พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ เพื่อนจากเมืองไทยเพิ่งถามผมว่า ระหว่าง “ประสบการณ์การทำงาน”กับ “วุฒิการศึกษา”นั้น นายจ้างในอเมริกานิยมเลือกอย่างไหนก่อน? แถมเขาบอกว่า ได้ยินมาว่าในอเมริกานิยมเลือก ประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าเลือกคนทำงานจากวุฒิการศึกษาซึ่งเป็นวัฒนธรรมหรือรูปแบบการเลือกคนทำงานตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมหรือรูปแบบการเลือกคนทำงานในเมืองไทย พอดีเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนผมที่เป็นพยาบาลอาชีพที่เมืองลาสเวกัสมานานหลายปีเล่าให้ฟังว่า UNLV หรือมหาวิทยาลัยรัฐเนวาดาแห่งเมืองลาสเวกัส เพิ่งตกลงจ้างเพื่อนพยาบาลคนไทยของเธอไปได้ไม่นาน เพื่อนคนนี้จบพยาบาลมาจากเมืองไทย ทำงานอาชีพพยาบาลที่นครลาสเวกัสมานานกว่า 25 ปี UNLV จ้างเธอไปทำงานในตำแหน่ง “อาจารย์” เผอิญเธอไม่ได้เล่าว่า เพื่อนของเธอคนเดียวกันนี้ไปเป็นอาจารย์อยู่ในคณะใดของมหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส แต่ให้เดาก็คง น่าจะประมาณว่า เป็นคณะเกี่ยวกับสาธารณสุขอะไรทำนองนี้ ผมไม่ทราบว่ากรณีเพื่อนของเพื่อนผมคนนี้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส จะตอบโจทย์ที่เพื่อนจากเมืองไทยถามมาได้หรือไม่ แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า สถาบันการศึกษาระดับนำของรัฐเนวาดารับเธอเข้าทำงาน จากประสบการณ์หรือจากวุฒิการศึกษาของเธอกันแน่ หรืออาจพิจารณาจากทั้งสองอย่าง แต่แล้วหากพิจารณาจากสองอย่าง อย่างไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน? เท่าที่สังเกตดูโดยส่วนตัวผมแล้ว ระบบการรับคนเข้าทำงานแบบอเมริกันคำนึงถึงการทำงานได้หรือทำงานเป็นของบุคคลากรเป็นอันดับแรก โดยที่ผู้จ้างไม่ต้องเสียเวลาหรือมีภาระในการฝึก (Training) พนักงานใหม่ ดังนั้นน้ำหนักการพิจารณาจากประสบการณ์หรือผลงานของคนทำงานจึงน่าจะมีมากกว่าน้ำหนักในแง่ของความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ใช่ว่าความรู้จะไม่มีความสำคัญต้อวัฒนธรรมการทำงานของอเมริกัน ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงตามโลกตลอดเวลา (Updating) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมการทำงานของอเมริกัน ดูจากการที่คนทำงานในทุกสาขาวิชาชีพจำเป็นต้องมีในอนุญาตวิชาชีพ(License) และใบอนุญาตดังกล่าว ได้มาโดยการสอบเป็นระยะหรือช่วงๆ เช่น หนึ่งปีต่อครั้งหรืออาจมากกว่านี้แล้วแต่จะกำหนดกัน ดังนั้นทุกอาชีพจึงต้องทำงานอย่างมืออาชีพจริงๆ ขาดตกบกพร่องไม่ได้ คือต้องทำงานให้ดีมีคุณภาพ ได้มาตรฐานมากที่สุด การทำอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าระบบอเมริกันคำนึงถึงความรู้ในวิชาชีพของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นงานใดก็ตาม ความเป็นมืออาชีพดูได้จากไหน ก็จากการผ่านการทดสอบข้อสอบทั้งข้อเขียนและปฏิบัติ ดังนั้นไม่ว่างานชนิดใดก็ตาม แม้แต่งานดูดส้วม ผู้ทำงานก็ต้องผ่านการทดสอบว่ามีองค์ความรู้มากน้อยขนาดไหนจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคนไหนมีประสบการณ์ที่พร้อมจะทำงานได้เลยก็ย่อมได้รับการยอมรับมากกว่าคนไร้ซึ่งประสบการณ์ที่คนระเภทหลังนี้ องค์กรจะต้องมีต้นทุนในการฝึกงานและก็ไม่อาจการันตีได้ว่า เขาหรือเธอเหล่านี้จะมีคุณภาพหรือประสิทธิในการทำงาน แต่หากเป็นประสบการณ์แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่พิสูจน์และวัดกึ๋นเชิงประจักษ์กันได้มากกว่าการคาดหวังกับคนไร้ประสบการณ์แบบลมๆ แล้งๆ กล่าวคือ บุคคลไร้ประสบการณ์มีความไม่แน่นอนสูงกว่า เพราะยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ เพราะฉะนั้น คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ย่อมถูกยอมรับจากองค์กรหรือนายจ้างมากว่าคนไร้ซึ่งประสบการณ์ที่ไม่สามารถทำนายอนาคตการทำงานของพวกเขา ทั้งจากประสบการณ์การทำงานภายใต้องค์กรหรือแม้กระทั่งการทำงานโปรเจกต์ส่วนตัวก็ตาม เข้าทำนองที่ว่า “ในวงการเดียวกันย่อมรู้ไส้รู้พุงรู้กึ๋นของกันและกันดี” ทั้งนี้เพราะในโลกปัจจุบันคนรุ่นใหม่อเมริกันจำนวนมากทำงานอิสระ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งความเป็นตัวของตัวเองสูงดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมมากมาย ตรงจุดนี้จึงน่าจะมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมการรับคนเข้าทำงานในเมืองไทยที่เน้นหรือให้ความสำคัญกับความรู้ที่ผ่านการันตีจากสถาบันการศึกษา (ปริญญา) มากกว่าการมองถึงผลงานเชิงประจักษ์ของบุคคลที่เป็นเครื่องสะท้อนถึงความคิด ความสามารถ และคุณภาพของบุคคลคนนั้นโดยตรง การมองแค่ความรู้หรือระดับความรู้โดยถ่ายเดียวดังกล่าว ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ติดกับความรู้โดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ เอะอะอะไรก็โยนให้ความรู้อย่างเดียว ขาดความเฉลียวว่า ความรู้ดังกล่าว สามารถนำมาใช้งานจริงได้หรือไม่ เป็นความรู้จากการเรียนด้วยตัวเองหรือขโมยจากผู้อื่นมา ที่สำคัญสุดก็คือ ความรู้ที่บุคคลมีนั้น เขาผู้นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้หรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ท่องจำจากตำราเรียน และนี่ถึงจะเรียกว่า เป็นนวัตกรรมที่แท้จริง เป็นความรู้ใหม่ที่แท้จริง เป็นความรู้ที่ถูกประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ แต่แม้ระบบการรับคนเข้าทำงานของอเมริกันจะให้ความสำคัญกับความรู้เพียงใดก็ตาม การทำงานได้หรือทำงานเป็น ที่วัดจากผลงานเชิงประจักษ์กลับมีความสำคัญมากกว่า ดูจากกรณีของพยาบาลอาชีพที่ถูกรับเข้าทำงานใน UNLV ดังกล่าว ยิ่งในตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ดูเหมือนเรื่องวิธีการสอนหรือเทคนิคการถ่ายทอดจะตามมาทีหลัง เรื่องนี้เป็นการพิสูจน์ว่า ใครคือ “ของจริง”มากกว่าอย่างอื่น ท่ามกลาง “ของไม่จริง” จำนวนมากที่ปรากฏอยู่ในสถาบันการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นการพิสูจน์ทฤษฎี “ลูกปูขาเกเดินตามแม่ปูขาเก” ว่ามีอยู่จริง สอนกันไป เสมือนกำลังฝันหรือกำลังจินตนาการ ความรู้ทั้งในห้องและนอกห้องท่วมทะลักทั้งผู้สอนและผู้เรียนเสร็จแล้วเอาไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เพราะที่เรียนที่สอนอยู่นั้น เป็นคนละเรื่องกับชีวิตจริง ฝาผิดผิดตัว ยิ่งในปัจจุบันที่มีแหล่งความรู้อยู่ใกล้ๆ ตัวของผู้เรียนจำนวนมากหลากหลายด้วยแล้ว เรียกว่า ภาพลักษณ์ดี แต่ภายในกลับกลวงโบ๋ ไร้ซึ่งปฏิภาณปัญญา ไหวพริบ ระบบการศึกษาไทยจึงวังเวงด้วยประการฉะนี้เพราะเรียนในสิ่งที่ไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริง และความรู้ที่เรียนนั้น ไม่สัมพันธ์กับประสบการณ์เชิงประจักษ์ในแง่การประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่างๆ และเพราะการมีประสบการณ์เชิงประจักษ์เป็นผล(งาน) แสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้นั้น ใช้ความรู้ได้ดีมีประสิทธิภาพเพียงใด ระบบอเมริกันจึงพิจารณาบุคคลจาก “ประสบการณ์”เป็นพิเศษด้วยเหตุนี้.