคัญชุมชนต่างมีส่วนร่วมในการเพิ่มผลผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเบาก่อน เพื่อการส่งออกและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และที่สำคัญพัฒนา “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” บริเวณชายฝั่งทะเล 5 เขตด้วยกัน พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การคมนาคม ขนส่ง การสื่อสาร และนำระบบกลไกการตลาดมาใช้ โดยให้ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์อุปทานของตลาด การพัฒนาด้านการป้องกันประเทศ โดยมุ่งเน้นพัฒนากองทัพเพื่อสร้างความทันสมัย โดยมุ่งหลักการ “ความมั่นคง” ทั้งนี้ มุ่งเน้นจำนวนทหารให้ลดน้อยลง แต่พัฒนาด้านคุณภาพ ซึ่งส่งเสริมการศึกษาในโรงเรียนทหารและพัฒนาอาวุธกองทัพให้ทันสมัย และด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เพื่อเป็นฐานรากรองรับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ซึ่งจีนไม่เคยมีมาก่อนเลย โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการวิจัยทางด้านอาวุธ จนปัจจุบันจีนพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนทันสมัยก้าวตามหลังติดๆ ตามหลังสหรัฐอเมริกาเลย! อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปของจีนนั้น ได้ถูกจัดแบ่งเป็น 4 ด้าน แต่ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี ที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ยังต้องพัฒนาประเทศและปฏิรูปพร้อมกันไป แต่ “นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ที่จีนได้พัฒนาอย่างมากช่วงอดีต ประธานาธิบดีจู หลงจี และเหวินเจียเป่า จนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศที่มีความมั่นคงต้องเชิญจีนเป็น “สมาชิกความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” และอยู่ในชั้นแนวหน้าของ “กลุ่มจี8” และ “กลุ่มจี20” “อดทนและมุ่งมั่นเท่านั้น” ที่จะสามารถปฏิรูปและพัฒนาได้!