ทวี สุรฤทธิกุล ประชาชนยังคาใจกระทรวงพาณิชย์และกองทัพบก เกือบ 3 เดือนที่ประเทศไทยประสบวิกฤติการลุกลามระบาดของโรคร้ายโควิด-19 มีกระทรวงหนึ่งที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการควบคุมดูแลสินค้าที่จำเป็นในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ก็คือกระทรวงพาณิชย์ ที่ยังไม่สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้พอเพียงกับการใช้ของประชาชน ทั้งยังมีข่าวลือว่าอาจจะมีนักการเมืองและข้าราชการร่วมกักตุน แต่เจ้ากระทรวงก็ไม่เห็นติดตามเอาเรื่องผู้ใด ตลอดจนผู้นำรัฐบาลก็ดูเหมือนเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลพรรคนี้ ไม่เข้าจัดการ “ลงแซ่” ให้มีผลอะไรให้ออกมาเป็นที่มั่นใจถึงการเอาจริงเอาจัง เราจึงยังคงเห็นการประกาศขายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในราคาแพงเต็มไปทุกสื่อออนไลน์ ในขณะนี้เจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบ “หลบหน้า-ปิดปาก” ไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะสร้างความสบายใจให้กับประชาชนในเรื่องนี้ พอดีกับที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้กลไกของรัฐในส่วนผู้ฏิบัติ คือข้าราชการในส่วนต่างๆ ได้ทำงานให้เต็มที่ โดยให้นักการเมืองจำพวกรัฐมนตรีและลิ่วล้อออกนั่งข้างๆ กระทรวงนี้คงจะนึกว่า “เรารอดตัวแล้ว” แต่ก็อย่าได้ฝันหวานไปถึงขนาดนั้น เพราะประชาชนจะต้องเช็คบิลท่านแน่ๆ รวมถึงผู้นำรัฐบาลเองถ้าไม่จัดการเอาผิดกับใครในเรื่องนี้ ก็คงจะมีคนออกมาต่อต้านโจมตีเป็นจำนวนมากแน่ๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือกรณีการแพร่โรคร้ายจากผู้ที่ไปเข้าชมมวยที่สนามมวยลุมพินี ด้านข้างราบ 11 ถนนรามอินทรา เขตบางเขน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผู้ที่เป็น Super Spreader เป็นจำนวนมาก (ตามข่าวที่กองทัพบกชี้แจงว่ามีคนที่อยู่ในสนามมวยเมื่อวันนั้น “แค่” 2,500 คน) โดยนายทหารที่เป็นผู้จัดการสนามมวยก็นอนป่วยด้วยโรคร้ายนี้ด้วย ก็เพิ่งจะมีข่าวในวันพฤหัสที่ 26 ว่าจะตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เป็นายทหารผู้ใหญ่ และมีแขกระดับอภิมหาวีไอพีอยู่หลายคน ชาวบ้านก็เกรงว่างานนี้อาจจะเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะเมื่อไป “ลูบหน้า” ก็อาจจะ “ปะจมูก” เป็นจำนวนมาก งานนี้ถ้าผลการสอบสวนออกมาว่า “ไม่มีใครผิด” (ทั้งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล) ก็คงจะทำให้สังคมเกิดอารมณ์เดือด ที่แม้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศออกมาใช้ก็คงจะ “เอาไม่อยู่” พูดถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน(ชื่อเต็มว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน)ก็ให้อดคิดถึง “ความบ้อท่า” ของ พ.ร.ก.นี้มาแล้วหลายครั้งนั้นไม่ได้ สำหรับท่านที่ติดตามเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยคงจะสังเกตเห็นได้ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จัดทำขึ้นและประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2548 โดยให้เหตุผลถึงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งที่จริงการขยายตัวของความรุนแรงก็เกิดจาก “ความพล่อย” ของผู้นำรัฐบาลนั่นเองที่ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์การปล้นปืน 413 กระบอกที่ค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส เมื่อต้นปี 2547 ว่าเป็นแค่ฝีมือของ “โจรกระจอก” จากนั้นความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็แตกตัวอย่างน่ากลัว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลชุดนั้นยังใช้นโยบายปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างโหดเหี้ยม ด้วยการทำวิสามัญผู้คนกว่า 2,000 คน การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้จึงมีหลายคนมองไปว่า เป็นเรื่องของการ “แก้เก้อ” คือแก้ตัวที่ได้กระทำผิดพลาดไปอย่างมากในหลายๆ เรื่องนั้น ทว่าเหตุผลที่แท้จริงมีผู้รู้บอกว่า นี่คือ “การกระชับอำนาจ” หรือเพื่อที่จะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดของผู้นำรัฐบาล ด้วยการรวบอำนาจจากรัฐมนตรีทุกกระทรวงมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่กระนั้นนายกรัฐมนตรคนดังคนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ว่ากันว่าเป็นเพราะกลไกของรัฐคือข้าราชการจำนวนหนึ่ง “ไม่เอาด้วย” รวมถึงทหารและตำรวจที่เจ้าหน้าที่ที่สามารถใช้กำลังได้อย่างกว้างขวางตาม พ.ร.ก.นี้ ก็ดูเหมือนจะเข้าเกียร์ว่าง ไม่ยอมใช้ความรุนแรงตามที่รัฐบาล(คือตัวนายกรัฐมนตรี)ได้สั่งการแต่อย่างใด กระทั่งการต่อต้านรัฐบาลออกมาทั่วท้องถนน รัฐบาลโดยพรรคไทยรักไทยที่กุมอำนาจอยู่ในสภาในขณะนั้นก็จัดตั้งมวลชนออกมาออกมาเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้านด้วยเช่นกัน ที่สุดทหารก็ต้องออกมายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อป้องกันการเผชิญหน้ากันดังกล่าว อีกครั้งหนึ่งของความล้มเหลวของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็คือการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองใน พ.ศ. 2552 – 2553 ที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แทบจะเอาชีวิตไม่รอด จากการที่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปรุทล้อมทุบรถเพื่อกระชากตัวออกมาทำร้าย รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลการใช้กำลังตาม พ.ร.ก.นี้ (คือประสานงานกับทหารกับฝ่ายความมั่นคง)ก็อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย นี่ก็ด้วยสภาพการณ์แบบเดียวกัน คือทหารและตำรวจไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะควบคุมสถานการณ์แบบนั้นได้ ที่สำคัญคือ “ไม่ได้มีใจ” ให้กับผู้นำรัฐบาล จนกระทั่งผู้นำรัฐบาลต้องตกอยู่ในอันตรายดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายผู้นำรัฐฐาลก็ได้แต่ “อโหสิกรรม” ไม่ได้จัดการอะไรกับการย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่ที่ “ไม่เอาไหน” ในการจัดการกับความรุนแรงในครั้งนั้น ครั้งนี้นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้อีกครั้ง สังคมก็ได้แต่คาดหวังว่าท่านจะใช้อำนาจที่เหมือนเป็น “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่สามารถใช้ได้ทุกอย่างในตัวคนๆ เดียว “จัดการ” กับวิกฤติในครั้งนี้ได้อย่างเป็นที่มั่นใจแก่ประชาชน และอย่าให้เป็น “ดาบพลาสติค” อย่างที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างน้อยท่านก็ควรจะจัดการกับ “คนรอบตัว” ของท่านเอง ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ อย่าได้เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม มิฉะนั้นท่านเองนั่นแหละที่จะต้องเสียใจ เป็นความเสียใจที่ต้องเอาชีวิตของคนทั้งประเทศมาเช็ดน้ำตาท่าน