ทวี สุรฤทธิกุล หลังวิกฤติโควิด-19 อาจพลิกโฉมการเมืองไทย ช่วงเวลานี้มีหลายคนบอกว่า มีความสุขมากที่ไม่ต้องเห็นหน้านักการเมืองออกมาทะเลาะกัน จำนวนหนึ่งก็บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองมาปกครองดูแลประเทศก็ได้ มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกับข้าราชการกระทรวงต่างๆ ก็บริหารประเทศไปรอดได้ และดูดีกว่าในตอนที่มีนักการเมืองเสนอหน้าออกมาแย่งความนิยม ดีแต่สร้างภาพ มองดูบ้านเมืองตอนนี้แล้ว “สะอาดสะอ้าน” ความเบื่อหน่ายชิงชังนักการเมืองเป็นปรากฏการณ์ปกติของการเมืองในทุกประเทศทั่วโลก เพราะนักการเมืองต้องแข่งขันกัน มีการแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ว่าทำงานไม่ได้เรื่อง ดีแต่รับปากให้สัญญา แต่ทำตามสัญญานั้นไม่ได้ การเมืองเป็นเรื่องของแนวคิดที่มีความหลากหลาย จนไม่รู้ว่าการเมืองแบบใดที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี แต่ทั้งหมดนั้นประชาชนก็มองว่าเป็นความผิดของนักการเมือง ระบอบการเมืองใดๆ ถ้าได้นักการเมืองไม่ดีก็พาบ้านเมืองฉิบหายทุกที่ ตรงกันข้ามกับถ้าประเทศนั้นได้นักการเมืองที่ดี แม้จะปกครองด้วยระบอบการเมืองก็ตาม ก็ทำให้ประชาชนมีความสุขสมหวัง บ้านเมืองรุ่งเรือง ในคราวที่มีการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนเห็นว่าเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ก็คือ “การได้นักการเมืองที่ดี” โดยมองถึงมาตรการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกก็คือ การเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ได้แก่ คุณลักษณะของนักการเมืองที่พึงปรารถนา ระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักการเมือง อีกส่วนหนึ่งก็คือ การตรวจสอบควบคุมนักการเมือง ภายหลังจากที่นักการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งนั้นแล้ว (คือตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. ตำแหน่งในรัฐสภาและรัฐบาล) ได้แก่ การบังคับใช้ประมวลจริยธรรมของนักการเมืองอย่างจริงจัง (คือการควบคุมตนเองโดยนักการเมืองเอง) การควบคุมตรวจสอบโดยประชาชน และการมีองค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ ซึ่งภายหลังที่ได้บรรจุมาตรการต่างๆ เหล่านี้เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็พบว่า “นักการเมืองไทยไม่ได้ดีขึ้น” เช่น การกำหนดคุณสมบัติของนักการเมือง ที่กำหนดให้ต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็ไม่ได้ทำให้นักการเมืองมีคุณธรรมหรือความรับผิดชอบสูงขึ้น หรือการกำหนดให้ประมวลจริยธรรมสำหรับนักการเมืองเป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติ แต่พอนักการเมืองเหล่านี้เข้ามาในรัฐสภาแล้วก็ยังมีความประพฤติที่น่ารังเกียจอยู่ดังเดิม (การไม่รักษามารยาทและพฤติกรรมที่น่ารังเกียจทั้งหลาย เช่น การพูดการจา และการวางตัว เป็นต้น) หรือการสร้างกลไกต่างๆ ไว้ในพระราชบัญญัติพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง รวมถึงมีองค์กรอิสระ คือคณะกรรมการการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ก็ใม่ได้ทำให้การทุจริตในการเลือกตั้งนั้นเบาบางลง ซ้ำยังเกิดกลวิธีในการโกงเลือกตั้งที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบควบคุมโดยภาคประชาชน ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถจัดการอะไรกับนักการเมืองที่ไม่ดีทั้งหลายเหล่านั้นได้ ภาพที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศมาตรการต่างๆ ในการต่อสู้กับโควิด-19 