ทวี สุรฤทธิกุล บ้านเมืองยิ่งไม่สงบ ประชาชนยิ่งต้องสยบให้ทหาร ที่จะว่าต่อไปนี้เป็นแค่ “ทฤษฎี” ในระดับที่เป็นความเชื่อที่รอการพิสูจน์เท่านั้น อย่าได้ตื่นเต้นตกใจไปจนเกินเหตุ เพราะเป็นเพียงจินตนาการของนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งที่ฝันร้าย เนื่องด้วยไม่ค่อยมั่นใจในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ของผู้ปกครองในขณะนี้ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าเดิม หรืออาจจะแย่กว่าเดิม หรือบางทีอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ขอเรียกทฤษฎีนี้ว่า “โควิด-19 กับการแปรรูปอำนาจทางการเมือง” อธิบายได้ว่ากระบวนการแปรรูปอำนาจเป็นผลโดยตรงจากแรงบีบทางสังคม โดยจะเกิดจากการที่มีคนโจมตีถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลทำอะไรช้าไป ไม่มีความเด็ดขาดเข้มแข็ง จนถึงการจัดการกับผู้กระทำผิดในหลายๆ เรื่อง ที่ดูไม่จริงจัง ในการนี้ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงคือตัวนายกรัฐมนตรี จนถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ลาออก แต่ก็มีกระแสสังคมบางส่วน(ที่น่าจะเป็นส่วนใหญ่เพราะส่วนหนึ่งจะเป็นพลังเงียบและสนับสนุนรัฐบาลนี้มาแต่ต้น รวมถึงคนที่ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย ไม่อยากเห็นคนไทยทะเลาะเบาะแว้ง หรือขัดแย้งกันในท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้) ยังสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนี้อยู่ จึงไม่อยากให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เพราะจะนำมาซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น หรือถ้ามีการยุบสภาและมีเลือกตั้งใหม่ก็ยิ่งจะนำมาซึ่งความยุ่งยากมากขึ้น ทั้งการเกิดภาวะสุญญากาศทางการบริหารในช่วงที่แข่งขันกันหาเสียงเลือกตั้ง และความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง(ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับหวงอำนาจฉบับนี้) ก็ยิ่งน่าจะสร้างวิกฤติให้แก่สังคมมากขึ้น ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ “การกระชับอำนาจ” ตั้งแต่ระดับทำได้ง่ายที่สุดคือปรับการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ดูเข้มแข็ง เด็ดขาด จริงจัง สร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนให้มากขึ้น พร้อมกับจัดการปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น การจัดหาหน้ากากอนามัยให้พอเพียง การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ประชาชนมีความมั่นใจ และการจัดระเบียบสังคมอย่างเอาใจใส่ ทั้งนี้ถ้าถึงขั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือออกกฎหมายเพิ่มเติมก็ต้องทำ นั่นคือการยกระดับ “ภาวะผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ที่จะต้องแสดงบทบาทเป็น “แม่ทัพของประชาชน” ที่จะนำคนไทยทั้งประเทศสู้ศึกโควิด-19 ในครั้งนี้ ทั้งนี้การกระชับอำนาจในระดับสูงสุดอาจจะกระทำได้ถึง “การระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” โดยเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขวิกฤติได้ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอยู่ จำเป็นจะต้องแก้ไขกติกาบางอย่าง เพื่อจัดทัพรัฐบาลเสียใหม่ เช่น ให้มีรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อให้นักการเมืองทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมมือช่วยกันทำงาน หรือการเพิ่มอำนาจเพื่อเพิ่มบทบาทให้กับนายกรัฐมนตรีสามารถตัดสินใจได้มากขึ้น แม้จะดูเป็น “เผด็จการกลายๆ” แต่ก็อาจจะได้ผลในการสร้างความสบายให้แก่ประชาชน “สายฮาร์ดคอร์” ที่อยากจะเห็นความเด็ดขาดเข้มแข็งของรัฐบาลและผู้นำประเทศ นอกจากโควิด-19 อาจจะนำมาซึ่งการแปรรูปอำนาจตามที่กล่าวมาแล้ว ในอีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือ “การเปลี่ยนผู้นำ” คือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และอาจจะถึงขั้นการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง คือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือสร้างระบบการเมืองขึ้นใหม่ โดยอาจจะเป็นไปได้ใน 2-3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางแรก ก็ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน โดยมีบางท่านคาดว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อาจจะถึงภาวะ “เหลือจะทน” คือถูกแรงบีบจากสังคมมากๆ ก็อาจจะน้อยใจและลาออก หรือมีการทำ “ข้อตกลงใหม่” กับผู้นำทหาร แล้วหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน โดยให้เสนอชื่อผ่านการรับรองของรัฐสภา ตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญนั้นต่อไป แนวทางที่สอง ในแนวที่นุ่มนวลก็คือ ให้มีการประชุมรัฐสภาภายใต้การตกลงร่วมกันให้มีการระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือถ้ารัฐสภาตกลงกันไม่ได้ก็ต้องใช้แนวทางที่แข็งกร้าว คือการทำรัฐประหารให้มีการระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราให้ได้ โดยยังคงสภาทั้งสองไว้ไม่ไปแตะต้อง เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระแทกมากนัก เพียงแต่ลดบทบาทของสภาลงไป แล้วเพิ่มอำนาจให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดใหม่ จากนั้นก็ให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหาร เพื่อเข้าควบคุมภาวะวิกฤตินี้ให้เด็ดขาด เช่นเดียวกันถ้าจะให้มีความประนีประนอมก็อาจจะจัดตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่ถ้ามีปัญหาตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ทหารนั่นเองเข้าควบคุมจัดการทั้งหมด โดยกำหนดระยะเวลาให้พอควร เพื่อลดแรงบีบอัดจากสังคม ไม่เป็นเผด็จการไปนานนัก อีกแนวทางหนึ่ง ถ้าทั้งสองแนวทางไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้ยาก ก็อาจจำเป็นจะต้องมี “อัศวินม้าขาว” (ซึ่งน่าจะเป็นนายทหารที่ไม่อาจจะทนดูการบริหารแบบ “ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม” นั้นได้ ในขณะที่กระแสสังคมต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและผู้บริหารที่เด็ดขาด คล้ายๆ สภาพการณ์ในปัจจุบันนี่แหละ) เข้ามาจัดการกับปัญหา เพราะถ้าประชาชนขาดความเชื่อมั่นในผู้นำและรัฐบาลแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็จะมีอุปสรรคไปหมด วิกฤติโรคระบาดนี้ก็จะยิ่งรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการช่วงชิงกัน “ทำงานโง่ๆ” จากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้หากอัศวินคนดังกล่าวนี้เข้ามาแล้วสามารถสะสางปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับสร้างอนาคตให้เป็นที่พอใจของประชาชนได้ อัศวินคนนี้ก็อาจจะได้รับการยินยอมให้ปกครองประเทศไปอีกสักระยะ เพื่อวางโครงสร้างใหม่ เช่น การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นต้น หลายๆ คนอาจจะมี “ฝันร้ายท่ามกลางโควิด-19” เหมือนกันกับผู้เขียนนี้ด้วย ซึ่งก็เป็นอารมณ์โดยธรรมชาติอย่างหนึ่งทางการเมือง เมื่อเห็นว่าการบริหารประเทศซึ่งแต่เดิมก็ดูท่าว่าคงจะไปได้อย่างลำบาก อยู่แล้ว ครั้นมีวิกฤติเข้ามาอารมณ์ก็เลย “กระเจิง” อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จึงมีข้อเสนอต่างๆ ออกมามากมาย ก็อย่าไปหาว่าประชาชนทะเลาะกับรัฐบาล แต่ให้คิดเสียว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย รีบคิดและแสดงความเห็นไว้ก่อน ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้คิดได้แสดงในไม่ช้านี้ เพราะผู้นำท่านคงไม่ปิดประเทศ แต่อาจจะ “ปิดปาก” ไม่อยากฟังเสียงนกเสียงกาก็เป็นได้