ทวี สุรฤทธิกุล นักการเมืองรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มี “อภินิหาร” ต่างกันอย่างไร นักการเมืองรุ่นเก่าสร้างอภินิหารใน “แนวดิ่ง” หมายถึงการสร้างอิทธิพลทางการเมืองด้วยการ “ถีบตัวเอง” ขึ้นไป จากนักการเมืองโนเนมมีอิทธิพลน้อย ให้เป็นนักการเมืองผู้โดดเด่นมีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น และชอบที่จะควบคุมผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นเข้ามาเป็นบริวาร พร้อมกับสร้างผลประโยชน์จากอิทธิพลดังกล่าว ส่วนนักการเมืองรุ่นใหม่สร้างอภินิหารใน “แนวราบ” หมายถึงการสร้างอิทธิพลด้วยการแผ่ขยายความนิยมชมชอบออกไปในแนวกว้าง ผ่านผู้คนหลากหลายกลุ่ม เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ไม่เน้นความเป็น “สตาร์” หรือ “ดาวเด่น” แต่เน้นการสร้างกลุ่มและพันธมิตร ร่วมกับการสร้างการมีส่วนร่วมและมีความสัมพันธ์ร่วมกันให้ต่อเนื่อง “อภินิหาร” คือ การสร้างตัวตนของนักการเมือง ตั้งแต่การสร้างความนิยม การสร้างชื่อเสียง(บางครั้งก็สร้าง “ชื่อเสีย” เพียงแค่ขอให้มีชื่อติดปากผู้คน) การสร้างความสำเร็จ (เช่น ได้เป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรี) และการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย (นี่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักของนักการเมืองทั้งหลาย ที่งที่ได้มาโดยสุจริตและได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น) รวมถึงการมีอิทธิพลได้มีอำนาจเหนือผู้อื่นนั้นด้วย แปลง่ายๆ ว่านักการเมืองส่วนใหญ่ต้องการที่จะเป็นอะไร “พิเศษ” มากกว่าคนอื่นๆ ด้วยการกระทำอะไรแปลกๆ ไปจากที่คนธรรมดาทั้งหลายเขากระทำกัน เราจึงเรียกการกระทำอันพิลึกพิสดารนี้ว่า “อภินิหาร” ผู้เขียนเติบโตมาในยุคที่การเมืองไทยกำลังเป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ในยุคที่ทหารครองเมืองและนิสิตนักศึกษากำลังออกมาต่อต้าน ได้เห็นความวุ่นวายของบ้านเมืองภายหลังการได้ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถูกทหารยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ทำงานกับปรมาจารย์ทางด้านการเมือง คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รู้จักสนทนากับนักการเมืองทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่(ในยุคนั้น)หลายคน ได้มาเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของทหารในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ร่วมรณรงค์และจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เข้าร่วมกับขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำจัดระบอบทักษิณ จนจับพลัดจับผลูได้ไปร่วมในสภานิติบัญญัติที่ทหารตั้งใน พ.ศ. 2549 แล้วก็มาร่วมกับม็อบ กปปส.ขับไล่ระบอบทักษิณนั้นอีกครั้ง ในปี 2556 จนกระทั่งทหารออกมายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และก็ยังทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมาตลอดจนถึงเวลานี้ เรียกว่าถ้าตัดกิจกรรมของชีวิตในช่วงก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยออกไป ชีวิตที่มีต่อมาต่อจากนั้นล้วนแต่ “คลุกคลี” อยู่ในทางการเมืองมาโดยตลอด จนนับเวลารวมได้กว่า 40 ปีนี้ สิ่งที่รู้สึก “ช้ำใจ” มากที่สุดในประสบการณ์ทางการเมืองทั้งหลายนั้นก็คือ “ความไม่เอาไหนของทหาร” ทั้งๆ ที่ปรมาจารย์ทางการเมืองไทยคือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ผู้เขียนได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่านอยู่ช่วงหนึ่ง ได้ “ตักเตือน” แล้วว่า “เห็นฟ้าแลบอย่านึกว่าฝนจะตก” เมื่อเวลาที่พูดถึงทหาร ในความหมายที่ว่าที่เห็น(ทหาร)ใหญ่ๆ อวดอิทธิพลกันอยู่นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เรื่อง บริหารบ้านเมืองไม่เป็น แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แต่ที่แย่เอามากๆ ก็คือ ดีแต่สร้างปัญหาทิ้งไว้ให้ลูกหลานและเอาแต่เสวยสุขท่ามกลางกองปัญหาเหล่านั้น ท่านอาจจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงครั้งที่ท่านได้ไปร่วมงานเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วง พ.