จนล่าสุดคือการประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกนอกเคหะสถานโดยไม่มีเหตุจำเป็น ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 4 ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยไม่มีรัฐมนตรีคนใดออกมา “ขวางหูขวางตา” มองดูก็เหมือนได้เกิดความสะอาดสดใสขึ้นในระบบการบริหารประเทศ แต่ถ้าหากพิจารณาให้ลึกซึ้งก็มองได้เช่นเดียวกันว่า นี่คือความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยที่เน้น “พิธีกรรมการเลือกตั้ง” ที่ไม่ได้ทำให้การเมืองไทยดีขึ้น จนถึงขั้นที่มีหลายๆ คนคิดไปว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองมาบริหารประเทศก็ได้ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ผู้เขียนเลยมีความคิด “ตามน้ำ” เพิ่มเติมไปอีกส่วนหนึ่งก็คือ หลังวิกฤติโควิด-19 พลเอกประยุทธ์อาจจะ “Disrupt” หรือ “พลิกโฉม” การเมืองไทยเสียเลย เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นักการเมืองทั้งที่อยู่ในสภาและรัฐบาลก็มีปัญหาวุ่นวายอยู่มาก รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทั้งยังมีความระหองระแหงแย่งชิงผลประโยชน์และแย่งกันสร้างความนิยม จนรัฐบาลจวนเจียนจะไปมิไปแหล่อยู่หลายครั้ง อีกทั้งในช่วงที่คนไทยมีความเดือดร้อนในวิกฤติโควิด-19 นี้ ก็ยังมีนักการเมืองทำเรื่องหากินกับความเป็นความตายของผู้คน กระทั่งผู้คนรู้สึกว่านักการเมืองนอกจากจะอัปลักษณ์แล้ว ยังไร้ประโยชน์ และเป็น “ตัวหายนะของประเทศ” จึงน่าจะถือโอกาสนี้ “คว่ำกระดาน” เสีย ด้วยการใช้ “อำนาจพิเศษ” ระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ด้วยเหตุผลที่จะ “บูรณะประเทศ” จากนั้นก็ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คัดสรรแต่คนที่สังคมไทย “นับหน้าถือตา” ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีเท่าที่จำเป็น จากนั้นก็ช่วยกันฟื้นฟูกอบกู้ปัญหาต่างๆ ที่คงจะมีความรุนแรงมาก ไม่ว่าหายนะทางเศรษฐกิจและสังคม และที่สำคัญ “สร้างระบบการเมืองที่น่าเชื่อถือ” สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยกำลังเรียกร้องก็คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” (แม้จะเป็นบางส่วนแต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ กับอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ไว้ใจว่าทหารจะปกครองประเทศไทยไปอย่างไม่จบสิ้น) ก็จะได้ใช้โอกาสนี้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่นำมาซึ่ง “สังคมใหม่ที่พึงปรารถนา” โดยใช้ประสบการณ์ในช่วงวิกฤตินี้มาเป็นโจทย์ให้ช่วยกันขบคิด เช่น ผู้นำแบบไหนที่สังคมไทยต้องการ (แบบพลเอกประยุทธ์ที่มีทหารหนุนหลังนี้ใช่หรือไม่) หรือจำเป็นมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมาปกครองประเทศหรือเปล่า (เพราะอาจจะมีที่มาจากระบบอื่นๆ แทนการเลือกตั้งก็ได้) รวมถึงการสร้างพลังเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าช่วยเหลือกันในการบริหารประเทศ (แบบที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์เรียกว่า Direct Democracy) เหล่านี้เป็นต้น ประเทศไทยมีความพยามที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ประสบความล้มเหลว คราวนี้อยากจะขอแรงพลเอกประยุทธ์และ “คณะผู้ปกป้องคุ้มครองประเทศ” (หลายคนเชื่อว่ามีอยู่จริงๆ บางทีก็เรียกว่า “อำมาตย์” บางทีก็เรียกว่า “ผู้มีบารมี-นอก/เหนือ-รัฐธรรมนูญ”) ช่วย “สงเคราะห์” คนไทยอีกสักครั้ง ด้วยการ “สร้างการเมืองใหม่” ที่สวยงามและสดใสกว่าเดิม กราบขอบพระคุณล่วงหน้า (ถ้าทำได้) แม้จะไม่ค่อยไว้ใจ “คณะผู้ปกป้องฯ” นั้นก็ตาม