ศ. 2491 – 2492 ว่าเป็นเพราะจอมพล ป.มาชวนให้ไปช่วยกัน “สร้างประชาธิปไตย” เพราะเห็นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จบมาจากประเทศอังกฤษ ประเทศแม่แบบของระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลชุดนั้นก็มีปัญหามากเพราะมัวแต่จ้องทำลายคู่แข่งทางการเมือง และทหารไม่ได้สามัคคีกันเท่าใด ที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ยึดอำนาจเนรเทศจอมพล ป.ออกนอกประเทศ ทีนี้จอมพลสฤษดิ์ขอให้ท่านมาช่วยร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าท่านเป็นคนที่เคารพเทิดทูนต่อพระมหากษัตริย์เป็นที่ยิ่ง จะได้ช่วยกันพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ แต่จอมพลสฤษดิ์กลับมีเรื่องมัวหมองมากมาย อีกครั้งหนึ่งที่ท่านผิดหวังจากทหารก็คือการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ท่านต้องเข้าช่วย “อุ้มชูเลี้ยงดู” อยู่หลายปี แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพให้เกิดขึ้นตามที่ทหารอวดอ้างไว้นั้นได้ จนถึงในช่วงที่คณะทหารที่นำโดย รสช.ปกครองประเทศ ท่านก็ยังต้อนรับนายทหารกลุ่มนั้นด้วยไมตรีอันดี ด้วยคาถาเดิมๆ ที่ทหารมักจะนำมาโน้มน้าว “โปรดช่วยสนับสนุนทหารที่ทำเพื่อชาติบ้านเมือง” ในช่วงที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในตอนต้นปี 2536 มีลูกศิษย์ลูกหาบางคนที่ไปเยี่ยมได้นำเรื่องการเมืองไปคุยกับท่านในบางครั้งด้วยความห่วงใยในบ้านเมือง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้ข้อคิดว่า บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว ดูตัวท่านสิหลายครั้งที่คิดว่าเราสามารถช่วยบ้านเมืองได้ด้วยตัวเราเอง รวมถึงหลายๆ ครั้งที่มีพรรคพวกและคนที่เคารพนับถือ(น่าจะเป็นบรรดานายทหารต่างๆ ที่กล่าวมานั้นด้วย)มาขอร้องให้ช่วย เราก็พยายามทำงานการเมืองอย่างหนัก หลายครั้งต้องเจอปัญหาต่างๆ จนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่บ้านเมืองก็ยังไปได้เพียงแค่นี้ “ผมคงทำได้แค่นี้ พวกคุณและลูกหลานของคุณนั่นแหละที่จะต้องช่วยกันทำต่อไป” อภินิหารของนักการเมืองมีทั้งส่วนที่นักการเมืองสร้างขึ้นเอง กับในส่วนที่สังคมรอบข้างช่วยกันสร้างขึ้น “การควบคุมทางสังคม” คือเครื่องมืออันสำคัญที่จะควบคุมการแสดงอภินิหารของนักการเมืองเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะแต่การควบคุมเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รวมถึงนักการเมืองที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหารนั้นด้วย เพราะปัญหาของบ้านเมืองล้วนเกิดจากการกระทำของนักการเมืองทั้งหมดเหล่านี้เป็นผู้สร้างขึ้น ส่วนหนึ่งก็ด้วยการอ้างอำนาจจากประชาชนที่เลือกเอาเขาเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็จากการอ้างว่าพวกตนมีหน้าที่ในการพิทักษ์ความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นประชาชนจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในการใช้อำนาจของนักการเมืองทั้งสองพวกนั้น ด้วยการควบคุมตรวจสอบทางสังคม ที่จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการระงับ “อภินิหารอันพิสดาร” ของนักการเมืองทั้งหลาย นี่คือ “อภินิหารของประชาชน” ที่จะช่วยกันสร้างประเทศของเราต่อไป